xs
xsm
sm
md
lg

สพม.ชงแผนปฏิรูปท้องถิ่น แบ่ง3ระดับกลุ่มจว.พัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- สภาพัฒนาการเมืองชง คสช. ปรับโครงสร้าง อปท. จัดเป็น 3 กลุ่มจังหวัดในการพัฒนา เน้นทุ่มเทงบ-สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัด ที่มีความพร้อมพัฒนาน้อย ขณะเดียวกันเลิกอบต. ยกฐานเป็นเทศบาลชนบท แนะกลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมสูง แปรสถานะเป็นสำนักงานข้าหลวงจังหวัด มีฐานะเป็นตัวแทนรัฐ และสามารถเลือกตั้ง ผวจ.ได้โดยตรง ชี้ดำเนินการได้ทันที

วานนี้ (30 ต.ค.) นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง พร้อมสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง ได้ร่วมกันแถลงข้อเสนอของสภาพัฒนาการเมือง ต่อแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ด้านการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น(อปท.) โดยเห็นว่า การกระจายอำนาจเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบันท้องถิ่นยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ รัฐบาลจึงต้องใช้การกระจายอำนาจเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อผลักดันความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังท้องถิ่นที่มีระดับการพัฒนาน้อยแทนการดึงทรัพยากรมารวมศูนย์ ซึ่งผลการกระจายอำนาจในระยะยาว จะทำให้เกิดการกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังท้องถิ่นทั่วประเทศ ในระดับที่ทัดเทียมกัน จนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเอง และจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง
นายธีรภัทร กล่าวว่า ข้อเสนอในแนวทางการปฏิรูปท้องถิ่น ควรมีการจัดอันดับกลุ่มจังหวัดตามความระดับความพร้อมในการพัฒนาเป็น 3 ระดับ คือ ตั้งแต่กลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมในการพัฒนาน้อย ปานกลาง และพัฒนาสูง เพื่อให้การดำเนินการกระจายอำนาจเป็นไปตามระดับความพร้อมของแต่ละกลุ่มจังหวัด โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
กลุ่มจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาน้อย รัฐต้องให้ความสำคัญสูงสุดในการทุ่มเทงบประมาณ และแผนการสร้างความเจริญเติบโต โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย หรือ ข้าราชการที่ไม่สังกัดกระทรวงมหาดไทยไปกำกับดูแล มีการจัดทำแผนปรับโครงสร้าง อปท. ออกเป็น 3 ระยะ โดย 8 ปีแรก ให้ดำรงโครงสร้างอปท. ในกลุ่มจังหวัดนี้ไว้เช่นเดิม และทำแผนจัดตั้งสภาพลเมืองระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับจังหวัด ในระยะ 5 ปี ต่อมาให้ อปท.ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาลเมือง และเทศบาลชนบท และระยะ 2 ปีสุดท้าย ให้อปท. ระดับจังหวัด ปรับเปลี่ยนเป็นจังหวัดปกครองตนเอง และระดับต่ำกว่าจังหวัดคือเทศบาล
ส่วนกลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมปานกลาง ให้มีการจัดทำแผนปรับรูปแบบและโครงสร้างอปท. โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ เช่นกัน ระยะ 5 ปีแรก คงไว้ซึ่งอปท.ส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด คือ อบจ. และ อปท.ระดับต่ำกว่าจังหวัด คือ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และจัดทำแผนจัดตั้งสภาพลเมืองระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล และระดับจังหวัด ในระยะ 3 ปีต่อมา ให้อปท.ประกอบด้วย อบจ. เทศบาลเมือง เทศบาลชนบท โดยมีการยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาลชนบททั่วประเทศ และระยะ 2 ปีสุดท้าย ให้อปท. ระดับจังหวัดปรับเปลี่ยนเป็นจังหวัดปกครองตนเอง และระดับตำกว่า จังหวัด คือเทศบาล
ขณะที่กลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมในการพัฒนาสูง ให้แปรสถานะราชการส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด เป็น “สำนักงานข้าหลวงจังหวัด” มีฐานเป็นตัวแทนรัฐบาล ทำหน้าที่ช่วยเหลือทางเทคนิค และวิชาการให้แก่ อปท. โดยข้าหลวงจังหวัดมาจากการสรรหาข้าราชการในส่วนกลางขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็ยกฐานะจังหวัด เป็นจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที หรือไม่เกิน 2 ปี
สำหรับโครงสร้างอำนาจและงบประมาณนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาจังหวัดจัดการตนเอง และฝ่าบริหาร คือ ผู้ว่าการจังหวัดจัดการตนเอง ใช้เขตจังหวัดจัดการตนเองเป็นเขตเลือกตั้ง และเพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการปกครองตนเองของประชาชน ควรมีการจัดตั้งสภาพลเมือง ในระดับจังหวัดขึ้นมาก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้านในระยะต่อไป โดยสภาพลเมืองจะที่ประกอบด้วยคนทุกลุ่มอาชีพ และที่สำคัญจังหวัดจัดการตนเองมีอำนาจที่จะจัดเก็บภาษีที่ใช้ฐานร่วมระห่วงรัฐบาลกลางกับอปท. โดยท้องถิ่นเก็บไว้ใช้เองไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 นำส่งส่วนกลางเป็นรายได้ของแผ่นดิน ไม่เกินร้อยละ 30 และหากมีความพร้อมสูง ก็สามารถเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้โดยตรง
อย่างไรก็ตาม สำหรับจังหวัดที่มีเขตพื้นที่พิเศษ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตวัฒนธรรมพิเศษ เขตท่องเที่ยวพิเศษ เขตพัฒนาการศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาการเกษตรพิเศษ ก็ให้มีการกำหนดพื้นที่เหล่านั้นเป็นรูปแบบการจัดการเขตพิเศษด้วยตนเอง และกรณีท้องถิ่น หรือจังหวัดขนาดใหญ่ ที่มีประชากรหนาแน่น มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง หรือมีลักษณะวัฒนธรรมที่เป็นแบบเฉพาะของท้องถิ่น อาจมีการรวมพื้นที่ปกครองท้องถิ่นโดยรอบ หรือหลายจังหวัดรวมกันยกฐานเป็นมหานคร เช่น ภูเก็ต อุบลราชธานี อุดรธานี เชียงใหม่ และ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเมือง จะได้มีการนำส่งข้อเสนอดังกล่าวให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติภายในช่วงบ่าย (30ต.ค.) เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการปฏิรูปประเทศ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น