xs
xsm
sm
md
lg

ชพน.-พลังชล หนุน ส.ส.สังกัดพรรค แยกบริหาร-นิติบัญญัติ ค้านการเมืองศาลเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษกกมธ.ยกร่างรธน. เผยผลรับฟังความเห็น ชพน.-พลังชล ประสานเสียงให้ส.ส.สังกัดพรรค กันถูกซื้อตัว ค่อยแก้เรื่องการให้สิทธิลงมติ ติงกกต.ไร้น้ำยาปราบโกง ค้านการเมืองศาลเดียว เห็นด้วยแยกอำนาจฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติ โฆษกกมธ.รับไม่ใช่เรื่องง่ายเขียนรธน.ให้ยืดหยุ่น ด้านคณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ยื่น สปช. ขอให้ร่างรธน. ให้กษัตริย์ตั้งพระสังฆราช แยกทุนสำรองชาติ ค้าน กม.ปกครองสงฆ์

วันนี้ (19พ.ย.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนพรรคชาติพัฒนาและพลังชล เกี่ยวกับแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า น.พ.วรรณรัตน์ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ได้ฝากแนวทางการยกร่างรธน.ไว้ 6 ประเด็น คือ 1.รัฐธรรมนูญควรจะกระชับ กะทัดรัด ไม่มีข้อความมากที่ยากต่อการตีความ 2. เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยไม่มีการตัดต่อจากต่างประเทศ 3 มีความเป็นกลางไม่อคติ 4 มีความยืดหยุ่น ทันสมัย สามารถดำเนินงานในด้านการต่างประเทศได้อย่างทันเหตุการณ์ 5 มีบทบัญญัติที่จะไม่ให้ประเทศเข้าสู่ทางตัน 6 มีเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออีก 10 ประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันทางการเมือง ทั้ง ส.ส. ส.ว.และที่มาของฝ่ายบริหาร คือ จำนวน ส.ส.เห็นว่าที่กำหนดในปัจจุบันเหมาะสมแล้วคือ 1 ต่อ 1.5แสนคน เพราะหากน้อยไปก็ทำงานลำบากมากไปจะสิ้นเปลือง ส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้ง แม้เขตใหญ่จะป้องกันการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเขตใหญ่มากจะทำให้ส.ส.ไม่ยึดโยงกับประชาชน เหมือนกับเขตเล็ก ดังนั้นหากจะกำหนดเป็นเขตใหญ่ก็ควรมีส.ส.อยู่ที่ 3-5 คนต่อเขต

ส่วนการทำงานของ ก.ก.ต. ยังไม่เป็นเชิงรุกเพียงพอ ไม่สามารถป้องปรามการทุจริตเลือกตั้งได้ ขณะที่ส.ส.ยังควรมีส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ โดยจำนวนที่มีไม่ควรเกินร้อยละ 20 ของจำนวนส.ส.ทั้งหมดและต้องมีคุณสมบัติสูงกว่าส.ส.เขตทั้งการศึกษาและอายุ คุณสมบัติส.ส.ควรจบปริญญาตรีและสังกัดพรรคการเมือง เพราะในอดีตส.ส.ไม่สังกัดพรรคจะมีข้อเสียคือซื้อตัวส.ส. ส่วนการแก้ปัญหาส.ส.ถูกบังคับโดยมติพรรคคือกำหนดให้ส.ส.แสดงสิทธิอิสระในการลงมติบางเรื่องได้เช่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ วุฒิสภาไม่ควรเกินร้อยละ 25ของจำนวนส.ส.และให้ส.ว.ยึดโยงกับประชาชนคือมาจากการเลือกตั้ง หากจะมีการสรรหาควรมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนส.ว.และคุณสมบัติของส.ว.สรรหาต้องสูงกว่าส.ว.เลือกตั้งทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ และกำหนดอำนาจส.ว.น้อยลงไม่ให้มีอำนาจถอดถอนส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง

นอกจากนั้น การแบ่งอำนาจฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติ เห็นด้วยรัฐมนตรีต้องไม่มาจากส.ส. และรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติสูงกว่า ส.ส. ส่วนนายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้ง เว้นกรณีเกิดวิกฤตกับบ้านเมืองอาจให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอบุคคลที่ไม่ใช่ส.ส.มาดำรงตำแหน่งนายกเฉพาะกาลโดยใช้เสียงสามในสี่ของส.ส.และให้มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอยู่แค่แก้วิกฤตแล้วเสร็จ ขณะที่นโยบายประชานิยมดำเนินการได้ แต่ต้องมีกรอบการทำงาน งบประมาณที่ชัดเจนเสนอเข้าสภาเป็นรายปีเพื่อจำกัดความเสียหายของงบประมาณ

สำหรับการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น เสนอให้มีมาตรการดำเนินการทั้งต่อนักการเมือง ข้าราชการในแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่นักการเมืองขึ้นศาลเดียวไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา แต่ข้าราชการสู้คดีสามศาลจึงเห็นว่าควรจัดตั้งศาลพิเศษดำเนินคดีทุจริตทั้งข้าราชการและนักการ เมืองเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและเป็นธรรม เรื่องการสรรหาองค์กรอิสระต้องปรับการสรรหาให้รอบคอบกว้างขวางและเหมาะสม ปรับการใช้อำนาจขององค์กรอิสระให้เป็นธรรม เสมอภาคกับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย
ขณะที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ เสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเริ่มจากจังหวัดที่มีความพร้อม เช่น เชียงใหม่ สงขลา และเห็นว่าการกระจายอำนาจต้องทำทั้งงบประมาณและกำลังคนอย่างเพียงพอเพื่อให้เกิดประสิทธิผล ส่วนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐให้กำหนดเรื่องกีฬาลงไปด้วย

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนพรรคพลังชลเสนอว่า ส.ส.ควรสังกัดพรรคแต่ให้สิทธิในการลงมติโดยอิสระ เสนอกฎหมายโดยไม่ต้องอาศัยมติพรรค และแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา237 ที่ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดทั้งที่มีกรรมการบริหารพรรคเพียงคนเดียวที่ทำผิดทุจริตซื้อเสียง สำหรับการกำหนดเขตเลือกตั้งอยากให้เป็นเขตเล็กเพื่อให้ส.ส.ดูแลพื้นที่ได้ดีกว่าเขตใหญ่ ส่วนที่เกรงว่าเขตเล็กจะมีการซื้อเสียงมากก็เห็นว่า เป็นหน้าที่ของผู้จัดการเลือกตั้งต้องควบคุม ดูแล และมีการกำหดบทลงโทษให้จริงจังมากขึ้น ขณะที่การจัดการเลือกตั้ง เห็นว่า ควรให้กกต.มีอำนาจเพียงจัดการเลือกตั้ง ส่วนการสืบสวนวินิจฉัยความผิด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรยุติธรรม หรืออาจะเป็นศาล หรือองค์กรเฉพาะที่น่าเชื่อถือแล้วให้มีการอุทธรณ์ได้ สำหรับที่มาของส.ว.ควรมาจากทั้งสรรหาและเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามกรรมาธิการได้มีการสอบถามผู้แทนพรรคพลังชลใน 3-4 ประเด็นซึ่งทางพรรคก็เห็นว่าหากส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการซื้อคะแนนเสียงในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ การพิจารณางบประมาณ ขณะที่ในเรื่องการแยกอำนาจนิติบัญญัติ กับบริหารอย่างเด็ดขาดถือว่าดี ถ้าสามารถถ่วงดุลได้ แต่หากส.ส.และรัฐมนตรีมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติส.ส.ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามมติพรรค

ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคชาติพัฒนาได้มีการเสนอตัวอย่างที่เห็นว่าจะเป็นทางตันของประเทศจนจำเป็นต้องเสนอให้มีการกำหนดบทบัญญัติที่จะไม่ให้ประเทศเข้าสู่ทางตันไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า พรรคชาติพัฒนาอยากให้รัฐธรรมนูญมีความยืดหยุ่นเนื่อง เช่นหากนายกถูกถอดถอน จะทำอย่างไร ซึ่งข้อเสนอก็สอดคล้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่ทั้งนี้จะมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ ยังไม่รู้ และส่วนตัวก็เห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเขียนไว้

สำหรับการรับฟังความเห็นพรรคการเมืองของคณะกรรมาธิการฯได้พบกับตัวแทนพรรคการเมืองมาแล้วสี่พรรค ประกอบด้วย ชาติไทย ภูมิใจไทย ชาติพัฒนา พลังชล และ ในวันพรุ่งนี้ (20 พ.ย.57) จะรับฟังความเห็นจากตัวแทนพรรคมาตุภูมิ

วันเดียวกันคณะศิษยานุศิษย์ขององค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน นำโดยนางภิฤดี ภวภูนานันท์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผ่านนางทัศนา บุญทอง รองประธานสปช. เสนอความเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็น 1 ให้มีการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันพระพุทธศาสนา โดยขอให้บัญญัติให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์เท่านั้น บุคคลหรือองค์ใดแม้มีหน้าที่ในการเสนอแต่มิอาจก้าวล่วงพระราชอำนาจนี้ได้ และมีบทบัญญัติคุ้มครองพระพุทธศาสนาทุกกรณี รวมถึงสื่อทางพระพุทธศาสนาที่ไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจด้วย 2. ให้รักษาหลักการของการปฏิรูปสื่อที่ต้องให้ความเสมอภาคกับสื่อภาคประชาชนทัดเทียมกับสื่อที่เคยผูกขาด 3.ให้บัญญัติทุนสำรองของชาติ ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยกัน ทุนสำรอง แยกออกจากทุนสำรองประเภทอื่นๆ เพื่อเป็นหลักประกันอธิปไตยทางการเงินของชาติ นอกจากนี้คัดค้านการออกกฎหมายปกครองสงฆ์ที่ขัดต่อพระธรรมวินัยโดยเฉพาะในประเด็นที่จะให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาก้าวก่ายตรวจสอบสมบัติของสงฆ์เพราะพระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติพระธรรมวินัยให้พระสงฆ์ปกครองกันเอง กิจการในวัดใดก็ให้เป็นหน้าที่ของสมภารวัดนั้นเป็นผู้ดูแล ไม่ใช่ให้ฆารวาสเข้าไปก้าวก่ายปกครองสงฆ์



กำลังโหลดความคิดเห็น