หัวหน้า ปชป.ยกโจทย์ปฏิรูป-มาตรฐานปราบโกง “นายกฯ ตู่” ต้องขับเคลื่อนพิสูจน์ตัวเอง รับ ปชช.พอใจยึดอำนาจ แต่จะลดลงถ้าไม่เดินหน้า ชี้พลังงาน-ศก.ผันผวน เรื่องท้าทาย รบ. ห่วง ขรก.นั่ง รมต.งานหนักสวมหมวก 2 ใบ แต่เข้าใจทางเลือกไม่มาก ยันต้องเปิดให้ตรวจสอบใช้อำนาจ
วันนี้ (2 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ว่า โจทย์ที่ทุกคนตั้งไว้กับรัฐบาลชุดนี้คือการปฏิรูปประเทศ และมีมาตรฐานเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ และต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าเมื่อเป็นผู้ยึดอำนาจและรับผิดชอบ ทุกอย่างก็จะต้องเป็นคนขับเคลื่อน ต้องยอมรับว่าขณะนี้ประชาชนพึงพอใจกับการยึดอำนาจในครั้งนี้ เพราะ คสช.ได้เข้ามาแก้ปัญหาในหลายเรื่อง ผ่านมา 3 เดือนหากไม่สามารถทำให้บ้านเมืองสงบและเดินหน้าหลายๆ เรื่อง ความพึงพอใจก็จะลดลงไป
“ไม่มีใครบอกได้ว่าหลังจากนี้ไป 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน 1 ปี จะเป็นอย่างไร เพราะว่างานจากนี้ไปจะยากการปฏิรูปที่หลายคนคาดหวัง แต่พอเริ่มแตะบางเรื่อง เช่น พลังงาน ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ทางรัฐบาลหรือ คสช.ก็จะต้องประสบความยากลำบากพอสมควร นอกจากนี้ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ ความผันผวนของเหตุการณ์ในต่างประเทศ ราคาพืชผลที่ตกต่ำ ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณของรัฐบาล งบปี 58 ที่เพิ่งเข้าสภาไปแสนกว่าล้าน เพื่อจ่ายหนี้จากนโยบายเก่าโดยไม่สามารถสร้างประโยชน์อะไรได้เลย ทั้งสองเรื่องเป็นความท้าทายการบริหารงานรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างมาก”
ส่วนคณะรัฐมนตรีสุดท้ายจะต้องมีการวัดกันที่ผลงาน แต่เชื่อว่านายกฯ คนปัจจุบันมั่นใจในบุคคลที่ได้วางลงไปในตำแหน่ง และจะสามารถควบคุม ขับเคลื่อนทิศทางให้เป็นไปในทางที่คิดว่าทำได้ ส่วนการเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หากเป็นภาคเอกชน ทุกคนคงยอมรับในความสามารถอยู่แล้ว แต่ตนมีความเป็นห่วงในส่วนของภาคราชการที่เข้ามารับตำแหน่ง เพราะหากเป็นการขับเคลื่อนงานตามปกติ ตนเชื่อว่าทำได้ดีอยู่แล้ว แต่งานราชการกับส่วนของนโยบายจะแตกต่างกัน และการบริหารอีก 1 ปีจากนี้ไป ก็ต้องมีการตัดสินใจเชิงนโยบายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนที่หลายคนมองว่า การเข้ามารับตำแหน่งของส่วนราชการ เป็นการสวมหมวก 2 ใบนั้น ต้องดูว่าภาระงานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากจะพูดถึงตรงนี้ แม้แต่ สนช.เองถ้าประชุม 1 วัน หรือ 2 วันก็เท่ากับจำนวนข้าราชการที่ต้องไปทำงานตรงนั้นเยอะมาก เพราะฉะนั้นก็คงกระทบอยู่บ้าง แต่ในสถานการณ์แบบนี้ก็เข้าใจได้ว่าทางเลือกมีไม่มาก ก็จำเป็นต้องพึ่งคนในวงราชการเป็นหลัก
ส่วนการตรวจสอบการทำงาน เมื่อมีการใช้อำนาจก็ต้องมีการตรวจสอบ หากไม่มีก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการนำอำนาจไปใช้ในทางที่ผิด ส่วนตนอยากให้ผู้มีอำนาจมีความโปร่งใสในการทำงาน ทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารในเบื้องต้น จากนั้นต้องเปิดกว้างให้ประชาชน หรือสื่อมวลชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น