xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” เผยทูตมะกันถกสถานการณ์ 2 ชาติ ห่วงการไม่ยอมรับผลประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เผยทูตสหรัฐฯ เข้าพบคุยสถานการณ์ 2 ชาติ พร้อมส่งกำลังใจให้ชาวอเมริกันหลังเหตุกราดยิงผับเกย์ ยันประชามติต้องเอื้อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมสู่การยอมรับกติกา รับไทยยังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจ แนะ กกต.ออกมาขจัดความไม่แน่นอนในการแสดงออก หนุนตรวจสอบโหวตแต่ถ้าเอามาบังหน้าการเคลื่อนไหวก็ไม่ควรทำ จี้ “ประวิตร” พูดให้ชัดอะไรผิดกฎหมาย ชี้ภาพปลดป้ายแดงส่อทำให้รัฐเป็นเหยื่อยั่วยุ ชักห่วงหลังประชามติจะเกิดการไม่ยอมรับผล ชี้ใช้คนของรัฐไปแจงฝ่ายเดียวจะมีปัญหาปมความเที่ยงธรรม

วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังจากที่นายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบที่ที่ทำการพรรคว่า มีการหารือกันอย่างกว้างขวางทั้งสถานการณ์ให้สหรัฐฯ และประเทศไทย รวมถึงความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ซึ่งตนได้ส่งกำลังใจให้ชาวอเมริกันต่อเหตุการณ์เศร้าสลดที่มีการกราดยิงในสถานบันเทิงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยหวังว่าจะคลี่คลายเหตุการณ์ต่างๆ ได้ และพูดคุยในเรื่องท่าทีของพรรคต่อเรื่องการเมืองและการทำประชามติ โดยตนยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญในการที่จะให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ซึ่งเราเห็นว่าการทำประชามติต้องเอื้อต่อการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การยอมรับกติกา หากไม่ผ่านต้องมีกระบวนการและกติกาที่ดีเพื่อเดินหน้าโดยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำให้เป็นเรื่องความขัดแย้งแต่ส่งเสริมให้สังคมไทยพิจารณาเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า เมื่อประชามติผ่านพ้นไปแล้วจะดูอีกทีว่าจะทำให้การเมืองไทยมีความมั่นคงได้อย่างไร เพราะประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสหรัฐเองก็มีบทบาทในการช่วยให้ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้นเพราะประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ตนกับทูตสหรัฐเห็นตรงกันว่าต้องมีพื้นที่การมีส่วนร่วมซึ่งทางทูตสหรัฐฯ ก็เข้าใจดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของไทยแต่ก็พูดในมุมหลักการประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงปัญหาความละเอียดอ่อนและความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย โดยตนเห็นว่า กกต.ต้องเป็นหลักด้วยการออกมาขจัดความไม่แน่นอนและความกลัวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแสดงออกที่เกิดจากผู้มีอำนาจทำให้เกิดความสับสนว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้ และ กกต.ควรเสนอความเห็นไปยัง คสช.และรัฐบาลเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของรัฐถ้ามีการใช้ไปในทางที่เอื้อต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็จะไม่เกิดการยอมรับ เพราะขณะนี้กระบวนการชี้แจงเนื้อหาถูกมองว่าเป็นการชี้นำ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้ยึดคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าสามารถตั้งศูนย์ที่มาตรวจสอบการออกเสียงประชามติได้แต่ต้องไม่ทำผิดกฎหมายมาเป็นหลักในการปฏิบัติ ถือว่าเป็นท่าทีที่ถูกต้อง ใครอยากตรวจสอบว่าการประชามติสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ ถือเป็นสิทธิ แต่ถ้าเอามาอ้างเพื่อประโยชน์ด้านอื่น เช่น บังหน้าการเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นก็ไม่ควรให้ทำ ดังนั้น หลักการการตรวจสอบมีได้แต่อะไรที่ผิดกฎหมายหรือเงื่อนไขในปัจจุบันไม่สามารถทำได้ อย่าไปสับสนว่าตั้งศูนย์หรือตรวจสอบการทุจริตไม่ได้

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกมาระบุว่าไม่สามารถตั้งศูนย์ได้มองอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะยิ่งเกิดความสับสนจึงอยากให้พูดให้ชัดว่าสิ่งที่ทำไม่ได้คือการกระทำผิดกฎหมาย มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจำกัดอยู่ในขณะนี้ เพราะถ้าอนุญาตให้กลุ่มหนึ่งทำได้ก็ต้องอนุญาตทุกกลุ่ม แต่อะไรที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการทุจริต การเที่ยงตรงของการทำประชามติก็ต้องทำได้ ส่วนการปลดป้ายไวนิลศูนย์ปราบโกงประชามติที่จังหวัดลำปางนั้น ตนไม่อยากให้ทางฝ่ายรัฐเป็นเหยื่อของการยั่วยุให้เกิดภาพบางอย่างที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น เพราะขณะนี้มีความเข้าใจว่าการแสดงความเห็นมีปัญหา ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากผลสำรวจความเห็นประชาชนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญน้อย โดยต้องเข้าใจว่าไม่มีที่ไหนที่จะเอาเจ้าหน้าที่รัฐไปชี้แจงสามารถแล้วทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจแต่ต้องเกิดจากการรณรงค์ ซึ่งกกต.ต้องยืนยันว่าทำได้และต้องสนับสนุนให้สื่อมวลชนผู้มีบทบาทต่างๆ จัดเวทีให้มีการถกเถียจงสาระของรัฐธรรมนูญให้ได้ ดังนั้นภาครัฐต้องตั้งหลักตามที่นายกรัฐมนตรีพูดว่าศูนย์ตั้งได้แต่อย่าทำผิดกฎหมาย

“ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปผมไม่ได้ห่วงวันลงประชามติ แต่ห่วงหลังวันที่ 7 ส.ค. ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ก็จะไม่เกิดการยอมรับซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์อะไร ผมเป็นคนแรกๆ ที่เรียกร้องให้ทำประชามติ แต่ถ้าจะทำแบบนี้มันไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งหากไม่ได้รับการยอมรับก็คลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองไม่ได้เพราะประเด็นรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นความขัดแย้งในอนาคตอีก ยังไม่สายเกินไปที่จะปรับท่าทีทั้งหมดเพื่อให้การลงประชามติได้รับการยอมรับ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรียังเสนอแนวทางที่จะทำให้การจัดทำประชามติได้รับการยอมรับว่า คสช.รัฐบาลและ กกต.ควรพูดกันให้ชัดว่าการรณรงค์ทำได้แต่อย่าขัดกับรูปแบบที่ถูกห้าม เช่น 1. ห้ามเวทีปราศรัย แต่การแสดงความเห็นทำได้อย่างเต็มที่ เพียงแต่อย่าบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือก่อความวุ่นวาย และควรส่งเสริมให้สื่อจัดเวทีให้เกิดการถกเถียงในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ 2. ทบทวนบทบาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด ควรหรือไม่ที่จะเอาทรัพยากรของรัฐไปสนับสนุนให้คนเพียงกลุ่มเดียวสามารถชี้แจงได้เพราะเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามในเรื่องการเที่ยงธรรมของการทำประชามติ


กำลังโหลดความคิดเห็น