รองนายกฯ ระบุแม้จะแจกร่าง รธน.ให้ประชาชนอ่านคงไม่ได้ผล เหตุอาจอ่านแล้วไม่เข้าใจ ควรใช้วิธีชี้แจง ยันไม่แก้ พ.ร.บ.ประชามติ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ กม. แต่อยู่ที่การตีความ กม. ส่วนเรื่องเสรีภาพก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่ รับถ้าร่าง รธน.ไม่ผ่านประชามติ อาจต้องขยายเวลาเลือกตั้งออกไป แต่จะนานแค่ไหนต้องดูเหตุการณ์ในช่วงนั้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนเพื่อสร้างการรับรู้ก่อนลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 ว่า ไม่มีความเป็นห่วงในเรื่องการเผยแพร่ แต่ห่วงว่าเมื่อแจกจ่ายไปแล้วประชาชนจะไม่อ่าน บางคนนั่งอ่านรัฐธรรมนูญมาตราเดียวกันคิดยังไปคนละอย่างได้ เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขณะที่ประชาชนซึ่งไม่มีประสบการณ์เลยอาจจะอ่านแล้วไม่เข้าใจ ดังนั้นจึงต้องยิ่งสร้างความเข้าใจ วิธีการที่ดีที่สุดคือ การพูดคุย ซักถาม แต่ไม่จำเป็นต้องแนะความควรรับหรือไม่ เพราะทุกคนมีวิจารณญาณ
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะรับข้อเสนอของพรรคการเมืองที่เสนอให้ผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ ในการแสดงออกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลจะรับมาพิจารณา แต่จะปรับแก้หรือไม่ต้องรอดูกันต่อไป เพราะเรื่องบางเรื่องรัฐบาลรับผิดชอบ แต่เรื่องบางเรื่องอยู่ในส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บางเรื่องอาจทำได้เลยหรือต้องแก้กฎหมาย ดังนั้น เมื่อฝ่ายการเมืองมีข้อเสนอเรารับมาพิจารณา
ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ยืนยันว่ารัฐบาลไม่แก้ไขประกาศ คสช.ที่ 57/2557 เรื่องห้ามกิจกรรมทางการเมือง และบางมาตราใน พ.ร.บ.ประชามติ นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลไม่คิดที่จะแก้ไข สิ่งที่เป็นปัญหายุ่งยากอยู่ในมาตรา 66 เท่านั้นที่ระบุว่าพูดอะไรอย่าให้เป็นเท็จ อย่าให้มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ ซึ่งปัญหาอาจอยู่ที่การแปลความหมาย แต่ยืนยันว่าถึงแก้อย่างไรก็ไม่ชัดเจน เพราะการแก้ปัญหาไม่ใช่ต้องแก้กฎหมาย แต่เป็นการสร้างความเข้าใจด้วยวิธีอื่น โดย กกต.เองมีกรรมการฝ่ายกฎหมายคอยดูอยู่
“ยืนยันไม่แก้กฎหมายประชามติ เพราะไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องไปแก้ สำคัญอยู่ที่เจตนา ทัศนคติ หากไม่ก่อความวุ่นวาย ตั้งใจให้เกิดเรื่อง ไม่มีใครไปทำอะไรหรอก แต่ที่น่าวิตกคือ การก่อความไม่สงบขึ้น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่และอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ยอม จึงออกมาปะทะกัน มีการโต้กลับต่อกันกลายเป็นวิวาทะ รัฐบาลไม่อยากแก้วิกฤตเดิมด้วยการสร้างวิกฤตใหม่”
เมื่อถามว่า นักวิชาการห่วงและกลัวว่าบ้านเมืองจะถึงทางตัน นายวิษณุกล่าวว่า ใครเป็นคนก่อต้องช่วยกันดูแลทั้งหมด รัฐบาลดูแลส่วนรัฐบาล ประชาชนดูแลส่วนของประชาชน และนักการเมืองต้องดูแลส่วนของตัวเองให้สงบเรียบร้อย เราพูดกันมานานว่าไม่อยากให้เหตุการณ์ 22 พ.ค.เกิดขึ้นมาอีก ในแง่รัฐบาลของรัฐบาลรู้อยู่ตลอดว่าอาจมีเหตุอะไรกลับมาอีก แต่ยังไม่ปะทุขึ้นมา เมื่อมีเรื่องเลือกตั้ง ทำประชามติ ก็ทำให้เหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ถึงจะเกิดเราไม่ได้สกัดขัดขวาง เพียงแต่ต้องรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ จึงอยากให้คนไทยเข้าใจเรื่องนี้ด้วย
นายวิษณุกล่าวว่า เสรีภาพมีเท่าไรต้องไปเท่านั้น เป็นไปตามที่กรอบกฎหมายกำหนด ไม่ใช่ประเด็นว่าปล่อยเสรีภาพให้มีมากหรือน้อย แต่ถ้ามันจะมากจะน้อยมันเพราะกฎหมาย แต่ปัญหาอยู่ที่คนใช้เสรีภาพ อย่าไปบิดเบือน เอาเสรีภาพมาเป็นสะพานสร้างสถานการณ์ทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยมี กำลังจะมี และจะมีต่อไป จึงต้องระมัดระวัง
ส่วนที่ฝ่ายการเมืองกังวลว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะมากดเสรีภาพมากนั้นตนยังไม่เห็นว่ามันจะกดอะไรเลย ซึ่งผู้แทนพรรคการเมืองหลายคนบอกกับตนหลังประชุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ว่าเบาใจไปเยอะถ้าหากเดินไปแนวเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้ไม่เข้าใจและสงสัย
ส่วนนายกฯ ระบุว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะต้องทำใหม่ รองนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ พูดถูก ตนจะพูดผิดไปจากนายกฯไม่ได้ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจริงเรายังไม่คิดถึงขั้นที่จะมีคณะใดๆ มาดำเนินการต่อ หรือแม้แต่การหยิบรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ มารวมกัน แต่ต้องมีวิธีในการหยิบแต่ละฉบับมาใช้ ส่วนจะหยิบอย่างไรไม่สามารถบอกได้ในเวลานี้ อาจจะรู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง ยังไม่ควรจะพูด เพราะเมื่อจะลงประชามติกันแล้ว เราไปพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับหลังจากนั้นมันเหมือนกับสร้างความรู้สึกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำท่าจะไม่ผ่าน หลายคนจะมาล่อหลอกให้พูดแต่ตนไม่พูด นายกฯ ถึงใช้คำว่าคุณดูจะตั้งใจถามให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติกันจริงๆ ซึ่งรัฐบาลตั้งอยู่บนหลักว่าจะลงประชามติกันอยู่แล้วก็ควรจะผ่านได้ แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไปทำใหม่เท่านั้นเอง ไม่รู้จะพูดอะไรอย่างอื่น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ การเลือกตั้งยังมีขึ้นในปี 2560 ใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ตนจะไม่พูดเรื่องวันเวลาอีกแล้ว เพราะเมื่อถามคาดคั้นเหมือนคนถามมีอะไรในใจ แต่โรดแมปมีการพูดมาโดยตลอดและถูกล็อกไว้อยู่แล้ว ยิ่งถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติมันหนีไม่พ้นอยู่แล้ว
เมื่อถามย้ำว่า หมายความว่าถ้าไม่ผ่านต้องขยายระยะเวลาใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า มันต้องมีอย่างแน่นอน เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร หรือมีปัจจัยอะไรที่นึกไม่ออกในเวลานี้ แต่ยืดอย่างไรมันก็ไม่ยาวนานออกไป และอะไรที่อยู่ในการควบคุมที่ทำได้ก็จะทำให้มันเร็ว ส่วนอะไรที่อยู่เหนือการควบคุมก็ช่วยไม่ได้