xs
xsm
sm
md
lg

กปปส.ชงเลิกส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มีส.ว.สรรหาเพียงอย่างเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (25พ.ย.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังรับฟังความเห็นจากตัวแทน กปปส. ในการร่าง รธน. ว่า ข้อเสนอของกปปส. คือ
1. ให้ยึดถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย 2. มีการแบ่งแยกอำนาจชัดเจน ประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 3. มีระบบป้องกันการทุจริต คอร์รัปชัน มีกระบวนการสรรหาคนดีเข้าสู่ระบบการเมือง ไม่ให้มีนายทุนพรรคการเมือง 4. สนับสนุนกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ลดอำนาจส่วนกลาง และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนดูแลกันเองได้ 5. ให้มีบทบัญญัติสร้างความเท่าเทียม ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรรัฐทั้งเรื่องที่ดิน และแหล่งทุนได้ 6. ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ต้องมีกรอบเวลาและการปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอครอบคลุมเรื่องการปฏิรูปการเมือง เน้นการขจัดการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง การทุจริตเลือกตั้ง ส่วนของพรรคการเมือง ควรมีขนาดใหญ่พอสมควร มีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของผู้มีสิทธิลงคะแนน กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค เพื่อให้พรรคการเมืองมีความมั่นคง และเพื่อเป็นการส่งเสริมพรรคการเมือง ควรกำหนดให้ประชาชนสามารถบริจาคผ่านการเสียภาษีได้มากกว่า100 บาท โดยอาจเพิ่มตามสัดส่วนรายได้ของผู้บริจาค เช่น อาจเป็นร้อยละ 5 ของรายได้ในแต่ละปี
ส่วนการเลือกตั้งมีการเสนอให้ภาคประชาชน มีส่วนในการตรวจสอบการจัดการเลือกตั้ง และให้กรรมการเลือกตั้ง มาจากกระบวนการสรรหาที่กว้างขวาง เป็นธรรม มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง แต่ไม่มีอำนาจในการตัดสิทธิผู้สมัคร หรือการออก ใบเหลือง-ใบแดง โดยให้ กกต. เป็นแค่ผู้รวบรวม และฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น รวมถึงให้ผู้เสียหายในการเลือกตั้งมีสิทธิฟ้องตรงต่อศาลได้ด้วย
สำหรับที่มาของ ส.ส.นั้น ขอให้ตัดส.ส.บัญชีรายชื่อออก เหลือแต่ ส.ส.ที่มาจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส่วนจำนวนของ ส.ส.แบ่งเขต ควรลดจำนวนลง โดยเพิ่มสัดส่วนประชากรต่อส.ส.หนึ่งคน และให้วุฒิสภา มาจากการสรรหาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ พร้อมกับลดอำนาจ ส.ว.ลง เหลือแค่หน้าที่นิติบัญญัติ การแต่งตั้ง ไม่มีอำนาจถอดถอน เพราะมาจากการสรรหา

** คดีทุจริตไม่มีการหมดอายุความ

ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน เห็นว่าต้องไม่จำกัดอายุความของคุดีทุจริต และให้ ป.ป.ช.ฟ้องตรงต่อศาลได้ ถ้าคดีถึงที่สุดแล้วก็ให้ยึดทรัพย์ที่ต้องสงสัยได้ รวมถึงการเพิ่มโทษผู้กระทำการทุจริต เช่น เพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจ เสนอให้ยกเลิกการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ไม่ได้กำหนดว่า จะให้ทำโดยเริ่มเป็นบางพื้นที่ หรือพร้อมกันทุกพื้นที่ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาจากการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งได้สองวาระ ไม่ใช่เป็นได้ตลอดชีวิต
ขณะเดียวกัน เห็นควรมีการปฏิรูปโครสร้างตำรวจ โดยกระจายไปสู่ภูมิภาค แก้ปัญหาการใช้อิทธิพลภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ประชาชนตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจในพื้นที่ได้ ส่วนอัยการสูงสุด เห็นว่าไม่ควรเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และควรจำกัดไม่ให้อัยการไปดำรงตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งเพื่อให้การดำเนินงานของอัยการเป็นไปด้วยความโปร่งใส การสั่งคดีต้องเปิดโอกาสให้สาธารณชนรับทราบถึงเหตุผลทุกคดี
ส่วนการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เสนอให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน ที่ดินได้ มีกฎหมายให้ประชาชนมีโอกาสมีที่ดินทำกิน โดยเฉพาะ ต้องปฏิรูปการศึกษาให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเสนอเรื่องการปฏิรูปพลังงาน จะต้องมีข้อกำหนดไม่ให้ธุรกิจพลังงานถูกผูกขาดโดยบริษัทใหญ่ จนมุ่งแต่แสวงหากำไร แต่ต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานชุมชนเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะส่งเสริมให้พลังงานหมุนเวียน เป็นธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น
ทั้งนี้ ในการประชุมกรรมาธิการ ได้ตอบคำถามของตัวแทน กปปส. เกี่ยวกับกฎหมายลูกที่มีปัญหาว่า ไม่มีการออกกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ว่า กรรมาธิการฯ ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงตั้งอนุกรรมาธิการฯ พิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้มีความพร้อมในการเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาได้รวดเร็วกว่าในอดีต และอาจมีบทบัญญัติบังคับว่าหน่วยงานใดที่ไม่เสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญกำหนดต้องมีบทลงโทษ ซึ่งจะมีการพิจารณาในรายละเอียดต่อไป

**อยากให้เรียก รธน.ฉบับปฏิรูป

ทั้งนี้ กปปส. มีความประสงค์ที่จะติดตามการร่างรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด โดยมีการตั้งคณะทำงานติดตามจึงมีการสอบถามว่ากรรมาธิการฯ จะอำนวยความสะดวกได้มากน้อยเพียงใด จึงมีแนวทางว่า กรรมาธิการฯ ยินดีให้สอบถามความคืบหน้าจากประธานอนุกรรมาธิการฯทั้ง 11 คณะได้โดยตรง และตนพร้อมรับข้อเสนอจาก กปปส. ประสานไปยังประธานอนุกรรมาธิการฯ
" กปปส.บอกว่า ตอนรัฐธรรมนูญ 40 เราเรียกกันว่า รัฐธรมนูญฉบับประชาชน ฉบับปี 50 ก็เรียกว่า รัฐธรรมนูฉบับประชามติ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉับบใหม่นี้ เขาเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป"
เมื่อถามว่า กรรมาธิการฯ มีการหารือหรือไม่ว่ากฎอัยการศึกเป็นอุปสรรคต่อการรับฟังความคิดเห็น โฆษกกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ก็มีการพูดกัน แต่กรรมาธิการยกร่างฯเห็นว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะในการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นประชาชน ก็ดำเนินการได้ จึงไม่คิดว่าเป็นอุปสรรค ซึ่งในขณะนี้เตรียมไว้ 10 เวที มีผู้เข้าร่วมให้ความเห็นเวทีละ 100 คน สุ่มตัวอย่างด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็จะได้ข้อมูลในเชิงสถิติว่ากลุ่มตัวอย่างเหล่านั้นมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร ซึ่งการดำเนินการในลักษณะสานเสวนาดังกล่าวเหมือนการทำประชาพิจารณ์ เป็นข้อมูลทางวิชาการที่สามารถใช้ประโยชน์ได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้กรรมาธิการยกร่างฯ จะมีการรับฟังความคิดเห็นจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประสานงานว่า จะมาชี้แจงในนามส่วนตัว ในวันที่ 27 พ.ย. ส่วนพรรคเพื่อไทย อยู่ในระหว่างการประสานงาน โดยคาดว่าอาจมาให้ความเห็นได้ในช่วงเดือนธันวาคม แต่กลุ่ม นปช. สละสิทธิ์ ที่จะมาให้ความเห็นกับกรรมาธิการแล้ว

** ซัดคสช.บอกให้ขอ แต่ไม่อนุญาต

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะไปให้ความเห็นต่อกมธ.ยกร่าง ในวันที่ 27พ.ย. โดยไปในนามส่วนตัว คนเดียว และจะไม่มีการนำเอกสารใดๆ เข้าให้ความเห็น จะเป็นเพียงการไปหารือ ตามคำเชิญเท่านั้น
" การที่คสช.ไม่อนุญาตให้ประชุมพรรค ผมก็แปลกใจจริงๆ เพราะความตั้งใจของผมกับพรรคคือ ให้ความร่วมมือกับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญของการปฏิรูป ทั้งๆ ที่ คสช. เองเป็นคนแนะนำให้เราขออนุญาตไป แต่กลับไม่ได้รับอนุญาต ถามว่าทำไมผมไม่ชู 3 นิ้ว ผมก็บอกว่า ผมแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมา เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ แต่ผมยังไม่คิดที่จะไปร่วมกระบวนการอะไร ที่ในที่สุดอาจจะไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ ผมต้องยืนยันว่า ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็ต้องการที่จะเห็นบ้านเมืองกลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าเป็นการไปเคลื่อนไหว แล้วทำให้เกิดความตึงเครียดในสังคมมากขึ้น จนทำให้การทำงานในปัจจุบันน่าจะทำให้เกิดปัญหาในการจะกลับคืนสู่ภาวะปกตินี้ ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ ทั้งนี้คิดว่าคนที่เขาแสดงออก เขาก็มีจุดยืนของเขา ผมก็เห็นหัวหน้า คสช. บอกว่าเป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่า จริงๆ แล้วเขาก็แสดงออกได้ ทั้งนี้ คสช. ต้องยอมรับความจริงว่า มีคนในสังคมจำนวนมากที่เขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ในเมื่อ คสช. บอกเองว่า สิ่งที่ตัวเองเข้ามาทำก็เป็นเรื่องชั่วคราว ก็จะต้องมีคนที่อยากจะยืนยันความคิดว่า เขาไม่ชอบ เขาไม่ต้องการการรัฐประหาร เขาต้องการประชาธิปไตย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

** ให้ประชาพิจารณ์แต่ไม่เปิดพื้นที่

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คสช.และรัฐบาล ต้องเริ่มแยกแยะเหมือนกันในการปฏิรูป วันนี้มีการพูดถึงว่า อยากจะทำประชาพิจารณ์ แต่องค์กรที่เขามีเป็นหลัก ขออนุญาตประชุม มีระเบียบวาระ หัวข้อชัดเจน แต่ไม่เปิดพื้นที่ให้เลย แล้วจะประชาพิจารณ์กันอย่างไร จะรับฟังความคิดเห็นกันอย่างไร ตนขอย้ำว่า ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะคิดปฏิรูปประเทศอย่างไร ตนว่าท่านก็ไม่กล้าปฏิเสธว่า ที่สุดแล้วบ้านเมืองต้องกลับไปเป็นประชาธิปไตย การจะกลับไปเป็นประชาธิปไตย แล้วไปบอกว่าจนถึงวันนั้นไม่เปิดพื้นที่อะไรเลย แล้วไปปล่อยตอนนั้น มันใช่หรือเปล่า ในการเตรียมความพร้อมของสังคมที่เป็นสังคมประชาธิปไตย ทั้งนี้ตนเห็นด้วยใครทำอะไรกระทบความมั่นคง มีเจตนาให้มันเกิดความวุ่นวาย ไม่ควรยอม แต่การแสดงความคิดเห็นที่แสดงออกที่แตกต่างหลากหลาย ถ้าไม่ให้มี ก็ไม่เห็นว่าการปฏิรูป จะเดินได้อย่างไร
ส่วนเรื่องการทำประชามตินั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในขณะนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ฟังความเห็นกรอบจาก สปช. แล้วไปขอความเห็นคนนั้นคนนี้ เขียนเสร็จเรียบร้อย ขอความเห็นอีกรอบ จะปรับปรุงหรือไม่ สุดแล้วแต่ ส่งกลับมาให้ สปช. เห็นชอบ ท่านจะทำดีหรือไม่ดี ออกมาเรียกว่าวิเศษสุด ออกมางั้นๆ หรือออกมาไม่ดีก็ตาม คำถามก็คือ ท่านกล้าพูดหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นมานี้ มีความชอบธรรม เพราะถ้าไม่ดี เชื่อว่าต้องมีคนไม่เห็นด้วย ถ้าทำออกมาดี ก็อาจจะมีคนที่เสียผลประโยชน์ไม่เห็นด้วย คนที่ไม่เห็นด้วยนี้นอกจากเถียงกันเรื่องเนื้อหา สาระแล้ว สุดท้ายเขาก็จะถามว่า แล้วทำไมเขาถึงต้องยอมรับกติกาที่เขียนโดยคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ต่อไปวันข้างหน้าเมื่อใช้กติกานี้มีการเลือกตั้ง คนที่มาจากการเลือกตั้งก็จะบอกว่า ผมมีความชอบธรรมที่จะมาเปลี่ยน มาแก้ มารื้อ ดังนั้นการที่จะให้รัฐธรรมนูญมีกลไกคุ้มครองตัวเอง ก็ต้องให้ประชาชนยอมรับ วิธีเดียวที่จะทำได้คือประชามติ ฉะนั้นจะบอกว่าไม่เป็นไร ทำประชาพิจารณ์เอานั้น ไม่ได้ เพราะประชาพิจารณ์ ต่างจากประชามติ และ การประชามติ ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่อาจจะต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว
กำลังโหลดความคิดเห็น