“สาทิตย์” นำทีม กปปส.ถกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ “เอกนัฏ” หวังรับฟังความเห็นไม่ใช่แค่พิธีกรรม ยันต้องมีการถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยอย่างชัดเจน กระจายอำนาจสู่ประชาชน และกฎหมายใช้ได้จริง พรรคการเมืองไม่ใช่ของนายทุน ให้บริจาคเข้าได้ 5% ของภาษีที่จ่าย มีสิทธิ์เลือก กก.บห.และผู้สมัครในทุกระดับ ตั้งศาลเลือกตั้งพิจารณาใบเหลือง-แดง ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ไม่ขัดประชามติ ลั่นปรองดองคือผิดต้องว่ากันตามผิด
วันนี้ (25 พ.ย.) ที่รัฐสภา ตัวแทนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายถาวร เสนเนียม เรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์ นายสุริยะใส กตะศิลา และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ โดยถือเป็นภาคประชาชนกลุ่มแรกที่เข้าให้ความเห็นต่อกรรมาธิการฯหลังจากที่มีการรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองมาแล้ว 5 พรรค คือ พรรคชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย พลังชล ชาติพัฒนา และมาตุภูมิ
โดยนายเอกนัฏแถลงก่อนเข้าให้ความเห็นกับกรรมาธิการฯ ว่า มีความหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นฉบับปฏิรูปประเทศไทย และการรับฟังความเห็นไม่ได้เป็นเพียงแค่พิธีกรรม โดยนับจากนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนติดตามการทำงานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันการปฏิรูปซึ่งตัวแทน กปปส.5 คนในวันนี้จะร่วมเป็นคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญโดยขอให้กรรมาธิการยกร่างฯแถลงผลที่เป็นรูปธรรมต่อสาธารณะเป็นระยะ
ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายเอกนัฏ ระบุว่า หลักสำคัญคือต้องระบุว่าประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการถ่วงดุลอำนาจสามฝ่ายคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ องค์กรอิสระ อย่างชัดเจน ขจัดการรวมศูนย์อำนาจที่หน่วยราชการ กระจายอำนาจไปสู่ประชาชน อีกทั้งต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติได้จริง จากการรวบรวมความเห็นของประชาชนที่ร่วมชุมนุมพบว่า การปฏิรูประบบการเมือง การเลือกตั้งนั้น ความสำคัญอยู่ที่การกำจัดขบวนการทุจริตเลือกตั้ง ซื้อสิทธิขายเสียงทุกระดับ เริ่มจากนายทุนซื้อ ส.ส.เข้าพรรค จากนั้น ส.ส.ซื้อเสียงประชาชน เมื่อเข้าสู่อำนาจก็ใช้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนแทรกแซงระบบราชการ การทำงานขององค์กรอิสระ และพยายามแทรกแซงตุลาการ
นายเอกนัฏกล่าวว่า ต้องทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนไม่ใช่นายทุน โดยระบุให้ชัดว่าพรรคการเมืองต้องมีฐานสมาชิกไม่ต่ำกว่า 5% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คำนึงถึงสัดส่วนในภูมิภาค ให้พรรคการเมืองได้รับเงินสนับสนุนประกอบกิจกรรมพรรคจากผู้ลงทะเบียนเป็นเจ้าของพรรคอย่างเหมาะสม พอเพียง ให้เจ้าของพรรคสนับสนุนพรรคอย่างโปร่งใส คือ กำหนดการบริจาคผ่านภาษีซึ่งในปัจจุบันที่ให้บริจาคปีละ 100 บาทไม่พอควรเปลี่ยนให้ไม่เกิน 5% ของสัดส่วนเงินที่เสียภาษีในแต่ละปี และสามารถบริจาคเป็นก้อนได้แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่จ่ายในแต่ละปี
นายเอกนัฏกล่าวด้วยว่า เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมืองจะมีส่วนร่วมในการบริหารด้วยการให้ประชาชนมีสิทธิเลือกกรรมการบริหารพรรค และการคัดเลือกตัวผู้สมัครในทุกระดับ นอกจากนี้ ในเรื่องระบบการเลือกตั้งนั้นจะต้องมีบทลงโทษคนที่ทุจริตเลือกตั้งทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเสียง ให้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และให้มีการถอนอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งในเรื่องการให้ใบเหลือง-แดงไปเป็นของศาลเฉพาะที่จะมีการจัดตั้งขึ้น อีกทั้งยังเห็นว่าควรมีการยกเลิกส.ส.ระบบัญชีรายชื่อ เนื่องจากกลายเป็นช่องทางให้นายทุนใช้เงินเข้ามาครอบงำกิจการพรรคโดยไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ส่วนที่มาของ ส.ว.ควรมาจากการคัดสรรและทำงานในฐานะสภาพี่เลี้ยงกลั่นกรองกฎหมาย เป็นที่ปรึกษาของ ส.ส.
สำหรับการปฏิรูปการกระจายอำนาจนั้น นายเอกนัฏกล่าวว่า มีข้อเสนอให้ยุบราชการส่วนภูมิภาค กระจายอำนาจการบริหารไปสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ส่วนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เสนอให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีเองได้ และให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตไม่มีอายุความ เพิ่มโทษผู้ถูกจับด้วยการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต รวมทั้งให้ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจด้วยการลดการรวมศูนย์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระจายอำนาจไปสู่จังหวัดให้ประชาชนมีส่วนกำกับดูแลให้คุณให้โทษในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในพื้นที่ได้ นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้ประชาชนทุกระดับทั้งเรื่องการเข้าถึงที่ดินทำกิน สาธารณสุข การศึกษา และพลังงาน ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแนวคิดการผูกขาดเพื่อแสวงหาผลกำไรเป็นการกำหนดให้พลังงานเป็นทรัพยากรของคนไทยต้องถูกบริหารเพื่อความมั่นคงของชาติบนผลประโยชน์ของคนไทย
นายเอกนัฏกล่าวถึงแนวคิดเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า กปปส.ไม่ได้ขัดข้องในเรื่องนี้โดยเห็นว่ารัฐบาลคือผู้มีอำนาจที่จะตัดสินใจหลังจากสร้างกระบวน การให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว รัฐบาลกับกรรมาธิการฯ จึงต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมซึ่งจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยอาจทำผ่านการทำประชาพิจารณ์ และต้องชี้แจงกับประชาชนให้ได้ว่าประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไรภายใต้กฎอัยการศึก เพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญปี 50 มีการทำประชามติแต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับ ดังนั้นถ้าต้องการให้ประชาชนยอมรับต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพราะรัฐธรรมนูญครั้งนี้แตกต่างจากปี 40 และ 50 เนื่องจากประชาชนต้องการการปฏิรูปประเทศไทย
ส่วนกรณีที่มีการกำหนดกรอบการร่างรัฐธรรมนูญว่าจะมีหมวดเรื่องการปฏิรูปและปรองดองนั้น นายเอกนัฏกล่าวว่า ขั้นตอนกระบวนการปรองดองคือผิดว่าไปตามผิด ใครทำผิดต้องลงโทษ ไม่ใช่การยกโทษให้คนผิด โดยเห็นว่าควรนำการปฏิรูปประเทศไทยมาเป็นตัวขับเคลื่อนซึ่งจะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะนำไปสู่ความปรองดอง เพราะต้องยอมรับว่าเราคงไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อบังคับให้คนปรองดองได้ แต่ต้องมาจากความรู้สึกของประชาชน สำหรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคณะที่ 10 ที่จะพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางให้อภัยทุกฝ่ายด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ทาง กปปส.ยังไม่ทราบเรื่องนี้ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าประชาชนจะออกมาคัดค้านหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาการชุมนุมของประชาชนเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงอยากให้มองไปข้างหน้าหาทางออกให้คนไทยทั้งประเทศ