xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อำนาจถอดถอนมีแน่ แต่...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนพรรคเพื่อไทยยื่นหนังสือต่อนายพระเพชร วิชิตชลชัย  ประธาน นสช.เพื่อคัดค้านการที่ สนช. จะลงมติถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 57
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้เริ่มทำงานอย่างเป็นทางการมาแล้วหลายสัปดาห์ และผ่านกฎหมายออกมาบังคับใช้แล้วหลายฉบับ แต่ภารกิจที่จะชี้ขาดความศักดิ์สิทธิ์ของ สนช. ก็คือ การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้ามายึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของนักการเมือง

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 จึงได้วางกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ที่เปรียบเสมือนเป็นยาแรงเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองโกงกลับเข้าสู่อำนาจ โดยเฉพาะ มาตรา 35 (4) ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะมีการวางกรอบการป้องกันนักการเมืองโกงเข้าสู่อำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร สนช.อันเป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายที่มีต้นกำเนิดมาจาก คสช.จะต้องแสดงให้เห็นเป็นเบื้องต้นก่อนว่า จะจัดการนักการเมืองที่มีพฤติกรรมคดโกงอย่างเอาจริงเอาจัง

ความกังวลของหลายฝ่ายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ก็เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ไม่มีบทบัญญัติเรื่องอำนาจ สนช.ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้โดยตรง เป็นเหตุให้นักการเมืองสันหลังหวะที่เคยกระทำความผิดเอาไว้พยายามดิ้นรนหาช่องโหว่เพื่อใช้เป็นข้ออ้างเอาตัวรอดต่อไป

ยังดีว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อันเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เสนอต่อวุฒิสภาให้ลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กระทำความผิด ยังคงยืนหยัดในหลักการอย่างเหนียวแน่น ที่จะเดินหน้ายื่นสำนวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4 คดี ที่ทำค้างไว้ตั้งแต่ช่วงรัฐบาลชุดก่อน ให้ สนช.ได้บรรจุเข้าวาระการประชุมและพิจารณาลงมติ

วันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวิป สนช.ได้พิจารณากรณีสำนวนที่ ป.ป.ช.มีมติให้ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีกระทำผิดระหว่างการทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา และที่ประชุมวิปมีมตินำเข้าบรรจุในวาระการประชุมของ สนช.ในวันที่ 17 ต.ค.เพื่อให้สมาชิกได้เสนอญัตติว่าจะถอดถอนได้หรือไม่ และเปิดให้มีการอภิปรายแสดงความเห็นถึงกรณีการถอดถอนอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ การพิจารณาสำนวนถอดถอนนายนิคม และ นายสมศักดิ์ ในวันที่ 17 ต.ค. หากสมาชิก สนช.มีมติไม่รับก็ถือว่าจบขั้นตอน แต่หากรับ ประธาน สนช.จะต้องส่งเอกสารให้สมาชิก 15 วัน ก่อนมีการประชุมพิจารณานัดแรก โดยกระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน นับจากวันที่ ป.ป.ช.ยื่นสำนวนถึง สนช.

เมื่อสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ นายนิคม ถูกส่งถึง สนช. บรรดาลูกข่ายของระบอบทักษิณ ก็วิ่งวุ่นทันที โดยเมื่อวันที่ 15 ต.ค. นายอำนวย คลังผา อดีตประธานวิปรัฐบาล ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ที่รัฐสภา เพื่อคัดค้านไม่ให้ สนช.พิจารณาสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ นายนิคม รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ พร้อมนำรายชื่ออดีต ส.ส.และประชาชน 90 กว่าคนร่วมลงชื่อคัดค้าน

ข้ออ้างของการยื่นหนังสือคัดค้านมี 2 ข้อ คือ 1. รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว และรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่ได้ระบุเรื่องการถอดถอนไว้ การที่ สนช.ไปตีความว่าตัวเองมีอำนาจถอดถอนโดยอาศัยข้อบังคับ สนช.ที่กำหนดขึ้นเองย่อมทำไม่ได้ เพราะเป็นการขยายอำนาจให้ สนช.มากเกินไป และ

2.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งอีก เมื่อปรากฏว่าทั้งนายสมศักดิ์ และนายนิคมพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจึงขาดองค์ประกอบในการถอดถอนออกจากตำแหน่งอีก

หลังจากนั้น ก๊วนอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เดินทางไปที่ศูนย์บริการประชาชน (ชั่วคราว) ที่สำนักงาน ก.พ. เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 63/2557 ที่ให้องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ทั้งศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานอื่นของรัฐยึดมั่นในการปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม มีบรรทัดฐานชัดเจนในการดำเนินคดี จึงขอให้หัวหน้า คสช.ขอให้ยุติกระบวนการถอดถอนที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.และ ป.ป.ช.สอดคล้องกับนโยบาย คสช.

ขณะที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช ก็ยังอ้างว่า ฐานความผิดของตนเป็นฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว ขณะที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ก็ไม่ได้ระบุอำนาจของ สนช.ในการทำหน้าที่ถอดถอนเอาไว้ ดังนั้น สนช.จึงไม่มีอำนาจ แต่ตนจะยังไม่ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย เพราะเชื่อว่าการประชุม สนช.วันที่ 17 ต.ค.สมาชิกจะมีมติเสียงส่วนใหญ่ออกมาด้วยความเป็นธรรม

นั่นคือการแถแบบข้างๆ คูๆ ของนักการเมืองในกลุ่มก๊วนระบอบทักษิณ เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นการดำเนินการตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ในมาตรา 58 ที่ระบุว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกต ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมหรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย วุฒิสภามีอำนาจดำเนินการถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้”

และ มาตรา 64 ที่ระบุว่า “เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหาที่มาจากการเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งมีมูล และได้รายงานไปยังประธานวุฒิสภาตามมาตรา 56 ( 1 ) แล้ว ให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณามีมติโดยเร็ว...”

ขณะที่ รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 6 วรรค 2 ระบุว่า ให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา

สรุปให้บรรดาบริวารทักษิณได้เขาใจง่ายๆ ก็คือว่า การถอดถอนนักการเมือง เป็นการทำตามกฎหมาย ป.ป.ช.ซึ่งระบุว่า เมื่อ ป.ป.ช.มีมติแล้ว ก็ส่งเรื่องให้วุฒิสภาดำเนินการลงมติถอดถอน ขณะที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็บอกชัดว่าให้ สนช.ทำหน้าที่วุฒิสภาด้วย

นอกจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญ 2550 จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ตามหลักกฎหมาย ก็ถือว่า ทั้งนายสมศักดิ์ และนายนิคมได้กระทำผิดสำเร็จจนเป็นที่ประจักษ์ไปแล้ว กรณีมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง เหมือนคนขโมยของ แม้ของกลางจะเสื่อมสภาพไปแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ความผิดฐานลักขโมยหมดสภาพไปด้วย

ส่วนที่อ้างว่า ทั้งนายสมศักดิ์ และนายนิคมพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จะมาถอดถอนออกจากตำแหน่งอีกไม่ได้นั้น ดูจะเป็นข้ออ้างแบบ “มุกควายๆ” ไปหน่อย นั่นเพราะ นักการเมืองที่ถูกมติถอดถอน ไม่ได้มีผลแค่พ้นจากตำแหน่งเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการถูกตัดสิทธิทางการเมืองตามกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการ เพื่อจะชี้ขาดว่า ทั้งสองคนจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่

ดังนั้น หากจะอ้างตามข้อกฎหมายแล้ว สนช.ชุดนี้จึงมีอำนาจโดยถูกต้องทุกประการที่จะถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า สนช.ที่ คสช.แต่งตั้งเข้ามา จะกล้าหาญเพียงพอในการลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหล่านี้หรือไม่

ยิ่งเมื่อเห็น สนช.สายทหารหลายคนที่แสดงท่าทีลังเลต่อการลงมติถอดถอน ก็ทำให้น่าเป็นห่วงว่า แม้ สนช.ชุดนี้จะมีอำนาจ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถถอดถอนนักการเมืองที่กระทำความผิดได้


กำลังโหลดความคิดเห็น