อดีตรองประธานร่าง รธน.50 ชี้ปฏิรูปต้องร่วมมือทุกฝ่าย แจงถอดถอน เป็นห้ามผู้ทำผิดมีตำแหน่งการเมือง จี้เลือกทะเลาะต่อหรือหยุด ชี้เลิก รธน.50 นักการเมืองไม่ต่างจากถูกถอดถอน แค่ไม่ถูกตัดสิทธิ รับ สนช.ลุยถอดถอน จ่อแตกแยก ขออย่าใช้อารมณ์ความสะใจ “สิงห์ชัย” ตามน้ำชี้เป็นการทำลายล้างทางการเมือง ขู่จุดไฟฝั่งตรงข้าม
วันนี้ (16 ต.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศต้องการความร่วมมือทุกฝ่าย การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกระบวนการเอาผิดโทษทางการเมืองที่จะมีผลต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในทางการเมือง ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเวลา 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งเป็นกลไกที่มีประสิทธิในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด บรรยากาศเช่นนี้ประชาชนทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันให้ปฏิรูปประเทศไทยประสบความสำเร็จ แต่บางครั้งจำเป็นต้องเลือกว่าในภาวะหรือบรรยากาศเช่นนี้จะเลือกอะไร ระหว่างทะเลาะกันต่อไป หรือจะหยุดทะเลาะเพื่อร่วมมือกันปฏิรูปประเทศด้วยกัน
นายเสรีกล่าวต่อว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิก มีผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส.และ ส.ว.ต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่ต่างจากถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง จะต่างกันเพียงยังไม่ได้ถูกถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ขณะเดียวกัน มีข้อถกเถียงว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีอำนาจถอดถอนได้หรือไม่ เพราะพ้นจากตำแหน่งแล้ว ขณะที่ต่างฝ่ายก็มีเหตุผลตัวเอง และส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องนี้
“หาก สนช.พิจารณาต่อก็จะลามสู่การถอดถอนเป็นปัญหาทางการเมืองที่ปลุกกระแสให้มีการออกมาต่อสู้เรียกร้อง จึงเป็นสัญญาณให้เห็นว่าประเทศเริ่มมีปัญหาทางเมืองเกิดความแตกแยกอีกแล้ว ทั้งที่ยังไม่ลงมือปฏิรูปประเทศ ทำให้รู้สึกเป็นห่วง จึงขอเตือนสติว่าควรหาทางที่ดีที่สุดแก้ปัญหา อย่าใช้อารมณ์ ความเครียดแค้นหรือความสะใจมาแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางปฏิรูปประเทศสำเร็จไปได้”
ด้านนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี และเป็น 1 ใน 39 ส.ว.ที่ถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.กล่าวว่า สนช.สามารถถอดถอนได้โดยใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งมาตรา 6 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี2557 ได้ให้อำนาจ สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว. แต่ถามว่าควรทำหรือไม่ เพราะมีการให้โทษย้อนหลังผู้อื่นจึงขัดหลักนิติธรรม ซึ่งเห็นว่าถ้ามีการถอดถอนก็จะมีคนสะใจ ระบายความแค้นและได้ทำลายล้างทางการเมือง ทั้งนี้ ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. เพื่อให้ลงถึงประชาชนมากที่สุด ขณะที่ คสช.ฉีกรัฐธรรมนูญ และการถอดถอนตอนนี้ถือว่าเป็นดำเนินการต่างกรรมต่างวาระ
“เรื่องนี้จะเป็นการจุดประเด็นให้ฝ่ายตรงข้าม คสช.นำเรื่องการถอดถอนมาเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.ได้ เพราะแต่ละฝ่ายได้สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง สุดท้ายแล้วเชื่อว่าไม่น่าจะถอดถอนได้สำเร็จ เพราะ คสช.มองเรื่องปรองดอง” นายสิงห์ชัยกล่าว