xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นสนช.โหวตถอดถอนวันนี้ คาดโยนเผือกร้อนสภาชุดหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สมเจตน์" หนุนสนช. ถอนถอด"สมศักดิ์-นิคม" เชื่อไม่ขัดรธน. "ถาวร"รอวัดใจสนช.จะกล้าใช้อำนาจขจัดความเลวร้ายในระบบการเมืองหรือไม่ "เสรี"วอนสังคมหยุดทะเลาะ ร่วมกันปฏิรูปประเทศ ชี้ รธน.50 ถูกฉีก เท่ากับถูกถอดถอนแล้ว เตือน สนช.อย่าใช้ความสะใจ หลังเห็นสัญญาณความแตกแตกอีกรอบ "สิงห์ชัย"คาดล้มถอดถอน เพราะคสช.ยึดหลักปรองดอง "สมชาย" รับสนช. ความเห็นแตก เป็น 3 แนวทาง เปิดทางเลือกใหม่โยนให้สภาชุดหน้าจัดการ

วันนี้ (17ต.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะมีการพิจารณารายงาน และสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีกล่าวหา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตรองประธานรัฐสภา ในการดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณา ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. เป็นการกระทำที่ส่อว่า จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า เป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะพิจารณาถอดถอน ตามข้อบังคับการประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 หรือไม่

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในความเห็นส่วนตัว สนช. ควรรับเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการถอดถอน ตามข้อบังคับ สนช.กำหนด ต่อไป แม้หลายฝ่ายจะให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ฐานความผิดของบุคคลทั้งสอง ยังมีอยู่ และพฤติกรรมของอดีตประธานรัฐสภา และอดีตรองประธานรัฐสภา ดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่สร้างจุดเริ่มต้นของกระบวนการล้มล้างประชาธิปไตย และก่อให้เกิดการปฏิวัติ ดังนั้นแม้ปัจจุบันกฎหมายที่เป็นฐานความผิดจะไม่มีอยู่แล้ว แต่ความผิดนั้นยังคงมีอยู่ จึงต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช. ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นบรรทัดฐานในอนาคตว่า หากผู้ใดทำความผิดแล้ว แต่กฎหมายที่บังคับการเอาผิดสิ้นสภาพไป ความผิดนั้นจะถือว่าหายไปด้วย

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า สมาชิก สนช. จะลงมติไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณานั้น ตนไม่ทราบ และไม่มีใครแจ้งให้ลงมติข้างไหน ดังนั้นถือเป็นดุลยพินิจของ สนช. ส่วนความเห็นตนนั้น อาจจะมีผู้ที่โต้แย้งได้ และตนพร้อมรับฟัง

**รอดูสนช.จะกล้าใช้อำนาจหรือไม่

นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้โดยข้อเท็จจริง มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง ที่มีการสอดไส้ เนื้อหา มีการเสียบบัตรแทนกัน เขาจึงไม่เถียงในข้อเท็จจริง แต่มาใช้ช่องกฎหมาย เถียงว่าไม่มีรัฐธรรมนูญปี 50 อยู่แล้ว จึงไม่มีผล แต่ไม่พูดถึงว่า ยังมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. และ พ.ร.บ. ว่าด้วย กกต.รองรับ และมีโทษ ไม่เช่นนั้นคณะกรรมการป.ป.ช. จะกล้าลงมติให้ถอดถอนหรือ โดยส่งเรื่องมาให้ สนช. ดำเนินการอีก ทั้งยังมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 5 และ 6 รองรับอีก ที่ระบุชัดถึงการทำหน้าที่ของสนช.

"ปัญหาวันนี้จึงอยู่ที่ว่า สนช. ที่ คสช.แต่งตั้งขึ้นมาให้แก้ไขปัญหาความชั่วร้ายในการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองจะกล้าทำ จะกล้าผ่าตัดเนื้อร้ายเพื่อเยียวยารักษาหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับความจริงใจของ สนช.บางคน บางกลุ่มที่เข้ามาเป็นแล้ว ว่าจะกล้าแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง หรือได้ชื่อแค่ว่ามาเป็น สนช. เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลเท่านั้น ในฐานะนักกฎหมาย ผมยืนยันว่า สามารถถอดถอนได้ เพราะมีพฤติกรรมความผิดได้กระทำจริง มีกฎหมายรองรับ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็จะเป็นเยี่ยงอย่างให้กระทำเช่นนี้ต่อไป" นายถาวร กล่าว

** หวั่นเกิดความแตกแยกอีกครั้ง

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวว่า การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นกระบวนการเอาผิดโทษทางการเมือง ที่จะมีผลต่อผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดในทางการเมือง ต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเวลา 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้ ประชาชนทุกคน ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ให้ปฏิรูปประเทศไทยประสบความสำเร็จ แต่บางครั้งจำเป็นต้องเลือกว่าในภาวะ หรือบรรยากาศเช่นนี้ จะเลือกอะไร ระหว่างทะเลาะกันต่อไป หรือจะหยุดทะเลาะเพื่อร่วมมือกันปฏิรูปประเทศ

นายเสรี กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว มีผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. ต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่ต่างกับถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง จะต่างกันเพียงยังไม่ได้ถูกถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ขณะเดียวกัน มีข้อถกเถียงว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีอำนาจถอดถอนได้หรือไม่ เพราะพ้นจากตำแหน่งแล้ว ขณะที่ต่างฝ่ายก็มีเหตุผลตัวเอง และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็ยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องนี้

"หาก สนช.พิจารณาต่อ ก็จะลามสู่การถอดถอน เป็นปัญหาทางการเมือง ที่ปลุกกระแสให้มีการออกมาต่อสู้เรียกร้อง จึงเป็นสัญญาณให้เห็นว่า ประเทศเริ่มมีปัญหาทางเมือง เกิดความแตกแยกอีกแล้ว ทั้งที่ยังไม่ลงมือปฏิรูปประเทศเลย ทำให้รู้สึกเป็นห่วง จึงขอเตือนสติว่า ควรหาทางที่ดีที่สุดแก้ปัญหา อย่าใช้อารมณ์ ความเคียดแค้น หรือความสะใจมาแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางปฏิรูปประเทศสำเร็จไปได้" นายเสรี กล่าว

** อ้างปรองดอง ล้มถอดถอน

ด้านนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี และเป็น 1 ใน 39 ส.ว. ที่ถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. กล่าวว่า สนช. สามารถถอดถอนได้ โดยใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งมาตรา 6 รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ปี 2557 ได้ให้อำนาจ สนช. ทำหน้าที่แทนส.ส. และ ส.ว. แต่ถามว่าควรทำหรือไม่ เพราะมีการให้โทษย้อนหลังผู้อื่น จึงขัดหลักนิติธรรม ซึ่งเห็นว่าถ้ามีการถอดถอนก็จะมีคนสะใจ ระบายความแค้น และได้ทำลายล้างทางการเมือง ทั้งนี้ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. เพื่อให้ลงถึงประชาชนมากที่สุด ขณะที่คสช. ฉีกรัฐธรรมนูญ และการถอดถอนตอนนี้ถือว่าเป็นดำเนินการต่างกรรมต่างวาระ

"เรื่องนี้จะเป็นการจุดประเด็นให้ฝ่ายตรงข้าม คสช. นำเรื่องการถอดถอนมาเคลื่อนไหวต่อต้านคสช.ได้ เพราะแต่ละฝ่ายได้สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง สุดท้ายแล้วเชื่อว่าไม่น่าจะถอดถอนได้สำเร็จ เพราะคสช. มองเรื่องปรองดอง" นายสิงห์ชัย กล่าว

** อาจต้องรอรัฐสภาใหม่ดำเนินการ

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะวิป สนช. กล่าวถึง การพิจารณาเรื่องถอดถอน นายยิคม และนายสมศักดิ์ ว่า ตามสำนวนกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. มิชอบด้วยกฎหมาย ในวันนี้ (17 ต.ค.) ว่า ไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ เพราะสนช. มีอำนาจในการแต่งตั้ง และถอดถอนอยู่แล้ว แต่ยังมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับฐานความผิดว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ยกเลิกไปแล้ว หากระบุฐานความผิดจากรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หรือมีฐานความผิดอื่นที่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 58 ซึ่งที่ประชุมจะพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยมีความเป็นไปได้ ใน 3 แนวทางคือ เห็นว่าเป็นฐานความผิดที่ถอดถอนได้ก็รับไว้ดำเนินการ หรือไม่รับไว้ดำเนินการ เพราะมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ผลจากเรื่องนี้จะทำให้คนที่ถูกกล่าวหาพ้นความผิดไปเลยหรือไม่ หรืออาจจะมีการยกเว้นข้อบังคับการประชุม ที่ระบุให้ดำเนินการถอดถอนภายใน 30 วัน และให้มีการพักการพิจารณาเรื่องนี้ไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีรัฐสภาใหม่

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ในการพิจารณาร่างกฎหมายทาง สนช. จะส่งวิป 17 คน ไปเป็นวิปรัฐบาลประชุมร่วมกับรัฐบาลเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่รัฐบาลต้องการผลักดันก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ซึ่งถือเป็นการกลั่นกรองในขั้นแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น