รายงานการเมือง
สัญญาณยังไม่ชัดว่าจะถอนรากถอนโคนกันจังหวะนี้เลยหรือไม่ หลังปม “ถอดถอน” ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังเถียงกันไม่สะเด็ดน้ำว่า ตกลงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน มีอำนาจประหารนักการเมืองกังฉินหรือไม่
โดยเฉพาะสำนวนถอดถอน “ขุนค้อน”นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ“ไวรัช” นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.มิชอบ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งมาให้ สนช.พิจารณา ตามช่องทางมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่กำหนดให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว.
ป.ป.ช.ส่งมาถูกช่องทาง ไม่มีใครโจมตีเท่าไหร่ เพราะทำตามกติกาสูงสุดของกฎหมายของประเทศไทยในเวลานี้ แต่คนที่หนักอกหนักใจคือ สนช.ว่า จะเอาอย่างไรกับ “เผือกร้อน” นี้
ตามเนื้อผ้าที่ออกมา เรื่อง “รับ” หรือ “ไม่รับ” ไม่มีปัญหา เพราะถูกส่งมาตามครรลองคลองธรรม แต่ “รับ” แล้ว จะเอาอย่างไรต่อ เป็นอะไรที่ยังต้องติดตามภายใน 30 วัน หลังเริ่มนับหนึ่งกันแล้ว
โดยเหตุผลในการ “รับ” เอาไว้ครั้งนี้ ก็เหมือนกับองค์กรอิสระทั่วไป หรือศาลยุติธรรม เมื่อมี “คนร้อง” มาตามช่องทางที่ถูกต้อง ก็ต้อง “รับ” เอาไว้ แต่รับแล้วต้องตรวจดูตัวเองว่ามีอำนาจพิจารณาหรือไม่ ถ้ามี ก็เดินหน้าเต็มสูบ ถ้าไม่มี ก็ไม่รับคำร้อง เป็นอันว่า“จบเกม”
เรื่องนี้ สนช.รับไว้แล้ว กำลังอยู่ในช่วงพิจารณา หรือง่ายๆ ก็คืออยู่ในช่วงตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับปมถอดถอนนักการเมืองชื่อดัง เพราะตอนนี้เหตุผลสองฝั่งยังคัดง้างกันแบบดุเดือด โดยเฉพาะทางฝั่ง “คู่กรณี” อย่าง “ขุนค้อน” และ “ไวรัช” พ่วงด้วยองคาพยพ ที่กระทุ้งกันทุกวันว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีแล้ว ก็ไม่มีที่มาที่ไปว่าจะเอาความผิดไหนมาถอนรากถอนโคนกัน
เพราะทั้ง “ขุนค้อน” และ “ไวรัช” โดน ป.ป.ช.ชี้มูลในความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งสิ้น โดยแบ่งเป็นความผิด ดังนี้ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 3 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง มาตรา 291
ขณะเดียวกัน ยังมีบรรทัดฐานใหม่ หลัง “น้านวย” นายอำนวย คลังผา อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ฉวยจังหวะหยิบยกกรณี นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. และพวกร้องว่า อดีต ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และอดีต ส.ว.ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรา 68 แต่ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
ว่ากันตามเนื้อผ้า ถ้ายึดกันตามตัวอักษร ส่อแวว “รอดยกพวง” ยกเว้นพวกเสียบบัตรแทนกัน ปลอมแปลงเอกสาร ที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่อยู่ในกฎหมายอาญา ซึ่งยังต้องว่ากันต่ออีกยาว แถมมีสิทธิ์ “โดนยกพวง” เหมือนกัน
ในขณะที่ สนช.บางส่วน อาทิ นายสมชาย แสวงการ ยังยืนยันว่า สามารถถอดถอนได้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 58 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย วุฒิสภามีอำนาจดำเนินการถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้”
ตอนนี้ยังไปคนละทิศละทาง คงต้องรอจนกว่า สนช.จะนัดประชุมว่า จะเอาอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ตามกระแสข่าวหนาหูภายใน สนช.เอง ยังกระเพื่อมไม่น้อย หลังเสียงแตกเป็นสามฝั่ง ฝั่งหนึ่งไม่เอา ฝั่งหนึ่งเอา และอีกฝั่งขอดูทิศทางลมก่อน
ฝั่งไม่เอาที่ออกตัวให้เห็นก็ “ธานี อ่อนละเอียด”สมาชิก สนช. ที่มีเหตุผลทางกฎหมายว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว แต่ฝั่งที่ออกมาให้เดินหน้าสุดซอย เป็นก๊วน “40 ส.ว.”ที่ถูกมองว่า จะเอาเป็นเอาตายกันไปข้าง ขณะที่กลุ่มใหญ่เลยคือ สมาชิกสนช. สายท็อปบูต และข้าราชการกลางๆ ที่ยังสงวนท่าที หรือบางคนแนะให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดอย่าง พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม
อย่างไรก็ดี หากจะเดินลุยถอดถอนโดยอาศัย มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่ให้ยึดประเพณีที่เคยทำ หรือกรณีในอดีตมาที่เคยวินิจฉัยเรื่องพวกนี้กันมา โดย สนช.มีอำนาจวินิจฉัยเองได้ และลงท้ายเป็นถอดถอน “ขุนค้อน” และ “ไวรัช” ว่ากันตามตรงมันก็ไม่สง่างาม เพราะไม่รู้จะอ้างความผิดใด เนื่องจากไม่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว
แต่ครั้นจะปล่อยไปฟรีๆ ก็เหมือนปล่อยคนชั่วลอยนวล คล้ายฆ่าคนตาย แต่คดีหมดอายุความ หรือยกประโยชน์ให้จำเลย เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ทุกอย่างโมฆะ น้องๆนิรโทษกรรมกันเลย
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจับทางกันไม่ถูกว่า หวยจะออกแบบไหน แต่ถ้าว่ากันสภาพความเป็นจริง คนตัดสินใจเรื่องนี้คือ สุดท้าย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว และอำนาจทางพฤตินัย แม้จะกฎหมายจะเขียนว่า เป็นอำนาจของ สนช. ก็ตาม
เพราะเมื่อตัดสินใจเข้ามารัฐประหาร ควบคุมกลไกต่างๆ เปรียบได้เป็น “รัฏฐาธิปัตย์” แถมยังทำคลอด สนช.กับมือ ดังนั้น หากส่งสัญญาณชัดเจนในทางใดทางหนึ่ง สนช.ย่อมต้องทำตาม แม้จะมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะนี่คือ คนกำหนดทิศทางประเทศในช่วงเวลานี้
วิเคราะห์กันตามอารมณ์ “บิ๊กตู่” ที่ย้ำเสมอว่ามีอำนาจ แต่จะใช้ในทางสร้างสรรค์เท่านั้น อาจสะท้อนให้เห็นถึงคิวประนีประนอมได้เหมือนกัน เพราะการไล่บี้ ไล่ฟัน อาจจะผิดคอนเซปต์ที่เน้นประคองสถานการณ์ ให้ทุกคนอยู่ในที่ตั้ง มากกว่าเติมเชื้อเพลิง เนื่องจากต้องการปฏิรูปแบบราบรื่นที่สุด
แนวโน้มจึงอาจดูจะเข้าทางฟากฝั่ง “คู่กรณี” ที่มีสิทธิ์ได้ลอยนวลไม่น้อย !!
แต่ที่ต้องลุ้นกันเลย คือ กรณีละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวของ“ปูกรรเชียง” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในมือ ป.ป.ช. ที่นอกจากจะมีความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ดันพ่วงมีกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินซึ่งยังไม่รู้เหมือนกันว่า “บิ๊กตู่” จะเอาอย่างไร เพราะเป็นตัวละครหลักของเรื่อง หนำซ้ำ ยังมีกฎหมายอื่นๆให้คนที่อยากเชือด ต้องเอามายกเป็นเหตุผลแน่
จะปล่อยกันไปแบบยกโขยงมันก็รอมชอมกันเกินไป ชนิดไม่เห็นหัวกฎหมายเลย