xs
xsm
sm
md
lg

นิรโทษฯ ปู-เครือข่ายทักษิณ! “ราเมศ-ปชป.” ชี้จุดอ่อน รธน.ชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราเมศ รัตนะเชวง (แฟ้มภาพ)
ทีมกฎหมาย ปชป.ระบุ คสช.นิรโทษกรรม “ยิ่งลักษณ์-สมศักดิ์-นิคม” พร้อม อดีต ส.ส.รัฐบาลปู และ ส.ว.ที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่งและตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีในหลายคดี เหตุ รธน.ชั่วคราว 57 ไม่มีบทบัญญ้ติเรื่องการถอดถอนรองรับ ถาม คสช.จะเดินหน้าต่อหรือปล่อยคนชั่วลอยนวล


นายราเมศ รัตนะเชวง คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคดีที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมถึงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมกันเสนอและลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.

นายราเมศชี้ให้เห็นว่า คนเหล่านี้กำลังจะหลุดพ้นจากคดีถอดถอนที่มีโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ถูก คสช.ยกเลิก และในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่มีบทบัญญัติใดมารองรับเกี่ยวกับเรื่องการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้ 4 คดีที่ผ่านการชี้มูลความผิดจาก ป.ป.ช.แล้วและอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาถอดถอนของสมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และอีก 11 คดีที่อยู่ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช.จะต้องสะดุดหยุดลง หรืออาจจะกลายเป็นการนิรโทษกรรมในกรณีการถอดถอนไปโดยปริยาย หาก คสช.ไม่มีคำสั่งหรือกำหนดกติกาใหม่มารองรับ

โดยคดีที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ตามกระบวนการตรวจสอบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วอยู่ในกระบวนการถอดถอนของวุฒิสภา ซึ่งจะมีโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.ซึ่งจะมีทั้งเรื่องการถอดถอนและคดีอาญาควบคู่กันไป คดีต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบการกระทำของนักการเมืองที่ได้บังอาจกระทำการที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และกระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งเจตนารมณ์เพื่อตรวจสอบการกระทำของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงไม่ให้มีการร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ ใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย

“แต่เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 แล้วจะเห็นว่า ประเด็นเรื่องการถอดถอนไม่มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว หากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้มีนักการเมืองที่ถูกดำเนินคดีจะหลุดพ้นจากการถูกถอดถอนโดยวุฒิสภาเดิมซึ่งเปรียบเสมือนการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีต่างๆ ให้พ้นจากการที่ต้องรับโทษคือตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีโดยสิ้นเชิง เพราะแม้ว่าจะพ้นจากตำแหน่งต่างๆ ไปแล้วแต่โทษในเรื่องการตัดสิทธิทางการเมืองยังคงต้องดำเนินการตามกฎหมายเพราะว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้คนที่ดำรงตำแหน่งในทางการเมืองต่างๆ เมื่อทำผิดรัฐธรรมนูญหรือกฎมายก็ต้องเว้นวรรคในทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี เรื่องดังกล่าวนี้จึงต้องตั้งคำถามไปยัง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะดำเนินการต่อเรื่องดังกล่าวต่างๆ เหล่านี้อย่างไร หรือว่าจะปล่อยให้คนที่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองเหล่านี้ลอยนวลอย่างเป็นอิสระ”

สำหรับ คดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว อยู่ในกระบวนการถอดถอนของวุฒิสภา มีดังนี้

1. คดี นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ได้กระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2. คดี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

3. คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและบทกฎหมายในเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

4. คดีสมาชิกวุฒิสภา 36 คน จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.

ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.ประกอบด้วย

1. คดีทุจริตของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กนอ.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้ถูกร้อง

2. คดีถอดถอน นายปลอดประสพ สุรัสวดี ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากกระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ในเรื่องการเลือกปฏิบัติ

3. คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีทำผิด พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2542 ซึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกร้อง

4. คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อนุญาตให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยแพร่ภาพและเสียง รายการมวยไทยซึ่งจัดที่เขตปกครองพิเศษมาเก๊า โดยมีเจตนาแพร่ภาพการกล่าวเปิดงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

5. คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการตราพระราชกำหนด และลงมติเห็นชอบพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศไทย 3.5 แสนล้านบาท

6. คดีไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. กรณีนายกรัฐมนตรีไปสั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกร้อง

7. คดีทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 66 และมาตรา 88 ในการกักเก็บ ควบคุม ระบาย หรือบริหารจัดการน้ำ เป็นเหตุให้เกิดอุทกภัย นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกร้อง

8. คดีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กระทำการโดยทุจริต และใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย กรณีไม่ได้กระทำการเปิดเผยราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกร้อง

9. คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลประจำปี พ.ศ. 2555 นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกร้อง

10. คดีร้องถอดถอนนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ กรณีการกระทำการที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายในเรื่องของการรับทรัพย์สินที่มิควรได้ จากกรณีบริษัท อีสต์วอเตอร์ ดำเนินการเรื่องการจัดตั๋วเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆไปต่างประเทศ

11. คดีร้องถอดถอน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.


กำลังโหลดความคิดเห็น