xs
xsm
sm
md
lg

กกต.รอความชัดเจนหย่อนบัตรท้องถิ่น ติดเบรกห้ามชุมนุมเกิน 5 คน-เร่งสาง 58 คดีเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุม กกต. รับทราบ คสช. สั่งคืน พ.ร.บ. พร้อมทำงานตามอำนาจหน้าที่ ขณะเดียวกัน รอตอบกลับแนวทางจัดกาบัตรท้องถิ่น เหตุห้ามชุมนุมเกิน 5 คน กระทบกิจกรรมหาเสียง “สมชัย” เผยเร่งสางคดีเลือกตั้ง 58 สำนวน รวมคดี “ยิ่งลักษณ์” ทัวร์นกขมิ้น-มอบเงินงานศพตำรวจระหว่างเลือกตั้ง หลัง คสช. คืนกฎหมาย-ใช้อำนาจหน้าที่ตามเดิม ชี้กิจกรรมทางการเมืองตีความได้ทั้งกว้างหรือแคบ ส่อพิจารณาก๊วน ปชป. แถลงข่าวรายวัน

วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวภายหลังการประชุม กกต. ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศฉบับที่ 57/2557 ให้ พ.ร.ป. ว่าการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 พ.ร.ป ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 พ.ร.ป. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 กลับมามีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไป ซึ่งที่ประชุมก็รับทราบและพร้อมที่จะดำเนินการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ต่อไป โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ขัดกับคำสั่งหรือประกาศของทาง คสช. อาทิ เรื่องทางธุรการของสำนักงาน กกต. หรือการสอบสวนสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง และสำนวนคำร้องต่างๆ ส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต. ก็จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งต่อไป เพียงแต่ว่าขณะนี้ กกต. อยู่ระหว่างรอ คสช. ตอบกลับมาว่าจะให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจะต้องมีการหาเสียงเลือกตั้ง แน่นอนว่าจะต้องมีประชาชนรวมตัวกันเกิน 5 คนขึ้นไป ซึ่งอาจจะขัดกับประกาศ คสช. ฉบับ 7 ที่ระบุห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง 5 คนได้ ดังนั้น ก่อนที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นต่อไปนั้น เพื่อความชัดเจนและไม่ขัดกับประกาศหรือคำสั่งใดๆ กกต. ก็ควรรอความชัดเจนจาก คสช. ก่อน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กกต. ได้มีมติเลื่อนวันเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 160 แห่ง 180 ตำแหน่ง ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 31 พ.ค. ถึง 29 มิ.ย. 2557 ออกไป 30 วัน เพื่อให้สอดคล้องและไม่ขัดกับประกาศของ คสช.

ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 57 คืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ กกต. ว่า จากประกาศดังกล่าว คสช. ได้คืน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มีผลบังคับใช้ต่อไปนั้น หลังจากนี้ กกต. จะเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดย กกต. ได้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนสำนักงาน กกต. เร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ที่ขณะนี้มีคำร้องทั้งหมดรวม 58 คำร้อง แบ่งเป็น คำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. 29 สำนวน และคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ว. 29 สำนวน ที่อาจเกี่ยวข้องกับการตัดสิทธิทางการเมืองของผู้สมัคร การดำเนินคดีอาญาต่อตัวผู้สมัครหรือผู้สนับสนุน การยุบพรรคการเมืองหากผู้ที่กระทำผิดดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค แต่ครั้งนี้คงไม่มีการสั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) หรือการสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมือง (ใบแดง) เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ไม่มีการจัดการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม คาดว่าสามารถนำรายละเอียดเข้าหารือที่ประชุม กกต. ได้ภายในสัปดาห์หน้า

ส่วนกรณีที่ คสช. มีประกาศขยายเวลาให้ กกต. สามารถพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจากเดิมภายใน 30 วัน เป็น 60 วันนับแต่วันเลือกตั้งนั้น กกต. ก็ได้ให้ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง และด้านสืบสวนสอบสวน ไปพิจารณาว่าจะมีผลกระทบกับการดำเนินการอย่างไรบ้าง แล้วจะดำเนินการอย่างไรให้สอดคล้องกับประกาศดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้ คสช. ประกาศให้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กลับมามีผลบังคับใช้ แต่มีเงื่อนไขห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ซึ่งกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวรายวัน จะถือเป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า คำว่ากิจกรรมทางการเมือง สามารถตีความได้ทั้งแบบแคบและแบบกว้าง แบบแคบคือ การประชุม สัมมนา อบรมต่างๆ และแบบกว้างคือ การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางพรรคการเมืองต้องประเมินเองว่าอะไรทำได้บ้าง ทั้งนี้ หากมีผู้ร้องเข้ามา นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ต้องดำเนินการ แต่หากไม่มีคนร้องนายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถหยิบมาดำเนินการเองได้ เนื่องจากกฎหมายให้นายทะเบียนดำเนินการได้อยู่แล้วกรณีเป็นความปรากฏ แต่ต้องเป็นกรณีที่ชัดแจ้ง ไม่เช่นนั้นจะถูกข้อครหาได้

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นมี 2 คำร้อง ได้แก่ คำร้องกรณีที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ โดยใช้ทรัพยากรของรัฐ และคำร้องกรณีที่นายกรัฐมนตรีไปงานศพ และมอบเงินให้แก่ครอบครัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิต ในเหตุการณ์การปะทะกันที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ในวันรับสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น