กกต.เผยยังสอบคดีคัดค้านเลือกตั้ง ส.ส. โดยเฉพาะคดี “ยิ่งลักษณ์” เกี่ยวเนื่องยุบพรรค-ติดโทษแบน เตรียมบรรจุวาระเร็วๆ นี้ “สมชัย” เผยพรุ่งนี้ถกกรณีโยก “บิ๊กแจ๊ด” ไปตำรวจภูธรภาค 5 ชี้คำแนะนำแก๊ง สปป.ให้รัฐบาลทูลเกล้าฯ ไปเลยไม่ต้องขอความเห็น กกต.ทำไม่ได้ ซัดสร้างความเข้าใจผิด ชี้ถ้ารัฐทำได้คงทำไปนานแล้ว เตือนถ้าเอาจริงระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ส่วนนัดถก “นิวัฒน์ธำรง” แนะควรหลัง 27 พ.ค. เพราะสถานการณ์คลี่คลาย
วันนี้ (19 พ.ค.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านสืบสวนสอบสวน กล่าวว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ในเรื่องคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. กกต.ยังคงต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป รวมถึงคำร้องเกี่ยวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แม้รัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้สิ้นสภาพ ส.ส. แต่ กกต.ก็ยังสอบสวนอยู่ เนื่องจากเรื่องที่ร้องเกี่ยวข้องกับการยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมือง ขณะนี้มีหนึ่งเรื่องที่เกี่ยวกับอดีตนายกรัฐมนตรี อนุกรรมการสืบสวนฯ ได้สืบสวนแล้วเสร็จ และทางสำนักงานเตรียมที่จะบรรจุระเบียบวาระให้ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาเร็วๆ นี้ แต่ไม่สามารถเปิดเผยว่าเป็นเรื่องใด
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ที่ประชุมจะมีการพิจารณากรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ มีมติเห็นชอบให้มีการย้าย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และให้ พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาตำรวจนครบาลแทน โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเข้าชี้แจงด้วยตนเอง เวลา 10.00 น.
นอกจากนี้ นายสมชัยยังกล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการกลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) เห็นว่ารัฐบาลสามารถทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต.ว่า ข้อเสนอนี้ถือว่าเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรื่องดังกล่าวไม่สามารถทำได้ หากรัฐบาลเห็นสอดคล้องกับกลุ่มนักวิชาการดังกล่าวก็คงดำเนินการทูลเกล้าฯ ไปนานแล้ว แต่ที่ยังไม่ทูลเกล้าฯ ก็เพราะรัฐบาลรู้ว่าการจะทูลเกล้าฯ ต้องปรึกษากับ กกต.เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้การเลือกตั้งไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเพื่อให้การเลือกตั้งนำไปสู่ความสำเร็จ โดยรัฐบาลและ กกต.ต้องมีการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน อีกทั้งการทูลเกล้าฯ ฝ่ายเดียวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเชื่อตามที่กลุ่มนักวิชาการ สปป. เสนอและทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวขึ้นไปแล้วไม่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมา ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงหากเป็นเช่นนั้น
ส่วนการนัดหารือระหว่าง กกต.กับรัฐบาลเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งนั้น ยังมองว่าควรจะเป็นการพบปะพูดคุยกัน ไม่ใช่ใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ขณะนี้ยังรอการประสานจากรัฐบาลอยู่ว่าจะพร้อมเมื่อใด ที่ไหน โดย กกต.ขอให้นัดหมายล่วงหน้า ไม่เกี่ยงสถานที่ แต่ส่วนตัวมองว่าการหารือไม่ควรเป็นสัปดาห์นี้เนื่องจากสถานการณ์การเมืองค่อนข้างรุนแรง หากมีการหารือก็จะเป็นการดึงความสนใจของผู้ชุมนุม ดังนั้นมองว่าถ้าจะหารือควรเป็นหลังวันอังคารที่ 27 พ.ค. ที่เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะมีการคลี่คลายลง