xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เร่งสางคดีเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์เจอร้อง2เรื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 57 คืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกกต.ว่า จากประกาศดังกล่าว คสช.ได้คืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว., พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ,พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นมีผลบังคับใช้ต่อไปนั้น
หลังจากนี้ กกต.จะเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยกกต.ได้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนสำนักงานกกต. เร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ที่ขณะนี้มีคำร้องทั้งหมดรวม 58 คำร้อง แบ่งเป็น คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส. 29 สำนวน และคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ว. 29 สำนวน ที่อาจเกี่ยวข้องกับการตัดสิทธิทางการเมืองของผู้สมัคร การดำเนินคดีอาญาต่อตัวผู้สมัครหรือผู้สนับสนุน การยุบพรรคการเมืองหากผู้ที่กระทำผิดดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค แต่ครั้งนี้คงไม่มีการสั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) หรือการสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมือง(ใบแดง) เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ไม่มีการจัดการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม คาดว่าสามารถนำรายละเอียดเข้าหารือที่ประชุม กกต.ได้ภายในสัปดาห์หน้า
ส่วนกรณีที่ คสช. มีประกาศขยายเวลาให้ กกต.สามารถพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจากเดิมภายใน 30 วัน เป็น 60 วันนับแต่วันเลือกตั้งนั้น กกต.ก็ได้ให้ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง และด้านสืบสวนสอบสวน ไปพิจารณาว่าจะมีผลกระทบกับการดำเนินการอย่างไรบ้าง แล้วจะดำเนินการอย่างไรให้สอดคล้องกับประกาศดังกล่าวด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้ คสช.ประกาศให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กลับมามีผลบังคับใช้ แต่มีเงื่อนไขห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ซึ่งกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวรายวัน จะถือเป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า คำว่า กิจกรรมทางการเมือง สามารถตีความได้ทั้งแบบแคบ และแบบกว้าง แบบแคบคือ การประชุม สัมมนา อบรม ต่างๆ และแบบกว้าง คือ การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางพรรคการเมืองต้องประเมินเองว่า อะไรทำได้บ้าง
ทั้งนี้หากมีผู้ร้องเข้ามา นายทะเบียนพรรคการเมือง ก็ต้องดำเนินการ แต่หากไม่มีคนร้องนายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถหยิบมาดำเนินการเองได้ เนื่องจากกฎหมายให้นายทะเบียนดำเนินการได้อยู่แล้ว กรณีเป็นความปรากฏ แต่ต้องเป็นกรณีที่ชัดแจ้ง ไม่เช่นนั้นจะถูกข้อครหาได้
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส. ที่เกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นมี 2 คำร้อง ได้แก่ คำร้องกรณีที่นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ โดยใช้ทรัพยากรของรัฐ และคำร้องกรณีที่นายกรัฐมนตรีไปงานศพ และมอบเงินให้แก่ครอบครัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิต ในเหตุการณ์การปะทะกันที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ในวันรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า กกต. พร้อมที่จะดำเนินการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ต่อไป โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ขัดกับคำสั่ง หรือประกาศของทางคสช. อาทิ เรื่องทางธุรการของสำนักงานกกต. หรือการสอบสวนสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง และสำนวนคำร้องต่างๆ
ส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต. ก็จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งต่อไป เพียงแต่ว่าขณะนี้ กกต.อยู่ระหว่างรอ คสช.ตอบกลับมาว่าจะให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น จะต้องมีการหาเสียงเลือกตั้ง แน่นอนว่าจะต้องมีประชาชนรวมตัวกันเกิน 5 คนขึ้นไป ซึ่งอาจจะขัดกับประกาศ คสช.ฉบับ 7 ที่ระบุห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง 5 คนได้
ดังนั้นก่อนที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นต่อไปนั้น เพื่อความชัดเจน และไม่ขัดกับประกาศหรือคำสั่งใดๆ กกต.ก็ควรรอความชัดเจนจากคสช.ก่อน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กกต.ได้มีมติเลื่อนวันเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 160 แห่ง 180 ตำแหน่ง ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-29 มิ.ย.57 ออกไป 30 วัน เพื่อให้สอดคล้องและไม่ขัดกับประกาศของ คสช.

**แนะคสช.เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง

นายพูลเดช กรรณิการ์ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่ออนาคต กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยต่อกรณีที่ คสช. มีประกาศฉบับที่ 57 ให้คงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไว้ต่อไป แต่ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ เท่ากับเป็นการแช่แข็งพรรค และนักการเมืองไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ดังนั้น ตนเห็นว่าไม่ใช่แนวทางที่ดีต่อการปฏิรูปพรรคการเมืองและตนมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด
"ให้มีพรรคการเมืองอยู่ต่อก็ทำอะไรไม่ได้ ผมเคยเสนอให้ คสช. เซ็ตซีโร่ พรรคการเมือง ด้วยการให้พรรคการเมืองที่มีอยู่สิ้นสภาพไปตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 11 เพื่อล้างไพ่พรรคการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้ง และมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตการเมือง จะได้นับหนึ่งการเมืองกันใหม่ด้วยพรรคใหม่ เมื่อการปฏิรูปการเมืองแล้วเสร็จ และพร้อมเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือน คสช.จะไม่เข้าใจสิ่งที่ผมเสนอ ดังนั้นเชื่อว่าแม้จะมีการปฏิรูปการเมือง พรรคและนักการเมืองแบบเดิมยังคงอยู่ การเมืองก็จะกลับไปสู่แบบเดิมอีก และแน่นอนว่าความขัดแย้งแบบเดิมจะกลับมาอีก" นายพูลเดช กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น