xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ปลดล็อกพ.ร.ป.เลือกตั้ง ไม่ยุบพรรค-ประชามติใช้ต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (9 มิ.ย.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 57/2557 เรื่องให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับ มีผลบังคับใช้ต่อไป ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 ลงวันที่ 22 พ.ค.57 เรื่อง การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น แต่ที่โดยประกาศดังกล่าว กำหนดให้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบางหมวด ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป โดยเฉพาะการกำหนดให้ศาลทั้งหลาย คงมีอำนาจดำเนินการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย และ ประกาศคสช. ให้องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
นอกจากนั้น ประกาศคสช.ฉบับที่ 24/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค.57 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้ต่อไปก็มิได้ยกเลิก หรือสั่งให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดสิ้นสุดลง นอกจากกำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ มีผลบังคับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้เพื่อให้ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญนั้น สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นธรรม คสช.จึงเห็นเป็นการสมควรกำหนดเพิ่มเติมให้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับ ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไป ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไป โดยมิได้สะดุดลง จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก แต่ให้งดเว้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้ง และการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาไว้เป็นการชั่วคราวก่อน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจกำหนด หรือขยายระยะเวลาในการยื่นบัญชีรายรับ และรายจ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ได้ตามที่เห็นสมควร
ข้อ 2 ให้พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไป โดยมิได้สะดุดลง จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง และการดำเนินการเพื่อการจัดตั้ง หรือจดทะเบียนพรรคการเมือง ให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราว รวมทั้งให้ระงับการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง ของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราวด้วย ในกรณีมีข้อสงสัยให้หารือคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ข้อ 3 ให้พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไป โดยมิได้สะดุดลง จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก
ข้อ 4 บรรดาคำร้อง สำนวน อรรถคดี หรือการใด ที่ดำเนินการภายใต้พ.ร.ป. ตามข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมือง หรือศาล ก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมือง และศาล ยังคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณา และวินิจฉัยต่อไป
ข้อ 5 ให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณา และวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ทั้งนี้ วิธีพิจารณา และวินิจฉัยคดีให้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยต้องใช้ระบบไต่สวน และเป็นไปโดยรวดเร็ว ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นควรให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อวินิจฉัย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 เป็นต้นไป

**ไฟเขียวให้ศาลพิจารณาคดีเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน คสช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 58/2557 เรื่องการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้การพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นของศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง คณะะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคสช.ฉบับที่ 51/2557 ลงวันที่ 31 พ.ค.57 เรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น
ข้อ 2 กรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว และศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค ได้รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอให้วินิจฉัยว่า ควรให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใด ให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค ซึ่งมีอำนาจพิจารณา และวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีอำนาจพิจารณา และวินิจฉัยคดีเรื่องนั้นต่อไปเช่นเดิม
ทั้งนี้ วิธีพิจารณา และวินิจฉัยคดีดังกล่าว ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2550
ข้อ 3 เมื่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค ได้รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามข้อ 2 แล้ว สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นั้นจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ จนกว่าศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาคจะมีคำสั่งยกคำร้อง แต่หากศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใด หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใด ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลง และให้คำสั่งของศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค เป็นที่สุด
ข้อ 4 กรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใด ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ มิให้นับบุคคลดังกล่าวเข้าในจำนวนรวมของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาท้องถิ่น หรือคณะผู้บริหารท้องถิ่น
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 1 แห่งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 32 ลงวันที่ 30 ก.ย.49 เรื่อง อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ตามพ.ร.บ.การเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งต้องไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ข้อ 1 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 57 ส่วนข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 เป็นต้นไป

**กกต.นัดประชุมวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงาน กกต. ว่าหลังมีประกาศ คสช.คืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ในการประชุม กกต.วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ประชุม กกต.จะมีวาระการพิจารณากรณีที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศฉบับที่ 57 / 2557 ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 กลับมามีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไป เพื่อที่จะหาแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไปว่า จะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

**กกต.ขอเวลา1ปีในการปฏิรูป

ในวันเดียวกันนี้ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ และ นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการการมีส่วนร่วมและการออกเสียงประชามติ ร่วมกันแถลงข่าว ภายหลังจัดทำบุญโอกาสครบรอบ16 ปี สถาปนากกต. ภายใต้สโลแกน "เป็นกลาง มืออาชีพ ยึดประโยชน์ของชาติ"
นายศุภชัย กล่าวว่า 16 ปี กกต.ประสบปัญหาอุปสรรคมากมาย เราบันทึกไว้พร้อมที่จะแก้ไข ขณะนี้เรามีเวลา 1 ปี ที่จะแก้ไข โดยเฉพาะบุคคลากร สถานที่ เราคิดที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น จากประสบการณ์ 6 เดือน เราทราบข้อมูลต่างๆ ในส่วนที่ดีจะทำให้ดีขึ้น ส่วนไหนบกพร่องก็จะแก้ไข ถ้าจะปฏิรูปการเลือกตั้งเราก็มีข้อมูลพร้อม
นายสมชัย กล่าวว่า กกต.เป็นกลไกหลักในการกลั่นกรองบุคคล สังคมอยากให้กลั่นกรองบุคคลเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ นิติบัญญัติ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น นักการเมืองมีผลทำให้เกิดปัญหา กกต.คงต้องทบทวนว่า กระบวนการของเรามีจุดอ่อนข้อด้อยอย่างไร เพื่อนำมาปรับปรุง เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่าหลังจากการยึดอำนาจของคสช.แล้ว ทำไมกกต. ยังคงฏิบัติหน้าที่อยู่ ขณะที่องค์กรอื่น เช่น ส.ว.ถูกยกเลิก นายสมชัย กล่าวว่า เรามีงานสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ๆ 2 เรื่องเป็นเรื่องกฎหมาย เช่น การจัดเลือกตั้งท้องถิ่น การดำเนินคดีเลือกตั้ง ที่เป็นคดีอาญา การตัดสิทธิ การยุบพรรค ก็ยังมีอยู่ ดังนั้นกกต.ต้องเดินหน้าทำงานต่อไป สอดคล้องกับที่ หน.คสช. ให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ต่อไปเต็มที่ และประเด็นสุดท้ายสังคมคาดหวัง ซึ่ง กกต.ต้องมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปการเลือกตั้ง โดยประธานมอบหมายให้ กกต.ทุกคนไปศึกษาการปฏิรูปตามที่หน้าที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การปฏิรูปในส่วนที่ตนเกี่ยวข้อง คือ 1. กลไกการได้มาซึ่งตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. ส.ว. เพื่อให้ได้คนที่มีความสามารถเข้ามาว่าจะมีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร
2. การหาเสียง ทำอย่างไรให้ผู้สมัครมีค่าใช้จ่ายไม่มากเกินไปและไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ กกต.จะต้องพิจารณาเรื่องนโยบายของผู้หาเสียงเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
3.กลไกในการจัดการเลือกตั้งต่างๆ ตราบใดที่มีการใช้เงิน ใช้อำนาจ ซึ่งกกต.จะต้องพิจารณาไม่ให้มีการเข้ามาดำรงตำแหน่งแล้วหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง อีกทั้งยังมีกลไกต่างๆ ที่จะต้องนำมาแก้ไขปรับปรุง เช่น ถิ่นพำนักอาศัย จะต้องร่วมหารือหลายฝ่าย ทั้งหาดไทย การต่างประเทศ เพื่อให้มีการแจ้งถิ่นที่อยู่ปัจจุบันทางอินเตอร์เน็ตได้ด้วยตัวของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเอง ส่วนการสืบสวนสอบสวนก็ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางต่างๆ
นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า การปฏิรูปในด้านที่ตนรับผิดชอบ โจทย์ใหญ่คือ ทำอย่างไรให้คนมาลงคะแนนเสียงให้มาก ถ้าประชาชนตื่นตัว ติดตามการเมือง จะทำให้ระบบการเมืองแบบซื้อเสียงจะหายไป เรากำลังศึกษาว่าทำอย่างไรประชากรจะได้รับการชดเชยเมื่อมาทำหน้าที่พลเมือง เช่น ชดเชยการมาใช้สิทธิอาจจะจ่ายเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ ตัวอย่างที่ผ่านมามีการจัดรถไฟฟรี เมื่อคนมาใช้สิทธิจำนวนมากจะทำให้ซื้อเสียงยากขึ้น ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการมาศึกษาเรื่องนี้ ก็จะเป็นการคืนความสุขให้ประชาชนที่มาทำหน้าที่พลเมือง จะทำให้รากหญ้าตื่นตัวการเลือกตั้งมากขึ้น
นายประวิช กล่าวว่า สำหรับด้านกิจการการมีส่วนร่วมและการออกเสียงประชามติ การปฏิรูปในส่วนนี้นั้น ตนได้กำหนดบุคลากรที่จะมารองรับการปฏิรูปไว้ 16 เรื่อง โดยมีจุดประสงค์เดียวกันคือต้องเดินไปข้างหน้า เพราะเราเชื่อว่ากฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น