ผ่าประเด็นร้อน
ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ไม่สามารถดำเนินการถอดถอนนักการเมืองที่เคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว กรณี สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และอดีตวุฒิสมาชิก 36 คน ส่อว่าจงใจทำผิด ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 50 กรณีประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.
เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และไม่ได้รองรับโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57
แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องให้กับวุฒิสภาถอดถอนไปแล้ว แต่เมื่อวุฒิสภา ถูกสั่งให้สิ้นสภาพไปหลังจากมีการก่อรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ทุกอย่างยุติไปด้วย
ก่อนหน้านั้น วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ออกมาระบุแล้วว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับถูกยกเลิกไป ทำให้การถอดถอนคงต้องยุติไปดัวย อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (นสช.) ที่ทำหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ว่าจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาสานต่อหรือไม่ ซึ่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติรองรับเอาไว้
เมื่อไม่ได้ระบุเอาไว้ มันก็มีแนวโน้มค่อนข้างชัดแล้วว่า คงไม่อาจถอดถอนได้ คนพวกนี้ก็ลอยนวลอีกจนได้
มีคำถามว่า ทำไมต้องถอดถอนจากตำแหน่งทางการเมืองอีก ในเมื่อคนพวกนี้ก็ได้พ้นไปหมดแล้วหลังการรัฐประหาร อย่างไรก็ดี ความหมายก็คือหากมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาถดถอนต่อ ก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และยังมีผลต่อเนื่อง จนทำให้พวกเขาอาจต้องถูกลงโทษห้ามลงสู่สนามการเมืองตลอดชีวิต
เนื่องจากในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมโดยใน (4) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้คนที่เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอื่นทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด
ความหมายก็คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญให้มีบทบัญญัติที่ป้องกันไม่ให้คนที่กระทำผิดดังกล่าวเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากในมติของ ป.ป.ช.ระบุถึงการทุจริต หรือการประพฤติมิชอบเอาไว้
ก็ต้องบอกว่ามติของ ป.ป.ช.ดังกล่าวมีความหมายมากต่อบุคคลที่ถูกชี้มูลความผิด มีผลต่ออนาคตทางการเมืองในวันข้างหน้า อย่างไรก็ดี ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดใหม่ ที่กำลังได้รับการคัดเลือกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภา นั่นคือ ทำหน้าที่ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ และสมาชิกวุฒิสภา จะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาถอดถอนต่อไปหรือไม่ หากดำเนินการก็ใช้คะแนนเสียงในการลงมติ 132 เสียง ก็จะมีผลทันที
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มในเรื่องการสร้างบรรยากาศการปรองดอง ทำให้หลายคนคาดหมายเอาไว้ล่วงหน้าว่า ทุกอย่างคงหยุดอยู่กับที่ ไม่สืบสาวราวเรื่องกันต่อ แบบเลิกแล้วต่อกัน ซึ่งที่ผ่านมาถูกทำให้เห็นแบบนั้น เพราะมีการระบุให้เห็นอย่างชัดเจน ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในทำนองว่า “เป็นลักษณะของคนสองกลุ่มแตกแยกกัน หรือทะเลาะกัน” จนส่อให้เกิดความรุนแรง มีการใช้อาวุธสงครามประหัตประหารกันจนล้มตายบาดเจ็บจำนวนมาก ไม่ใช่สาเหตุมาจากความถูกกับผิด หรือรัฐบาลที่ทุจริต กับประชาชนที่ลุกฮือขึ้นมาขับไล่
หากมีการตัดสิทธินักการเมืองพวกนี้ได้ก็สามารถคัดกรองนักการเมืองทุจริตออกไปให้พ้นไปจากวงจรอุบาทว์ได้อีกจำนวนมาก
ดังนั้นต้องมาพิจารณา จับตาดูว่าจะมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้หรือเปล่า ขณะเดียวกันก็ต้องรอดูว่า พลังสังคมที่ตื่นรู้ จะกดดันให้เดินหน้าถอดถอนนักการเมืองที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมาแล้ว ให้ดำเนินการต่อให้ถึงที่สุดอย่างไร หรือ “จะปรองดองเลิกแล้วต่อกัน” อีกทั้งยังต้องพิจารณากันต่อเนื่องว่าจะมีการนิรโทษกรรมตามมาอีกหรือไม่ด้วย!!