อดีต หน.คณะศาลฎีกา ยัน สนช. มีอำนาจถอดถอนผู้ที่ ป.ป.ช. เสนอได้ใช้มติไม่น้อยกว่า 132 เสียง พ้นตำแหน่งแล้วก็ไม่รอดถูกถอดเจอแบน 5 ปี ยก ม.35 กมธ.ยกร่าง รธน. ต้องให้มีบทบัญญัติกันผู้ถูกศาลตัดสินโกงประพฤติมิชอบ ดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิต
วันนี้ (27 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกมาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่มีข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีการนิรโทษกรรม หรือการถอดถอนจากตำแหน่งบุคคลที่ถูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทุจริต ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะสามารถกระทำได้หรือไม่
นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า กรณีดังกล่าวเป็นการอ้างกันโดยไม่มีมูลความจริง เพราะมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 6 บัญญัติ ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ประกอบด้วย สมาชิกจํานวนไม่เกิน 220 คน ทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ดังนั้น สนช. ในฐานะทำหน้าที่วุฒิสภา ย่อมมีอำนาจพิจารณาถอดถอนผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติส่งให้วุฒิสภาถอดถอนได้ โดยมติให้ถอดถอนไม่น้อยกว่า 132 เสียง
ดังนั้น สนช. จึงพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช และสมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่ง ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติส่งให้วุฒิสภาถอดถอนได้ แม้บุคคลเหล่านี้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ถ้า สนช. มีมติให้ถอดถอนจะมีผลให้ไม่อาจดำรงตำแหน่งทางการเมืองในหน่วยงานของรัฐ หรือในการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี
นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 บัญญัติว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทําร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมโดยใน (4) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่ง ที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้ง ไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด หมายความว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องยกร่างให้มีบทบัญญัติที่ป้องกันมิให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย นั่นก็คือ บุคคลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนนั้น ถ้าในมติระบุว่ากระทำการโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบด้วย ก็ย่อมเข้าข่ายที่ถูกห้ามมิให้เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ด้วย