xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.รับ “ปู-สมศักดิ์-นิคม-36 อดีต ส.ว.” ส่อรอดถูกถอดถอน แต่คดีอาญายังคงอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
“วิชา” แจงคดีถอดถอนที่ ป.ป.ช. ชี้มูล 4 เรื่อง รวม “ยิ่งลักษณ์ - สมศักดิ์ - นิคม - 36 อดีต ส.ว. รธน. ชั่วคราวไม่มีบทบัญญัติรองรับ โยนหน้าที่ สนช. ดำเนินการ แต่คดีอาญายังเดินต่อไร้ปัญหา

วันนี้ (27 ก.ค.) นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กล่าวถึงความกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกรงว่าจะดำเนินการต่อไม่ได้ หลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้ และในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่มีบทบัญญัติรองรับเกี่ยวกับการถอดถอนไว้ ว่า คดีที่อยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. จะมีทั้งเรื่องการขอให้ถอดถอนตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และ ดำเนินคดีอาญา ซึ่งในส่วนของการยื่นถอดถอนนั้น ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดและส่งไปให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณาแล้ว 4 เรื่อง คือ กรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการจำนำข้าว กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. กรณี นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. และ กรณีอดีตสมาชิกวุฒิสภา 36 คน ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัตรัฐธรรมนูญ ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ 50 เมื่อรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้แล้ว และรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่มีบทบัญญัติใหม่มารองรับกระบวนการถอดถอน ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็น ส.ส. และ ส.ว. จะพิจารณาว่าสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่

นายวิชา กล่าวว่า สำหรับคดีที่ยังค้างอยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. ซึ่งมีกรณีการถอดถอนจากความผิดตามรัฐธรรมนูญ 50 รวมอยู่ด้วยก็คงต้องหารือในที่ประชุมว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร แต่ในส่วนคดีอาญาสามารถเดินหน้าได้ไม่มีปัญหา เนื่องจากเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. อยู่แล้ว

ก่อนหน้านี้ นายราเมศ รัตนะเชวง คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ และ นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว. ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า การที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการถอดถอนไว้ จะทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดส่งให้ ส.ว. ดำเนินการถอดถอนเดินต่อไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการให้อำนาจสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกี่ยวกับการถอดถอนไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น