“ยิ่งลักษณ์” โวย ป.ป.ช.ฟันจำนำข้าวรวบรัดเกินไป ฟังความข้างเดียว ตัดสิทธิพยาน วินิจฉัยทั้งๆ ที่ยังตรวจสต๊อกข้าวไม่เสร็จ แถมยื่นค้าน “วิชา” ก็ไม่ฟัง อ้างเป็นแค่คนกำกับดูแล โวยเลือกพยานมีแต่ปฏิปักษ์ ลั่นบินยุโรปไม่หนีกลับไทยแน่
วันนี้ (18 ก.ค.) เวลาประมาณ 13.30 น. ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติเอกฉันท์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมาว่า กระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นไปตามหลักนิติธรรมสากลหรือไม่ เพราะมองว่าเป็นการพิจารณาที่เร่งรีบ รวบรัด โดยแจ้งข้อกล่าวใช้เวลาเพียงแค่ 21 วัน และหลังจากนั้นก็ชี้มูลความผิดอาญาต่อดิฉัน ภายใน 140 วันซึ่ง ป.ป.ช.ไม่เคยปฏิบัติต่อคดีอื่นๆ ที่ดำเนินการต่อนักการเมืองเช่นเดียวกับการปฏิบัติต่อตน เมื่อเทียบเคียงกับการดำเนินคดีกับการโครงการประกันราคาข้าว ที่ ป.ป.ช.ใช้เวลาในการดำเนินการนานไม่น้อยกว่า 4 ปี คดี ปรส.ที่ล้าช้า โครงการทุจริตโรงพักทั่วประเทศ ป.ป.ช.กลับไม่มีความคืบหน้า ถือว่ามิได้มีบรรทัดฐานอย่างเดียวกัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ในการปฏิบัติของ ป.ป.ช.เมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ เห็นว่าคดีนี้มีพฤติการณ์รวบรัดเป็นกรณีพิเศษ คือเลือกรับฟังพยานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัวตน ตัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในการเสนอพยานบุคคลที่เป็นส่วนสาระสำคัญ ไม่รอผลการพิสูจน์เรื่องสต๊อกข้าวให้เป็นที่สิ้นสุด เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องสต๊อกข้าว ทั้งๆ ที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไปร่วมสังเกตการณ์แล้ว ไม่ไต่สวนในข้อเท็จจริง กรณีการลงบันทึกบัญชีที่ข้อแย้งและแตกต่างกันของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี และ คณะกรรมการ กขช.ให้เป็นที่สิ้นสุด กรณีไม่พิจารณาการที่ตนคัดค้านนายวิชา มหาคุณ ป.ป.ช.รวม 3 ครั้ง
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า นโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายระดับประเทศ นายกรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารเป็นเพียงผู้กำกับดูแลเท่านั้น ส่วนในระดับปฏิบัติการนั้นเป็นการทำงานของหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน เป็นไปตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจน แต่ในข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. กลับฟังความข้างเดียว ในขณะที่ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเห็นไม่ตรงกันในข้อเท็จจริง นอกจากนี้การแถลงข่าวของ ป.ป.ช.ต่อสาธารณะที่ผ่านมา ยืนยันว่า คดีในเรื่องระบายข้าวไม่เกี่ยวข้องกับตน ทำให้ไม่ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาต่อสู้ และหักล้าง แต่ในข้อวินิจฉัยในการชี้มูลกลับนำข้อเท็จจริงในคดีระบายข้าวมาชี้มูลความผิดต่อตนด้วย
อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้พยายามชี้แจงและร้องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวน และสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและเป็นธรรม แต่ ป.ป.ช.ปฏิเสธมาโดยตลอด ทั้งที่ข้อเท็จจริงอีกหลายเรื่อง เช่น ข้าวเสื่อมสภาพและข้าวหาย หน่วยงานที่ควบคุมดูแล สต๊อกข้าว ทั้งองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ได้ทำสัญญาต่างๆ กับเจ้าของคลังสินค้า และบริษัทประกัน รับผิดชอบค่าเสียหายหากเกิดกรณีข้าวสูญหาย และการเสื่อมสภาพข้าวที่ผิดปกติธรรมชาติ ดังนั้น การกล่าวอ้างเรื่องรัฐมีความเสียหายจากข้าวหาย และข้าวเสื่อมคุณภาพจึงเป็นการไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อตนในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ ตนขอตั้งข้อสังเกตว่าการกล่าวหาและการไต่สวนของ ป.ป.ช.ได้นำพยานหลักฐานและไต่สวนพยานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนและเลือกที่จะรับฟังพยานหลักฐานหรือไม่ ในขณะที่ตนได้พยายามเสนอพยานหลักฐานต่างๆ แต่ ป.ป.ช.กลับละเลยและปฏิเสธที่จะไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าตนจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะหนีคดีต่างๆ นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอยืนยันว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางส่วนตัว และมีกำหนดการไปกลับที่ชัดเจนและมีการเตรียมการล่วงหน้าแล้วก่อนที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดอย่างเร่งด่วน วันนี้ตนเป็นราษฎรเต็มขั้นแล้วควรจะมีสิทธิเสรีภาพเยี่ยงประชาชนคนไทยทั่วไป ขอยืนยันว่าจะไม่ทิ้งพี่น้องประชาชนคนไทย และพร้อมจะกลับมาสู่ประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการแถลงข่าวครั้งนี้ล่าช้ากว่าดำหนดเดิมที่แจ้งไว้เวลา 11.30 น. ราว 2 ชั่วโมง เนื่องจากในวงหารือระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และทีมทนาย มีการถกเถียงกันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควรจะแถลงข่าวเองหรือไม่ เพราะเป็นห่วงเรื่องคำสั่ง คสช. ที่ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันที่จะแถลงด้วยตนเอง เพราะต้องการชี้แจงถึงกระแสข่าวการเดินทางไปยุโรป ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเตรียมหนีคดี ทำให้ทีมทนายยอมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจและมาแถลงในที่สุด
ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงการแถลงข่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต คสช. เนื่องจากเป็นการแถลงชี้แจงต่อสังคมถึงผลกระทบที่ได้รับ และไม่ใช่เรื่องทางการเมือง ถือเป็นสิทธิส่วนตัวที่สามารถชี้แจงได้
นายพิชิต ชื่นบาน ทีมทนาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวว่า แนวทางการต่อสู้คดีหลังจากนี้ ตามหลักการยังมีเวลาอีก 14 วันที่ ป.ป.ช. จะเขียนสำนวนคดีส่งรายงาน สำเนาหลักฐานทั้งหมดต่ออัยการสูงสุด ฉะนั้นอย่าเร่งรีบ ให้เป็นไปตามขั้นตอน ทั้งนี้เมื่ออัยการได้รับแล้วต้องทำการพิจารณาดูอีกครั้งว่ามีข้อมูลสมบูรณ์หรือไม่ ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ไปรษณีย์ ถ้ายังมีข้อสงสัยสามารถแจ้งไปยัง ป.ป.ช. ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายละเท่าๆ กัน เพื่อไต่สวนในประเด็นที่กังวล โดยไม่มีกรอบเวลา ซึ่งในชั้นต่อไปเราก็ต้องพยายามนำพยาน 8 ปาก มาชี้แจง
"มั่นใจว่าจะสู้คดีในชั้นศาลได้ เราทำตามขั้นตอน ขบวนการ ในเบื้องต้นหวังขอความเป็นธรรมจากอัยการ เพราะนับจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกล่าวหา เราก็จะชี้ให้เห็นข้อไม่สมบูรณ์ว่ามีกระบวนการอะไรที่ควรได้รับความเป็นธรรม แต่อดีตนายกฯ ไม่ได้รับ มีประเด็นใดที่ ป.ป.ช. ละเลย ไม่ให้ความเป็นธรรม ควรจะฟังความสองฝ่าย ต้องฟังความฝ่ายผู้ถูกกกล่าวหาให้สิ้นกระแสความด้วย ขอว่าเวลานี้อย่ามาชี้นำว่าผิดไปแล้ว อยากให้อยู่บนเนื้อหา บ้านเมืองอยู่ในโหมดการปรองดอง ส่วนตัวคิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ คงไม่ฟ้องกลับ ป.ป.ช. เพราะท่านไม่ใช่คนเจ้าคิดเจ้าแค้น" นายพิชิตกล่าว
นายสมหมาย กู้ทรัพย์ หัวหน้าทีมกฎหมายทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงว่า ได้ติดตามข่าวสารมาตลอดว่าคดีจะมีการชี้มูลความผิดในเดือน ก.ย. แต่ไม่ทราบว่าทำไมจึงมีการชี้มูลเมื่อวันที่ 17 ก.ค. จึงมองว่า ป.ป.ช.ทำงานเร่งรีบ รวบรัด ทั้งที่ข้อเท็จจริงบางเรื่องยังไม่ได้ข้อสรุป อาทิ การตรวจสต็อกข้าว การรับจำนำต่างๆ อีกทั้งยัง คสช. ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสต็อกข้าวในที่ต่างๆ แม้แต่ ป.ป.ช. ยังลงไปตรวจสอบด้วย แต่ ป.ป.ช. กลับชี้มูลความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ทันที โดยไม่เปิดโอกาสให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โต้แย้ง
“เพื่อความเป็นธรรม ผมเชื่อว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถ้าขาดนายวิชาไปคนหนึ่งน่าจะเป็นที่ยอมรับของลูกความผมได้ เนื่องจากมีการยื่นคัดค้านนายวิชาไปหลายครั้ง ทั้งนี้มีกรรมการ ป.ป.ช. บางคนถอนตัวออกไปเพราะเขารู้ตัวว่าเขาเกี่ยวข้องอย่างไร แต่ผมก็ไม่เข้าใจแม้มีการคัดค้านนายวิชา แต่นายวิชาก็ยังทำหน้าที่อยู่ คดีนี้การที่ ป.ป.ช. เร่งรัดนั้นเป็นการกระทำที่สนองต่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 63/2557 หรือไม่ เพราะคำสั่งที่ 63/2557 คือท่านประสงค์ที่จะให้องค์กรยุติธรรมต่างๆ รวมทั้ง ป.ป.ช. ด้วยในการบังคับใช้กฎหมาย ที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ความแตกแยกในสังคม โดยต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ผมก็เลยไม่ทราบว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการสนองต่อนโยบายของคสช. หรือไม่” นายสมหมาย กล่าว