xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ให้ สนช.ตัดสินถอด 308 ส.ส.- ส.ว.หนุนพวกมีมลทินโกงห้ามลงเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (ภาพจากแฟ้ม)
ป.ป.ช. ให้ สนช. ตัดสินใจถอดถอน ส.ส.- ส.ว. ต่อหรือไม่ ยันจะส่งเรื่องให้ตามกระบวนการแล้ว เล็งเรียกถกคณะใหญ่เคาะ สนช.- สปช. โชว์บัญชีทรัพย์สิน หนุนพวกต้องมลทินคดีทุจริต ห้ามลงสมัครผู้แทน เลขาฯ ป.ป.ช. รับต้องหยุดสอบคดีถอดถอนที่เหลือ ส่วนกรณีชี้มูลแล้วขึ้นอยู่กับ สนช. เผยคดี “มาร์ค” ปมระบายข้าวชะงักด้วย

วันนี้ (28 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอแผนปฏิรูปเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติว่า (คสช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง ป.ป.ช. เป็นองค์กรกลางในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จ โดยสามารถดำเนินการทำงานเพื่อขับเคลื่อนได้ในทันทีตามที่มีแผนงานงบประมาณในการขับเคลื่อนของแต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงาน โดย ป.ป.ช. มีส่วนเข้าไปดูในการขับเคลื่อนทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สถานะของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น ยังมีผลบังคับอย่างสมบูรณ์หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. ทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนอื่นๆ หรือคนอื่นจะคิดอย่างไร เราไม่ทราบ ป.ป.ช. ทำงานเต็มสูบตามหน้าที่ แต่เมื่อเกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมาแล้วจะต้องส่งงานต่อกันอย่างไรนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อถามว่า ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ใช้อยู่ปัจจุบัน สมาชิก สนช. จะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องนำมาพูดคุยกันในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่อีกครั้ง

นายวิชา กล่าวถึงข้อกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกรงว่าจะดำเนินการต่อไม่ได้ หลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้ และในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 57 ไม่มีบทบัญญัติรองรับเกี่ยวกับการถอดถอนไว้ นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช. ทำไปตามระบบ นั่นคือ เมื่อเกิด สนช. มาแล้ว ป.ป.ช. ต้องส่งเรื่องที่พิจารณาแล้วไปให้ สนช. ส่วน สนช. จะเห็นอย่างไรต้องแล้วแต่ สนช. แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวระบุว่าหากเกิดข้อขัดแย้งเป็นเรื่องของการตีความโดย สนช. ต้องทำหน้าที่ ส่วนคดีอาญา ป.ป.ช. ยังคงดำเนินคดีไปตามปกติ

เมื่อถามถึงกรณีที่ ป.ป.ช. จะใช้สิทธิ์ในการเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า คงต้องมีการปรึกษาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง ให้ถึงเวลาก่อน

เมื่อถามว่า สปช. จะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า อย่างที่บอกแล้วว่ายังไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องดังกล่าว เมื่อถึงเวลาคงต้องมีการหารือ โดยมีวาระทั้งเรื่องการทำงาน การตรวจสอบ รวมถึงการแสดงบัญชีทรัพย์สิน เมื่อถึงเวลาแล้วค่อยว่ากัน

นายวิชา ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอของหลายฝ่ายที่ระบุว่าบุคคลที่มีคดีเกี่ยวกับการทุจริตไม่ควรมีสิทธิ์ในการลงรับสมัคร ส.ส. ว่า เรื่องนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขียนไว้เป็นแนวทาง ดังนั้น ใครมีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องไปว่ากันตรงนั้น เมื่อมีการเขียนไว้เป็นแนวทางแล้วจะต้องทำ ไม่ทำคงไม่ได้เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. คงไม่เห็นด้วยไม่ได้ เพราะเป็นหน่วยงานที่ต่อต้านการทุจริตโดยตรง

ส่วนกรณีที่ คสช. ได้มีประกาศคืนตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ โดยอ้างถึงคำสั่งศาลปกครองกลาง ว่า เรื่องนี้จะมีการนำเข้าหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในสัปดาห์หน้า ส่วนจะมีความเห็นอย่างไรอย่าเพิ่งไปพูดถึงเรื่องอนาคต เอาเรื่องปัจจุบันให้เรียบร้อยเสียก่อน

ด้าน นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกระบวนการการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยังค้างอยู่ว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นทางกฎหมายที่นักกฎหมายแสดงความเห็นไว้หลายทาง คือ นักกฎหมายบางคนบอกว่าเรื่องที่ ป.ป.ช. ส่งไปแล้วควรดำเนินการต่อไปเมื่อมี สนช. ทำหน้าที่เป็น ส.ว. แต่นักกฎหมายบางคนบอกว่ากระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น ไม่ได้มีการเขียนระบุไว้ว่า มีกระบวนการในเรื่องการถอดถอนนี้อย่างไร ดังนั้นถ้าจะมีหรือไม่มีต้องเป็นไปรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะยกร่างมาจาก สปช. ซึ่งความเห็นในทางกฎหมายยังมีความต่างกันตรงนี้

“ปรมาจารย์กฎหมายบางคนบอกว่าน่าจะเดินต่อไปเลย กระบวนการหยุดไม่ได้ ในเมื่อ สนช. ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ ส.ว. เพราะกระบวนการของ ป.ป.ช. เราเสร็จตั้งแต่ก่อนที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้ว ส่งเรื่องถอดถอนไปรออยู่ที่วุฒิสภา ซึ่งเป็นความเห็นของ ป.ป.ช. ที่เคยมีความเห็นอย่างนี้ตั้งแต่แรก ต้องให้ สนช. เป็นคนหยิบประเด็นปัญหาข้อกฎหมายนี้ขึ้นหารือ คงตอบแทนไม่ได้ว่า สนช. จะดำเนินการอย่างไรเรื่องนี้เป็นความเห็นทางกฎหมายมากกว่า” นายสรรเสริญ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า อย่างนี้ผลการชี้มูลความผิดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกถอดถอนในหลายคดีของ ป.ป.ช. จะเสียของใช่หรือไม่ นายสรรเสริญ กล่าวว่า ไม่เสียของ แต่อาจจะเสียเวลา เพราะต้องรอ สนช. หยิบขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ ส.ว. หรือไม่เช่นนั้นหากเกิดมีความกังวลเกิดขึ้นอาจจะมีการรอให้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเสียก่อน ก็จะเป็นการเสียเวลาเท่านั้นไม่ได้เสียของอย่างที่วิจารณ์

เมื่อถามว่า จะส่งผลกระทบเรื่องการถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี สำหรับผู้ที่อาจจะเตรียมตัวกลับมาลงสมัคร ส.ส. หากมีการเลือกตั้ง นายสรรเสริญ กล่าวว่า ประเด็นนี้ถือว่าเป็นผลของการพิจารณาเรื่องถอดถอน หากช้าแล้วรัฐธรรมนูญประกาศให้มีการเลือกตั้งบุคคลเหล่านั้นสามารถลงได้ แต่ถ้าวินิจฉัยได้ก่อน และมีการตัดสิทธิ์ก็จะมีผลไม่สามารถลงรับเลือกตั้งได้ ที่มีการพูดว่ากระบวนการถอดถอนต้องเดินต่อเนื่องหมายถึงผลในเรื่องนี้

นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า กระบวนการเรื่องคดีเกี่ยวกับการถอดถอนที่ค้างอยู่ใน ป.ป.ช. ยังต้องหยุดเหมือนกัน ยังไม่ได้เดินต่อ ยกเว้นคดีอาญายังดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ถ้าเป็นถอดถอนกระบวนการนี้ต้องชะลอหรือหยุดกระบวนการไต่สวนเรื่องถอดถอน โดยต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องถอดถอนที่ชี้มูลไปแล้วส่งไป ส.ว. แล้วต้องรอ สนช. ว่าจะหยิบขึ้นมาเลยหรือไม่ กับส่วนคดีถอดถอนที่อยู่ที่ ป.ป.ช. บางส่วนที่ยังไม่ได้วินิจฉัยเวลานี้กรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นว่าหยุดหรือชะลอกระบวนการก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคดีที่อยู่ใน ป.ป.ช. จะมี 2 ส่วน คือ เรื่องถอดถอนอย่างเดียวกับคดีอาญา เช่น คดี 308 ส.ส. - ส.ว. ที่ถูกชี้มูลถอดถอนและส่งเรื่องไปที่ ส.ว. แล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องรอ สนช. ส่วนคดีอาญายังดำเนินการไต่สวนต่อไป ซึ่งมีอดีต ส.ว. ทยอยเข้าให้ถ้อยคำอยู่ตลอด

เมื่อถามว่า แสดงว่าคดีถอดถอน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีถูกยื่นถอดถอนในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานร่วมกันอนุมัติให้ความเห็นชอบขายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลในราคาต่ำกว่าตลาด และเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้ส่งออกบางราย จะต้องถูกหยุดหรือชะลอไปด้วยใช่หรือไม่ นายสรรเสริญ กล่าวยอมรับว่า กระบวนการตรงนี้ต้องหยุดหรือชะลอการดำเนินการต่อ แต่ไม่เฉพาะคดีนี้เท่านั้น ทุกคดีที่เป็นการถอดถอนบางส่วนที่ค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. จะต้องหยุดด้วย และรอ สนช. หรือ สปช. ว่าจะยกร่างหรือเขียนเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งตามกรอบเวลาของ สปช. ต้องรอเป็นปี

“แต่เชื่อว่ายังไม่มีการกำหนดการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นกระบวนการถอดถอนจะต้องมาก่อนกระบวนการเลือกตั้งแน่ เพราะเลือกตั้งต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ดี” นายสรรเสริญ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น