xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.เคาะเลือกตั้งส.ส.450คน เขต250บัญชีรายชื่อ200

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (24ธ.ค.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานการประชุมได้พิจารณาถึงรายละเอียดสำคัญของกระบวนการเลือกตั้ง ที่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ที่ประชุมได้เปิดให้ กมธ.ยกร่างฯ อภิปรายในประเด็นที่ได้เตรียมนำเสนอ และรูปแบบที่นำเสนอ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), พรรคและนักการเมือง แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ โดยเฉพาะประเด็นการนับคะแนนเสียง ของประชาชนที่ต้องคำนึงถึงทุกเสียงที่ลงคะแนน และไม่ให้มีเสียงใดเสียเปล่า หรือเรียกว่าระบบนับคะแนนแบบประเทศเยอรมนี ที่ประชุมจึงได้เชิญ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี มาชี้แจง และอธิบายพร้อมตอบข้อซักถามของ กมธ.ยกร่างฯ
ทั้งนี้ กมธ.ได้สอบถามนายปริญญา อาทิ การกำหนดจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ หากไม่กำหนดให้มีจำนวนเท่ากัน จะมีปัญหาหรือไม่ นายปริญญา ตอบว่า สามารถออกแบบให้การเลือกตั้งส.ส.ทั้ง 2 แบบ มีจำนวนไม่เท่ากันได้ แต่ในระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี ที่
ออกแบบให้จำนวนส.ส. ทั้ง 2 แบบ มีจำนวนส.ส.เท่ากัน จะทำให้การคิดคะแนนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ , กรณีที่เปิดโอกาสให้ มีการเลือกตั้งส.ส.
แบบไม่สังกัดพรรคการเมือง จะทำได้หรือไม่ นายปริญญา ตอบว่า สามารถทำได้ แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาส.ส.ที่ลงสมัครแบบอิสระไม่เคยได้รับ
การเลือกเข้ามาเป็นส.ส.เลย

** กมธ.สรุปจำนวนส.ส.มี 450 คน

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมว่าที่ประชุมมีมติให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (Mixed-Member Proportionalหรือ MMP)เพื่อให้เสียงลงคะแนนของประชาชนได้ตอบสนองความต้องการของผู้มาลงคะแนนอย่างแท้จริง ทุกคะแนนเสียงถูกนับไปในการกำหนดผู้ที่จะมาเป็นผู้แทน โดยไม่สูญเปล่าแม้แต่คะแนนเดียว และตัวแทนของพรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือตัวแทนภาคประชาสังคม มีตัวแทนนั่งในสภา และมีบทบาทมากขึ้น โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีส.ส.ทั้งหมด 450 คน มาจากการเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แบบเขตเดียวคนเดียว จำนวน 250 คน โดยส.ส.1 คนต่อจำนวนประชากร 2.5 แสนคน และ แบบระบบสัดส่วนจำนวน 200 คน โดยในส่วนของระบบสัดส่วนนี้ กมธ.ยกร่างฯได้มีการพิจารณาในเบื้องต้นว่า จะกำหนดให้มีการแบ่งบัญชีสัดส่วนเป็นรายภาค จำนวน 8 ภาค ที่
แบ่งตามภูมิศาสตร์ และความใกล้กันของจังหวัด โดยไม่จำเป็นที่แต่ละภาคนั้นมีจำนวนประชากรเท่ากันหรือไม่ และผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สามารถลง
เลือกตั้งได้อย่างอิสระไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ ส.ส.สามารถมีสิทธิ และอิสระในการตัดสินใจ
สำหรับการลงคะแนน จะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือลงคะแนนเลือกส.ส.แบบแบ่งเขต และ ลงคะแนนเลือกส.ส.แบบสัดส่วนตามบัญชีรายภาค สำหรับการคิดคะแนนว่าพรรคไหนจะได้จำนวนส.ส.ทั้งหมดเท่าไร จะคิดตามคะแนนจริงที่ประชาชนลงให้กับแต่ละพรรคการเมือง ในส่วนของ ส.ส.แบบสัดส่วนตามบัญชีรายภาค โดยวิธีดังกล่าวนั้น จะไม่มีการตัดสัดส่วนขั้นต่ำเหมือนที่ผ่านมา หากพรรคใดได้คะแนนนิยมจาก ส.ส.สัดส่วนบัญชีภาคเพียงร้อยละ 1 จะทำให้พรรคนั้นได้ ส.ส. จำนวน 4 คน ทั้งนี้ประเมินด้วยว่า จะมีพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งไม่เกิน 10 พรรค
"วิธีคำนวนส.ส. เช่น มีส.ส.ทั้งหมด 450 คน คือแบบแบ่งเขต 250 และแบบสัดส่วน 250 หากพรรคได้คะแนนร้อยละ 10 ซึ่งมาจากคะแนนของส.ส.สัดส่วนที่แบ่งเป็นภาค จะทำให้มี ส.ส. 45 คน จากนั้นไปดูจำนวน ส.ส.ที่จากแบ่งเขตเลือกตั้ง หากได้เพียง 40 คน ให้นับเพิ่มจากบัญชีรายภาคอีก 5 คน เพื่อให้ให้ครบจำนวน 45 คน แต่หาก ส.ส.เขตได้เกิน 45 คน จะไม่คิดส.ส.ในแบบบัญชีรายภาคเพิ่มให้ ดังนั้นกรณีนี้บางครั้งอาจมียอดรวมส.ส.เกิน 450 คน เพราะเขาได้ส.ส.แบบแบ่งเขตเกินกว่าร้อยละของส.ส.แบบสัดส่วน โดยส่วนเกินดังกล่าว จะถือว่านับเป็นส.ส. ดังนั้น ส่วนที่เกินมาได้พิจารณาแล้วว่า จะไม่เกิน 20 -30 คน หรือเกินร้อยละ 5 จะทำให้จะได้จำนวน ส.ส.ในความเป็นจริง เท่ากับ 450
คน เป็นอย่างน้อย และมีส่วนเกินเพิ่มเข้ามา 20 -30 คน" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ รูปแบบการเลือกตั้งดังกล่าว ไม่ได้ทำให้การเมืองอ่อนแอ แต่มีเจตนาไม่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็งมากเกินไป จนยากแก่การตรวจสอบ และเพิ่มการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยวิธีดังกล่าวอาจทำให้ได้รัฐบาลผสม 2 - 3 พรรค โดยรัฐบาลที่ผ่านมา ก็เป็นแบบผสมอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลต้องมาจากเสียงข้างมากในสภา เพื่อให้เกิดเสถียรภาพของการพิจารณาร่างกฎหมาย แม้จะมีพรรคเล็กในสภา และได้จำนวน ส.ส.พรรคละ 3 - 4 คน ก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่อยู่ภาคประชาสังคม หรือพรรคเล็ก ที่ตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์ป่า เป็นต้น มีเสียงในสภามากขึ้น ดังนั้น เจตนารมณ์ของกมธ.ยกร่างฯ ต่อประเด็นนี้ คือ ต้องการให้ทุกคนมาอยู่ในสภา ดีกว่าอยู่บนถนน
สำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างอิสระ ที่ประชุมเห็นว่า จะให้กลุ่มภาคพลเมือง ภาคประชาชน หรือกลุ่มทางการเมือง เช่น กลุ่มนปช. , กลุ่มพันธมิตรฯ , กลุ่มกปปช. ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายลูกกำหนดได้ส่งบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเช่น ส.ส.ขายตัวในสภา ที่ประชุมได้หารือแล้ว เห็นว่ามีทางออกโดยเตรียมพิจารณาในการประชุมครั้งหน้า
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณาเรื่องคุณสมบัติของส.ส. แต่มีข้อพิจารณา ให้เป็นไปตามรธน.ฉบับชั่วคราว มาตรา 35 (4) ที่ระบุให้มีมาตรการป้องกัน และตรวจสอบไม่ให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการกระทำทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือ เคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ส่วนจะพิจารณาห้ามไม่ให้นักการเมืองที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง หรือไม่นั้น เบื้องต้นต้องพิจารณาพฤติกรรมที่นักการเมืองผู้นั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 237 นั้นต้องนำคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ดังนั้นประเด็นดังกล่าวต้องไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น