ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ก็ได้ข้อสรุปเบื้องต้นของการเลือกตั้งส.ส.และจำนวน ส.ส. โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนส.ส. 450 คน มีที่มาจาก 2 ระบบ คือ จากระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 250 คน ระบบบัญชีรายชื่อ 200 คน
โดยระบบแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น เป็นแบบเขตเดียวคนเดียว สัดส่วน ส.ส.1 คน ต่อจำนวนประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้ง 2.5 แสนคน ส่วนระบบบัญชีรายชื่อ จะกำหนดให้มีการแบ่งบัญชีสัดส่วนเป็นรายภาค จำนวน 8 กลุ่ม ยึดตามสภาพภูมิศาสตร์และความใกล้กันของจังหวัด โดยไม่จำเป็นว่า แต่ละกลุ่มนั้นมีจำนวนประชากรเท่ากันหรือไม่
นอกจากนี้ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สามารถลงเลือกตั้งได้อย่างอิสระ จะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้ส.ส. สามารถมีสิทธิ และอิสระในการตัดสินใจทางการเมือง
การเลือกตั้ง ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งใช้สำหรับการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต อีกใบหนึ่งใช้เลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ส่วนการนับคะแนนเลือกตั้ง ใช้ระบบใหม่ ที่เรียกกันว่าเป็นแบบประเทศเยอรมนี
การคิดคะแนนว่าพรรคไหนจะได้จำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าไร จะคิดตามคะแนนจริงที่ประชาชนลงให้กับแต่ละพรรคการเมือง ในส่วนของส.ส.แบบสัดส่วนตามบัญชีรายภาค จะไม่มีการตัดสัดส่วนขั้นต่ำเหมือนที่ผ่านมา หากพรรคใดได้คะแนนนิยมจากส.ส.สัดส่วนบัญชีภาคเพียงร้อยละ 1 จะทำให้พรรคนั้นได้ ส.ส.จำนวน 4 คน
ทั้งนี้ หลักวิธีคิดคำนวณคะแนน ยึดหลักว่า ถ้ามีส.ส.ทั้งหมด 450 คนคือแบบแบ่งเขต 250 คน และแบบสัดส่วน 200 คน หากพรรคได้คะแนนร้อยละ 10 ซึ่งมาจากคะแนนของ ส.ส.สัดส่วน ที่แบ่งเป็นภาค จะทำให้พรรคนี้มี ส.ส.ได้ 45 คน คือ 10 เปอร์เซนต์ จาก 450 จากนั้นไปดูจำนวนส.ส.ที่ได้จากระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หากได้ส.ส.เขตเพียง 40 คน ก็ให้นับเพิ่มจากบัญชีรายภาคอีก 5 คน เพื่อให้ครบจำนวน 45 คน แต่หากส.ส.เขตได้เกิน 45 คนก็จะไม่คิด ส.ส.ในแบบบัญชีรายภาคเพิ่มให้
ดังนั้นการนับคะแนนแบบนี้ อาจมียอดรวมส.ส.เกิน 450 คนก็ได้ เนื่องจากอาจมีพรรคการเมืองได้ส.ส.แบบแบ่งเขต เกินกว่าร้อยละของ ส.ส.แบบสัดส่วน โดยส่วนเกินดังกล่าวจะถือว่านับเป็นส.ส.ด้วย ซึ่งสวนที่อาจเกินมานั้นได้มีการพิจารณากันแล้วว่า จะไม่เกิน 20 -30 คน หรือเกินร้อยละ 5 ซึ่งจะทำให้จะได้จำนวนส.ส.ในความเป็นจริงเท่ากับ 450 คน เป็นอย่างน้อยและมีส่วนเกินเพิ่มเข้ามา 20 -30 คน
การที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเลือกรูปแบบการเลือกตั้งดังกล่าว เพราะมีความคิดว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเล็ก หรือภาคประชาสังคม ที่มีจำนวนส.ส.ไม่มากได้เข้ามาร่วมกิจกรรมทางการเมืองในสภา และจะไม่ทำให้การเมืองอ่อนแอ ขณะเดียวกันก็จะไม่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็งมากเกินไป จนยากแก่การตรวจสอบ
เจตนารมณ์คือ ต้องการให้ทุกคนที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในสภา ดีกว่าอยู่บนถนน
ส่วนการเปิดโอกาสให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้อย่างอิสระ ไม่ต้องสังกัดพรรคก็เพื่อจะให้กลุ่มภาคพลเมือง ภาคประชาชน หรือกลุ่มทางการเมือง เช่น กลุ่มนปช. , กลุ่มพันธมิตรฯ , กลุ่มกปปช. ได้ส่งบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมหามาตรการ แก้ปัญหาส.ส.ขายตัว ไว้ควบคุมอีกชั้นหนึ่ง
เรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.นั้น ให้เป็นไปตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ2557 ฉบับชั่วคราว ที่ระบุให้ มีมาตรการป้องกัน และตรวจสอบไม่ให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือ เคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด
ส่วนจะพิจารณาห้ามไม่ให้นักการเมืองที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ ต้องพิจารณาจากพฤติกรรมที่นักการเมืองผู้นั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 237 ซึ่งในรายละเอียด จะต้องมีการพิจารณากันอีกครั้ง
สำหรับที่มาของวุฒิสภา จะให้มีสมาชิกวุฒิสสภาจำนวนไม่เกิน 200 คน ที่มาที่มีการเสนอกันนั้น มาจาก 5 ทางได้แก่ 1. มาจากอดีตผู้นำในอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อาทิ นายกรัฐมนตรี , ประธานรัฐสภา ,ประธานศาลฎีกา เป็นต้น ทั้งนี้ต้องมีคุณสมบัติที่ไม่ขัดกับข้อกำหนด คือไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง 2 . อดีตข้าราชการระดับสูง อาทิ อดีตปลัดกระทรวง , อดีตผู้นำเหล่าทัพ 3. ประธานองค์กรวิชาชีพ หรือผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ที่มีกฎหมายรองรับ เช่น ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย , ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, แพทย์สภา 4. กลุ่มภาคประชาชน เช่น สหกรณ์การเกษตร, สหภาพแรงงาน, องค์กรภาคประชาชน โดยทั้ง 4 ช่องทางนั้น จะมาจากกระบวนการสรรหาตามสัดส่วน ที่จะกำหนดอีกครั้ง 5.ให้มีการเลือกตั้งทางอ้อม ผ่านการเลือกสรรจากสภาวิชาชีพที่หลากหลาย จากนั้นให้นำบุคคลที่ได้รับการสรรหานั้น ไปให้ประชาชนลงคะแนนรับรอง ตามจำนวน โดยวิธีการเลือกตั้งนั้น จะมีการกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังต้องมีการพิจารณาต่อไป
ในส่วนอำนาจของวุฒิสภา ที่เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา คือ 1. สามารถเสนอร่างกฎหมายได้ โดยเมื่อร่างกฎหมายผ่านชั้นวุฒิสภาแล้ว ให้ส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา 2. ให้ ส.ว. ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ก่อนจะนำความขึ้นกราบบังคมทูล , หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงาน พร้อมกับเปิดเผยการตรวจสอบให้สาธารณะได้รับทราบ โดยประเด็นการตรวจสอบนั้น มีข้อเสนอให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และ สมัชชาจริยธรรม ได้ตรวจสอบจริยธรรมของ ส.ส., รัฐมนตรี, ข้าราชการระดับสูง, องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หากพบว่ามีความผิดจริยธรรม สามารถเข้าสู่กระบวนการถอดถอนได้, 3. วุฒิสภาสามารถลงมติร่วมกับ ส.ส.ในกรณีการถอดถอนนายกฯ, รัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว. และข้าราชการระดับสูง โดยให้ใช้เกณฑ์คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา
ขณะที่อำนาจ และหน้าที่ของส.ว.เดิม อาทิ การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง , การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ, การตั้งกระทู้ถาม ให้ยังคงไว้เช่นเดิม
วาระการดำรงตำแหน่งของส.ว. ทางกรรมาธิการยังไม่ได้ข้อสรุป แต่มีการหารือกันว่า ส.ว.ไม่ควรอยู่ยาว และมีวาระเพียง 3 ปีเท่านั้น โดยประเด็นดังกล่าวจะมีการหารือกันอีกครั้ง
สำหรับที่มาของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ก็ได้ข้อสรุปแล้วเช่นกันว่าจะไม่มีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน โดยนายกรัฐมนตรี จะมีที่มาเหมือนเดิม คือมาจากการเสนอชื่อโดยสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาฯ เป็นผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่จะไม่บังคับให้นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากส.ส.เท่านั้น เพื่อเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีมาจากบุคคลภายนอก เมื่อเกิดเหตุวิกฤตทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมา
เหล่านี้คือบทสรุปเบื้องต้นของการปฏิรูปการเมือง ที่จะมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ "เรือแป๊ะ"