ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในบรรดาแม่น้ำ 5 สายเพื่อการปฏิรูปประเทศ ที่ประกอบไปด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องรับบทหนัก และเจอแรงเสียดทานมากที่สุด
เนื่องจากบทบาท หน้าที่ของ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นั้นคือ การยกร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ ที่จะใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ปกครองบ้านเมือง
ดังนั้นกติกาที่ยกร่างขึ้นใหม่ เพื่ออุดช่องว่าง รูโหว่ ของกติกาเดิมๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อคนหลายกลุ่ม หลายองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง และคนกลุ่มนี้ก็มีปากมีเสียง มีอิทธิพลที่จะโน้มน้าวคนในสังคม แม้กระทั่งภาครัฐ ให้ออกมาร่วมคัดค้านในสิ่งที่พวกเขาเสียประโยชน์
ถึงวันนี้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าได้เดินมาถึงครึ่งทางแล้ว และเรื่องที่เป็นมติของกรรมาธิการยกร่างฯ ในหลายๆเรื่อง ก็ถูกคัดค้านอย่างหนัก อาทิ
เรื่องการลดอำนาจ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เหลือเพียงกำกับดูแล ส่วนการจัดการเลือกตั้งให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.)แทน ถูกริบ"ใบแดง"ที่จะลงโทษตัดสิทธิ์คนโกงเลือกตั้ง ไปให้เป็นอำนาจของศาล ส่วนกกต.เหลือเพียงใบเหลือง คือมีอำนาจแค่สั่งให้เลือกตั้งใหม่
เรื่องการยุบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับผู้ตรวจการแผ่นดิน และตั้งเป็นองค์กรใหม่ ชื่อผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน ก็ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายคณะกรรมการสิทธิฯ และองค์กรภาคประชาชนที่เป็นเครือข่าย เพราะเห็นว่าจะส่งผลให้สิทธิของภาคประชาชนถูกลิดรอน ถูกคุกคามรังแก จากอำนาจรัฐ อำนาจทุน หนักหน่วงยิ่งขึ้น
เรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองว่าด้วยรัฐสภา จำนวน ส.ส.เขตที่ลดลง จาก 350 คนเหลือ 250 คน เพิ่มจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จาก 150 คน เป็น 200 คน โดยแบ่งกลุ่มเป็นรายภาค การนับคะแนนเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปใช้แบบเยอรมนี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 200 คน มีที่มาจาก 5 ช่องทาง คือ 1. เป็นอดีตอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อาทิ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร 2.อดีตข้าราชการสำคัญ อาทิ อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ อดีตปลัดกระทรวง 3.มาจากประธานองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ เช่น ประธานสภาหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 4.กลุ่ม
ภาคประชาชน เช่น สหภาพต่างๆ องค์กรภาคประชาชน และ 5.คัดสรรจากกลุ่มวิชาชีพที่หลากหลาย โดยใช้วิธีเลือกตั้งทางอ้อมมาจาก นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้
ประเด็นเหล่านี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองในเชิงไม่เห็นด้วยเช่นกัน นี่ขนาดยังไม่มีข้อสรุปเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ถ้าเอาตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ระบุไว้ คือผู้ที่ทุจริต ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จะไม่มีสิทธิ์ สมัครส.ส.ตลอดชีวิต รับรองว่าจะต้องมีการคัดค้านหนักหน่วงกว่านี้แน่
เรื่องการกระจายอำนาจ การยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปรับปรุงอำนาจหน้าที่ งบประมาณ ที่จะมีผลกระทบถึง กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อบจ. ก็ยังไม่มีความชัดเจน
อีกเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญ คือการเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรองดอง ขจัดความขัดแย้งของคนในชาติ ที่ผูกโยงอยู่กับกลุ่มสีเสื้อ และการนิรโทษกรรม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีบทสรุปออกมา ว่าจะเอาอย่างไร
เหล่านี้ล้วนเป็นแรงเสียดทาน ที่จะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไปไม่ถึงจุดหมายก็ได้ หรือถ้าไปถึง ก็ต้องมีการแก้ไขกันใหม่ อย่างขนานใหญ่ เพื่อให้ผ่านความเห็นชอบไปตามกระบวนการ จนถึงขั้นประกาศใช้ได้
บทบาทของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงถูกจับตา และถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด
ต่างจากบทบาทของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ถูกมองว่า เป็นสภาไม้ประดับ มีไว้เพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับคณะรัฐประหาร ว่าจะปฏิรูปประเทศใหม่ โดยฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ผ่านทางสภาปฏิรูปแห่งชาติ
แต่ในช่วงที่ผ่านมา ผลงาน และบทบาท ของสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ถูกพูดถึงในทางบวก แทบไม่มี ไม่ใช่ว่าไม่มีผลงาน แต่ผลงานหรือความเห็นของสภาปฏิรูป ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลทหาร ที่เป็นคนตั้งสภาปฏิรูปขึ้นมา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ เห็นด้วยที่จะให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ไว้ก่อน เพื่อศึกษาผลดี ผลเสีย ให้รอบคอบเสียก่อน แต่รัฐบาลไม่สนใจ ยังคงจะเดินหน้าเปิดสัมปทานตามข้อมูลที่ได้รับจากฝ่ายข้าราชการและภาคธุรกิจ นายทุน
ตามแผนงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนั้น ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยมีนายประชา เตรัตน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชลบุรี ประธานคณะกรรมาธิการ
มีการตั้งอนุ กมธ.ประจำจังหวัด 77 จังหวัด จัดเวที 1,350 แห่งทั่วประเทศ ใช้งบ 80 ล้านบาท เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
งบประมาณ 80 ล้านบาท นั้นถุกกระจายไปตามส่วนต่างๆของแผนงาน คือ 1. สำหรับการมีส่วนร่วมระดับจังหวัด 36 ล้านบาท 2. แผนงานเครือข่ายเชิงประเด็นในการจัดเวทีของ สปช. ในประเด็นข้อเสนอแนะ การยกร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นปฏิรูป 18 เรื่อง 4 ล้านบาท 3. แผนงานสื่อสาธารณะ 18 ล้านบาท 4. แผนงานรณรงค์สังคม และเวทีเชิงคุณภาพ เพื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการปฏิรูป 18 ล้านบาท 5.แผนงานสังเคราะห์ประเด็นการปฏิรูป เพื่อส่งต่อและขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นๆ 3 ล้านบาท และ 6. แผนงานประสานภายในระหว่าง กมธ.ปฏิรูป และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 1 ล้านบาท โดยแผนงานได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.57 แล้ว
ถึงวันนี้ มีการเปิดเวทีในจังหวัดต่างๆไปแล้ว 800 เวที แต่ก็เหมือเอางบไปละลายน้ำ ไม่ได้ผลอะไรกลับมาเป็นชิ้นเป็นอัน แม้แต่ นายประชา เตรัตน์ ยังยอมรับว่า 800 เวทีที่จัดไปนั้น ได้รับความสนใจ และมีส่วนร่วมจากประชาชนไม่ถึง ร้อยละ 0.1
ทางกรรมาธิการ จึงหันไปหาความร่วมมือจากสถาบันราชภัฏ 40 แห่งทั่วประเทศ เพิ่งมีการเซ็นเอ็มโอยู กันไปเมื่อ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อร่วมมือกันในการศึกษา และข้อเสนอแนะ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ด้วยการสอบถามความเห็น ในประเด็นต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
คือว่า เมื่อเปิดเวทีฟังความเห็นไม่ได้ผล ก็หันมายกหูโทรศัพท์ ถามความเห็นตามแบบฉบับการทำโพล ของราชภัฏฯ ซึ่งผลก็คงจะเป็นที่คาดหมายกันได้ว่า คงไม่ดีไปกว่าการเปิดเวทีเท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม บทบาทของสภาปฏิรูปนั้น มีหน้าที่รวมรวมความคิด แล้วเสนอออกไปยัง คสช. รัฐบาล และกรรมาธิการยกร่างฯ แต่จะถูกนำไปใช้หรือไม่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมายได้พูดชัดแล้วว่า สปช.ไม่ได้มีอำนาจเหนือรัฐบาล ดังนั้นสิ่งที่สปช. เสนอมา รัฐบาลจะทำหรือไม่ก็ได้
สภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงถูกเปรียบเป็นสภาไม้ประดับ เหมือนไม้ประดับ ที่ดูสวยงาม เมื่อยามผลิใบ ออกดอก แล้วก็โรยรา ร่วงไป ไม่มีผลให้กินได้ ฉันท์ใด ก็ฉันท์นั้น