xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยุบรวม"กก.สิทธิฯ-ผู้ตรวจ" "บอนไซ"การต่อสู้ภาคประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคประชาชนยื่นหนังสือคัดค้าน ถึงบวรศักดิ์
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในการประชุมร่วม แม่น้ำ 5 สาย ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการทำงานตามโรดแมปของคสช.นั้น แม่น้ำสายที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมมนูญ ที่มี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นหัวเรือใหญ่

เพราะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ ครอบคลุมในทุกด้าน ที่สำคัญคือต้องตอบโจทย์เรื่องการปฏิรูปประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ และเรื่องปรองดองสมานฉันท์ด้วย

กมธ.ยกร่างฯ จึงต้องแบกรับความคาดหวังของคนทั้งประเทศ ว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ มีรัฐบาลใหม่แล้ว ประเทศจะไม่วนกลับไปที่เดิม ในสภาพที่สังคมยังคงแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แย่งชิงอำนาจ ละเมิดสิทธิประชาชน มีการชุมนุมทางการเมือง และนำไปสู่ความสูญเสีย บาดเจ็บ ล้มตาย

ถึงวันนี้ การร่างรัฐธรรมนูญ รายมาตรา เดินมาได้ประมาณครึ่งทางแล้ว แน่นอนว่าข้อสรุปที่ออกมา ย่อมส่งผลกระทบกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงเริ่มมีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ ทั้งในด้านบวกและด้านลบ เพราะทุกคนต่างเฝ้ามองในลักษณะของผู้ที่มีส่วนได้ ส่วนเสีย

กระแสของเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็มีเสียงต่อต้านออกมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อกมธ.ยกร่างฯ ลดอำนาจ หน้าที่ ของกกต. เหลือเพียงแค่การกำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม แต่การจัดการเลือกตั้งให้เป็นหน้าที่ขององค์กรใหม่ ที่เรียกว่า คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เป้าหมายภารกิจของกจต. คือขจัดการซื้อสิทธิ ขายเสียง

แต่กกต. เชื่อว่า เชื่อว่า กจต. แก้ปัญหานี้ไม่สำเร็จ เพราะกจต. มาจากการแต่งตั้งของปลัดกระทรวง ซึ่งอยู่ใต้อาณัติของนักการเมือง จึงเรียกร้องให้ กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนเรื่องนี้ 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ก็มีเสียงต่อต้านออกมาจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์กรเครือข่ายที่เคลื่อนไหวในด้านการปกป้องสิทธิของประชาชน สิทธิชุมชน ไม่เห็นด้วย ที่กมธ.ยกร่างฯ มีมติให้ยุบรวม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อลดความซ้ำซ้อน แล้วใช้ชื่อใหม่ว่า คณะผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน

แผนการยุบรวมนี้ ทางฝ่ายผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่มีเสียงต่อต้าน อาจเป็นเพราะพอใจ ที่อำนาจหน้าที่ไม่ได้ลดลงไป แถมชื่อขององค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่ ยังขึ้นต้นว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" เวลาผู้คนเรียกคณะกรรมการองค์กรนี้ ก็จะเรียกกันสั้นๆ ติดปากว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทิ้งคำว่า พิทักษ์สิทธิของประชาชน ไปเลย

ในขณะที่ คณะกรรมการสิทธิฯ นอกจากจะมีผลกระทบในเรื่องอำนาจ หน้าที่ ภาพลักษณ์ แล้วยังกระทบถึงสถานภาพของบุคลากรด้วย เนื่องจากปัจจุบัน กสม.จะเป็นข้าราชการเต็มตัว แต่ผู้ตรวจการฯ จะเป็นพนักงาน ซึ่งสิทธิประโยชน์จะแตกต่างกัน

"อมรา พงศาพิชญ์" ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ทำหนังสือคัดค้าน พร้อมข้อเสนอแนะ ไปยัง "แม่น้ำทั้ง 5 สาย" แล้ว เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนในเรื่องนี้ โดยคำนึงถึง

อันดับแรก อำนาจหน้าที่ของ กสม. กับผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความแตกต่างกัน โดยกสม. ทำหน้าที่ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศ ว่าด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่ได้รับการรับรองและคุ้มครอง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับองค์กรใด การควบดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน

ส่วนที่กมธ.ยกร่างฯ อ้างว่า การควบรวมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการร้องเรียนได้ครบวงจรนั้น เห็นว่า วัตถุประสงค์ หรือเจตนารมณ์ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของสองหน่วยงาน มีความแตกต่างกัน การควบรวมจะทำให้ประชาชนเสียโอกาส และทางเลือกในการร้องเรียนต่อกสม. และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และให้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพราะทำให้เหลือช่องทางการร้องเรียนเพียงช่องทางเดียว

นอกจากนี้ยังเห็นว่า กำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่ง คณะผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรอบรู้ และประสบการณ์ ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบริหารราชการแผ่นดิน หรือ กิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติที่กว้างมาก ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้ และประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะ ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน กลายเป็นการลดความสำคัญของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยตรง

การให้องค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ มีกรรมการ 11 คน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบแต่ละคนให้ชัดเจน จะส่งผลให้การทำหน้าที่ขององค์กรใหม่ ในด้านสิทธิมนุษยชน ถูกแยกย่อยออกเป็นการพิทักษ์สิทธิในแต่ละด้าน ขาดการพิจารณาในองค์รวม ไม่สอดคล้องกับหลักการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่มีความเป็นสากลและไม่อาจแบ่งแยกได้ อีกทั้งตามร่างรัฐธรรมนูญไม่ปรากฎถึง การให้มีสำนักงานฯ ที่เป็นหน่วยงานอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นๆ ที่จะทำให้ การบริหารงานขององค์กร เป็นไปโดยอิสระ

กล่าวโดยรวมคือ การควบรวมครั้งนี้ จะส่งผลให้บทบาทด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย ถูกลดทอนความสำคัญลง เสมือนไปเป็นองคาพยพส่วนหนึ่งของผู้ตรวจการฯเท่านั้น

มีการวิเคราะห์ วิจารณ์กันว่า ฝ่ายรัฐ มองว่า บทบาทที่ผ่านมาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผูกติดอยู่กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเอ็นจีโอ ที่ค้านทุกเรื่อง ภาครัฐจะดำเนินโครงการอะไรก็ตามแต่ รวมทั้งการจะที่รัฐจะให้สัมปทานภาคเอกชนทำอะไรเพื่อหารายได้ จะถูกนักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้นำมวลชนออกมาคัดค้านโดยตลอด ทำให้การดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐต้องหยุดชะงัก เสียเวลา ยืดเยื้อ เกิดการเผชิญหน้า จึงเป็นที่มาของการลดบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลง 

แต่ถ้ามองในมุมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็จะอธิบายได้ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลที่ได้อำนาจบริหารมาไว้ในมือ แล้วทำตัวเป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของผืนแผ่นดิน เจ้าของผืนป่า เจ้าของแม่น้ำลำคลอง เจ้าของชายหาด และทะเล นึกจะทำอะไรก็ทำ จะหาประโยชน์อะไรก็ทำ โดยไม่คิดว่าไปละเมิดสิทธิของประชาชนที่ อยู่อาศัย ทำมาหากินอยู่เดิม ซึ่งประชาชนเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน เมื่อถูกละเมิดสิทธิ ก็เหมือนคนไม่มีสิทธิ มีเสียง ไม่รู้ข้อกฎหมาย จะไปเรียกร้องโดยลำพังก็ไม่มีพลังพอที่จะไปต่อสู้กับฝ่ายรัฐ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เข้ามาช่วยปกป้อง คุ้มครองไม่ให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ

อย่างไรก็ตาม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่า ก่อนที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้ฟังความคิดเห็นจากประชาชน กลุ่มต่างๆ ความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนมาพิจารณาหาข้อยุติ เมื่อทำการยกร่างไปแล้ว ระหว่างนี้ ไม่ว่าเรื่องใดที่ประชาชน หรือกลุ่มองค์กรใด เห็นว่าเนื้อหาที่ได้ยกร่างไปนั้น มีความไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ต้องการคัดค้าน ก็สามารถส่งความคิดเห็นมาได้ จนถึงวันที่ 23 ก.ค. 58 ซึ่งเป็นวัน
สุดท้าย
 
เพราะ"โรดแมป" ที่คสช. ให้เป็นโจทย์มาคือ ทำอย่างไรให้อีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยต้องมีความมั่งคั่ง ยั่งยืน ความขัดแย้งหมดไป เมื่อใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้


อมรา พงศาพิชญ์  ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น