xs
xsm
sm
md
lg

วิษณุแจงประเด็นร้อนกสม.-กกต. ร่างรธน.ยังปรับเปลี่ยนเนื้อหาได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณี คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ข้อสรุปที่จะควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นองค์กรเดียวกันว่า 2 องค์กรนี้ ทำงานแตกต่างกัน และมีวัฒนธรรมต่างกัน โดย กสม.ทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของประชาชน ปัจจุบันต้องยอมรับว่า มีหลายเรื่อง และมีกฎหมายหลายฉบับที่ส่งผลให้มีการละเมิดสิทธิประชาชนที่ถูกรังแกจากอำนาจรัฐ และอำนาจทุน ในขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะดูในข้อกฎหมายว่า มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ จึงไม่แน่ใจว่า หากรวม 2 องค์กรนี้เข้าด้วยกัน จะเป็นการลดทอนส่วนของกสม. ที่จะตรวจสอบการละเมิดสิทธิของหน่วยงานรัฐ ที่มีต่อประชาชนลงหรือไม่ และจะไม่สามารถดูแลประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์ จึงคิดว่า น่าจะมีการทบทวน และน่าจะรับฟังความเห็นจากคนที่ทำงานมาเป็นแนวทางในการตัดสินใจอีกครั้ง ทั้งนี้ ตนก็เห็นใจ กมธ.ยกร่างฯ ที่อาจจะต้องรีบทำงาน จึงทำให้การออกแบบองค์กรเหล่านี้ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของภารกิจในความเป็นองค์กรนั้น
"เหมือนเราบอกว่า ตำรวจกับทหาร เหมือนกันหรือไม่ อุปมาอุปไมย ทำนองเดียวกัน เนื่องจากเป็นแนวทางที่มีความแตกต่างกัน พอรวมกันแล้ว จะไม่ได้อะไรเลย เพราะบทบาทหน้าที่ต่างกัน จะทำให้ได้องค์กรที่เป็นกึ่งๆ กลางๆ และไม่สามารถที่จะพัฒนาสู่สิ่งที่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์หลักได้ อาจจะไปดูแบบต่างประเทศที่นำ 2 องค์กรนี้มารวมกัน แต่เราต้องดูว่า สภาพของแต่ละประเทศต่างกัน ประเทศไทยยังมีกฎหมายจำนวนมาก ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่กระบวนการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ก็ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก เช่น กรณีการทำเหมืองทอง ซึ่งละเมิดสิทธิของประชาชนค่อนข้างมาก แต่หน่วยงานราชการ แทบจะไม่ได้ดูประชาชน ซึ่ง กสม.จึงจำเป็นต้องเข้ามาคุ้มครองประชาชน แต่ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ได้ลงมาดูในเรื่องนี้ แต่จะดูตามข้อกฎหมาย เหมือนสมัยก่อนกสทช.ที่พยายามรวมทีวีกับโทรคมนาคม ลองดูว่าทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่" น.ส.วรสนา กล่าว
**กมธ.ยังไม่ปิดรับฟังความเห็น
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวยืนยันว่า การยุบรวมกสม. กับผู้ตรวจการแผ่นดิน มีเหตุผลเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้ยุบองค์กรใดองค์กรหนึ่ง และนักวิชาการก็ได้ทำการศึกษาแล้วว่า มันซ้ำซ้อนกัน เช่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็มาทำเรื่องสิทธิด้วย โดยกรรมาธิการมองว่า ถ้าแยกกันต่อไปก็จะมีปัญหา คือหนึ่งซ้ำซ้อนทำให้ประชาชนไปฟ้องทั้งสองหน่วยงาน สองมีบุคคลากรน้อย ต้องส่งกำลังไปดูเรื่องเดียวกัน ในแง่การบริการไมได้ประโยชน์ ถ้ามารวมกันก็จะเป็นวันสต็อปเซอร์วิส บุคลากรก็จะมากขึ้น อำนาจไหนที่ซ้ำซ้อนก็ให้คงอยู่ แล้วเพิ่มขึ้นมาให้สอดรับ จะทำให้องค์กรเป็นขนาดกลางขึ้น แต่มีเอกภาพมีกำลังมากขึ้น แต่ก็มีข้อเสีย คือ ไม่มีองค์กรไหนพอใจให้เอามารวมกัน ซึ่งในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้อำนาจกรรมาธิการยกร่างฯ พิจารณารวมหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนได้
ส่วนกระแสเรียกร้องให้มีการทบทวนการร่างรัฐธรรมนูญในบางมาตรานั้น นายไพบูลย์ ยืนยันว่า ที่ผ่านมากรรมาธิการยกร่างฯ ก็มีการย้อนกลับไปพิจารณาร่างใหม่ อย่างเช่น กรณีสื่อที่มีเสียงวิจารณ์ว่าการห้ามสื่อไม่ให้ลงเรื่อง "เฮดสปีช" หรือเขียนจำกัดไว้ห้ามเสนอข่าวรุนแรง ทำให้สื่อทำงานไม่ได้ เราก็ยอมทบทวนแก้ไข
"เราก็ฟังทุกเสียงอยู่แล้ว แต่ก็รู้ว่าแต่ละคนก็อยากเสนอความเห็นของตัวเองมาให้ไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เขาไม่รู้ว่าความเห็นหลากหลาย มันขัดแย้งกันเองก็เยอะ บางคนบอกว่าควรจะไปซ้าย หรือไม่ขวา หรือไปตรงกลาง เราก็เอามาอ่านด้วย แต่เราก็ยึดหลักการและเหตุผลเป็นสำคัญในการร่าง แม้แต่ในกรรมาธิการฯเองก็ยังมีความเห็นหลากหลายในแต่ละเรื่อง กว่าจะร่างขึ้นมารายมาตรา ก็มีการอภิปรายกันยาวนาน"
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในวันที่ 9 ม.ค. คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะมีการส่งหัวข้อการปฏิรูปไปยังคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 ชุด ให้เสนอข้อปฏิรูปที่เป็นหัวใจจริงๆ มายังกรรมาธิการยกร่างฯภายใน วันที่ 13 ม.ค. เพื่อกรรมาธิการยกร่างฯจะได้นำไปพิจารณาในสัปดาห์ต่อไป หากสิ่งที่เสนอมามีความชัดเจนและเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ต้องวางไว้ในรัฐธรรมนูญ เราก็อาจจะเห็นด้วย
ส่วนเรื่องทบทวน อย่าลืมว่าที่เรายกร่างอยู่นั้น เป็นรายมาตราแบบคร่าวๆ เพื่อให้เดินหน้าไปได้ เมื่อร่างเสร็จแล้ว เรามีการทบทวนเป็นระยะ ทบทวนแล้วถ้ายังยืนยันต่อ ก็ได้ประกาศใช้ทันที แต่ต้องส่งไปให้แม่น้ำ 5 สาย พิจารณาอีกครั้ง ถ้าเห็นว่ามันไม่ถูก ก็เขียนแก้มา เช่นรวมหรือไม่รวมกสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ถ้าหน่วยงานต่างๆ เห็นว่าจะต้องแยกก็ให้เสนอแก้มา เราก็จะพิจารณาอีกครั้งแล้วมีความเห็นอย่างไรก็จะเป็นการร่างครั้งสุดท้าย
"เรายังมีเวลา 60 วัน นับจากเขาส่งความเห็นต่างๆ กลับมาในการพิจารณาแก้ไขทบทวนมาตราต่างๆ อยากให้สังคมเข้าใจในขั้นตอนที่เราทำว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติไว้ หากมีองค์กรไหนไม่พอใจ แล้วมายื่นหนังสือให้เปลี่ยนตามที่ต้องการ ก็ไม่จำเป็นต้องมีกรรมาธิการยกร่างฯ แต่ยืนยันว่า เราให้ความสำคัญกับทุกความเห็นที่เสนอมา ไม่ได้ก้มหน้าก้มตาเขียนอย่างเดียว"
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากข้อเสนอที่ส่งกลับมาเป็นความเห็นแย้งกับบางมาตราที่กรรมาธิการร่างไปแล้ว จะต้องมีการทบทวนใหม่ หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า สิ่งที่เราให้เสนอมาเป็นประเด็นปฏิรูปเป็นหลัก ที่จะต้องดำเนินการต่อจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว หากใครไม่เห็นด้วย เช่น ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน ก็ต้องรอให้กรรมาธิการยกร่างฯ เสนอตัวร่างกลับไปเพื่อทำการเสนอแก้ไขพร้อมรายชื่อสมาชิก สปช.20 คน
นายไพบูลย์ กล่าวว่าที่ผ่านมาการทำงานของแม่น้ำ 5 สาย มีการประสานงานให้สอดรับกันตลอด เช่น ประเด็นกฎหมายป.ป. ช. ทางสนช.ก็มีการหารือกับกรรมาธิการยกร่างฯ โดยทางกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ส่งความเห็นไปว่าควรแก้ไขเฉพาะบางมาตรา โดยเว้นบางมาตราไว้ เพื่อรอให้รัฐธรรมนูญใหม่มีการประกาศใช้ก่อน ซึ่งก็มีความเห็นตรงกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเดิน หรือ กฎหมาย กสทช. ที่กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ส่งไปให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อพิจารณา ขณะเดียวกันก็มีการส่งไปให้ สนช. พิจารณาควบคู่กันไปด้วย หากในอนาคตต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม ก็สามารถทำได้ และยังมีวิปแม่น้ำ 5 สาย มาประสานงานกันอีก


**ยังปรับเนื้อหาร่างรธน.ได้ตลอด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง แม่น้ำทั้ง 5 สาย เพื่อตั้งข้อสังเกตต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของกรรมธิการ (กมธ.) ยกร่างฯ ในบทบาท อำนาจหน้าที่ที่ลดลงของกกต. และให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) จัดการเลือกตั้งแทนว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการยกร่าง เขาก็พยายามทำให้โปร่งใส ตอนนั่งประชุมก็ให้ผู้สื่อข่าวมานั่งฟัง ประชุมเสร็จก็จัดแถลงข่าว และส่งร่างไปให้หลายๆฝ่าย ตนเองก็ได้รับอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อรับฟังความคิดเห็น และบางมาตรา บางเรื่อง ในร่างฉบับที่ตนได้รับ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พอมาสัปดาห์นี้พิจารณาเลยไปหลายมาตราแล้ว แต่พอย้อนไปดูมาตราเก่าๆ ก็ไม่เหมือนที่เคยเห็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงว่าช่วง 7 วันนั้น กมธ.ก็มีแก้ไขไปแล้ว ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า เขาสามารถปรับปรุงแก้ไข ได้ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงช่วงกลางเดือนเม.ย. ที่จะครบกำหนด 120 วัน ว่าต้องร่างเสร็จ
ตอนนั้น รัฐธรรมนูญก็เกือบสมบูรณ์ หรือจะเรียกว่า สมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังแก้ไขได้ เมื่อนั้นจะต้องเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ซึ่งรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว บังคับต้องส่งให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ขอให้ส่งร่างให้ด้วย ซึ่งความคิดเห็นก็จะหลั่งไหลกลับไป อย่างเป็นทางการ และ สปช. ต้องเปิดประชุม และมีมติรับ หรือไม่รับ และกมธ.ยกร่างฯ ต้องรับไปแก้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อได้ดูเนื้อหาที่เกี่ยวกับ กจต. หรือแม้แต่ กกต. เห็นควรเสนอแนะอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงขอบอกเขา อย่ามาบอกคุณเลย ถ้าบอกคุณเมื่อไหร่ ไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว บอกเขาดีกว่า เขากลัวที่สุดคือ พูดผ่านสื่อ เมื่อถามต่อว่า กมธ.ยกร่างฯ รธน.ควรเชิญตัวแทนองค์กรอิสระ เข้าร่วมพิจารณาแต่ละประเด็น เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เช่น กรณี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ที่จะควบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่เรียกเป็นความขัดแย้ง เมื่อจะร่างอะไรใหม่ แล้วจะปฏิรูป มันต้องมีความแตกต่างจากของเดิมเป็นธรรมดา ถ้าดูให้ดี ทุกเรื่องมีความแตกต่างหมด กกต. ก็ได้รับผลกระทบ ป.ป.ช. ก็ได้รับผลกระทบในการจะปฏิรูป แม้แต่รัฐบาล ส่วนใครจะเห็นอย่างไรก็บอกไป ซึ่งไม่เป็นปัญหาอะไร ตนคิดว่า กกต.ทำถูกด้วยซ้ำ กสม.ก็ทำถูก เพราะในเมื่อคิดว่าไม่ถูก ตัวก็ต้องบอกไป คงไม่ใช่ กมธ.ยกร่างฯไปเปิดศึกกับคนรอบทิศ
"ผมเคยทำงานปฏิรูปมาก่อน ก็ไม่คิดว่าไปเปิดศึก เพราะสุดท้าย ก็พูดกันด้วยเหตุด้วยผล ถ้าไม่เปลี่ยนอะไรเลย หรือยอมทำตามมันก็ไม่รู้ปฏิรูปไปทำไม" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า คำว่า ปฏิรูป แปลว่าเปลี่ยนรูปแบบใหม่ การเปลี่ยนมันทำให้คนที่เคยชินกับอะไรก็ตาม ต้องได้รับผลกระทบ และไม่พอใจเคยมีฝรั่งพูดไว้ว่า ใครที่ทำเรื่องปฏิรูป ไม่มีวันป๊อปปูล่าร์ไปได้ เพราะมันไปทวนกระแสในสิ่งที่เขาเคยชิน การปฏิรูประบบราชการ 10 ปีที่แล้ว บางคนอยู่เชียงใหม่ พอปฏิรูป ต้องย้ายไปสุไหงโก-ลก บางคนจะขึ้นอธิบดี ถึงเวลามีการยุบกรมนั้นเลยไม่ได้เป็น บางคนไม่มีวันได้เป็นอธิบดี แต่พอตั้งกรมใหม่เลยได้เป็น ผลกระทบมันต้องเกิดทั้งนั้น แต่ในเมื่อจะปฏิรูปมันก็ต้องยอม ต่อปัญหาคือว่า ต้องให้คนที่ได้รับผลกระทบมาชี้แจงเหตุผลและชั่งน้ำหนักกัน
**รับฟังความเห็นถึง 23ก.ค.
นายคำนูญ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่าง (กมธ.) รัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่าบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เป็นมติของกมธ.แล้ว ก็ยังไม่ถือว่าเสร็จสิ้น หากจะถึงขั้นแก้อะไรไม่ได้แล้วคือนับจากวันที่ 23 ก.ค.ไปแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังสามารถทบทวนเปลี่ยนแปลงได้ในทุกเรื่อง การที่เราตกลงในหลักการที่จะร่างบทบัญญัติรายมาตราไปแถลงความคืบหน้าไป

สำหรับวัตถุประสงค์คือต้องการให้สังคมเห็นว่าเราทำงานอย่างเปิดเผยโปร่งใส หากท่านไม่เห็นด้วยหรือเห็นเพิ่มเติมประการใดก็ส่งความคิดเห็นเข้ามาได้ เราก็รับฟัง หากมีความคิดเห็นที่หนักแน่นไปในทางเดียวกันมากพอสมควร เราก็จะทบทวน ก่อนที่จะเสร็จร่างแรกและส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 17 เมษายน

"ถึงแม้ว่าจะส่งร่างในวันที่ 17 เมษายนไปแล้ว ก็ยังคงรับฟังความคิดเห็นอยู่ เพราะกมธ.ตอนนั้นก็ต้องรับฟังทั้ง ครม. คสช. สปช. ด้วย และนำกลับมาทบทวนครั้งสุดท้ายหลังมีร่างแก้ไข คือ 25 พฤษภาคม - 23 กรกฎาคม ตรงนี้คือช่วงตัดสินใจสุดท้าย พูดกันตามหลักการคือว่า ตราบใดที่ยังไม่ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม ทุกอย่างมีโอกาสจะนำมาทบทวนเปลี่ยนแปลงได้" นายคำนูณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น