“สปช.รสนา” มอง กสม.-ผู้ตรวจฯ งานต่างกัน ห่วงควบรวมกระทบดูแลปชช. แนะทบทวนฟังคนทำงาน “ไพบูลย์” แจงกมธ.ยกร่างฯ ยึดประโยชน์ ปชช.ทำองค์กรแข็งแรงมีเอกภาพ ยันฟังทุกเสียง ยอมทบทวนหากมีเหตุผลและทำมาตลอด ชี้ ยกร่างเสร็จทบทวนได้อีก ยกแม่น้ำ 5 สายประสานกันตลอด เตรียมส่งหัวข้อปฏิรูปให้ กมธ.18 ชุดเคาะแนวทาง
วันนี้ (8 ก.พ.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญข้อสรุปที่จะควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรเดียวกันว่า 2 องค์กรนี้ทำงานแตกต่างกันและมีวัฒนธรรมต่างกัน โดย กสม.ทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของประชาชน ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีหลายเรื่องและมีกฎหมายหลายฉบับที่ส่งผลให้มีการละเมิดสิทธิประชาชนที่ถูกรังแกจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน ในขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะดูในข้อกฎหมายว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ จึงไม่แน่ใจว่าหากรวม 2 องค์กรนี้เข้าด้วยกันจะเป็นการลดทอนส่วนของ กสม.ที่จะตรวจสอบการละเมิดสิทธิของหน่วยงานรัฐที่มีต่อประชาชนลงหรือไม่ และจะไม่สามารถดูแลประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์ จึงคิดว่าน่าจะมีการทบทวน และน่าจะรับฟังความเห็นจากคนที่ทำงานมาเป็นแนวทางในการตัดสินใจอีกครั้ง ทั้งนี้ ตนก็เห็นใจ กมธ.ยกร่างฯที่อาจจะต้องรีบทำงาน จึงทำให้การออกแบบองค์กรเหล่านี้ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของภารกิจในความเป็นองค์กรนั้น
“เหมือนเราบอกว่าตำรวจกับทหารเหมือนกันหรือไม่ อุปมาอุปไมยทำนองเดียวกัน เนื่องจากเป็นแนวทางที่มีความแตกต่างกัน พอรวมกันแล้วจะไม่ได้อะไรเลย เพราะบทบาทหน้าที่ต่างกัน จะทำให้ได้องค์กรที่เป็นกึ่งๆกลางๆและไม่สามารถที่จะพัฒนาสู่สิ่งที่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์หลักได้ อาจจะไปดูแบบต่างประเทศที่นำ 2 องค์กรนี้มารวมกัน แต่เราต้องดูว่าสภาพของแต่ละประเทศต่างกัน ประเทศไทยยังมีกฎหมายจำนวนมากที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่กระบวนการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการก็ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก เช่นกรณีการทำเหมืองทอง ซึ่งละเมิดสิทธิของประชาชนค่อนข้างมาก แต่หน่วยงานราชการแทบจะไม่ได้ดูประชาชน ซึ่งกสม.จึงจำเป็นต้องเข้ามาคุ้มครองประชาชน แต่ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ลงมาดูในเรื่องนี้ แต่จะดูตามข้อกฎหมาย เหมือนสมัยก่อนกสทช.ที่พยายามรวมทีวีกับโทรคมนาคม ลองดูว่าทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่” น.ส.รสนากล่าว
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช.ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวยืนยันว่า การยุบรวม กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดินมีเหตุผลเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้ยุบองค์กรใดองค์กรหนึ่งและนักวิชาการก็ได้ทำการศึกษาแล้วว่ามันซ้ำซ้อนกัน เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินก็มาทำเรื่องสิทธิด้วย โดยกรรมาธิการมองว่าถ้าแยกกันต่อไปก็จะมีปัญหา คือหนึ่งซ้ำซ้อนทำให้ประชาชนไปฟ้องทั้งสองหน่วยงาน สองมีบุคลากรน้อย ต้องส่งกำลังไปดูเรื่องเดียวกัน ในแง่การบริการไมได้ประโยชน์ ถ้ามารวมกันก็จะเป็นวันสตอปเซอร์วิส บุคลากรก็จะมากขึ้น อำนาจไหนที่ซ้ำซ้อนก็ให้คงอยู่ แล้วเพิ่มขึ้นมาให้สอดรับ จะทำให้องค์กรเป็นขนาดกลางขึ้นแต่มีเอกภาพมีกำลังมากขึ้น แต่ก็มีข้อเสียคือไม่มีองค์กรไหนพอใจให้เอามารวมกัน ซึ่งในรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้อำนาจกรรมาธิการยกร่างฯ พิจารณารวมหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนได้
ส่วนกระแสเรียกร้องให้มีการทบทวนการร่างรัฐธรรมนูญในบางมาตรานั้น นายไพบูลย์ยืนยันว่า ที่ผ่านมากรรมาธิการยกร่างฯก็มีการย้อนกลับไปพิจารณาร่างใหม่ อย่างเช่นกรณีสื่อที่มีเสียงวิจารณ์ว่าการห้ามสื่อไม่ให้ลงเรื่องเฮตสปีด หรือเขียนจำกัดไว้ห้ามเสนอข่าวรุนแรง ทำให้สื่อทำงานไม่ได้ เราก็ยอมทบทวนแก้ไข
“เราก็ฟังทุกเสียงอยู่แล้ว แต่ก็รู้ว่าแต่ละคนก็อยากเสนอความเห็นของตัวเองมาให้ไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เขาไม่รู้ว่าความเห็นหลากหลายมันขัดแย้งกันเองก็เยอะ บางคนบอกว่าควรจะไปซ้าย หรือไม่ขวา หรือไปตรงกลาง เราก็เอามาอ่านด้วย แต่เราก็ยึดหลักการและเหตุผลเป็นสำคัญในการร่าง แม้แต่ในกรรมาธิการฯเองก็ยังมีความเห็นหลากหลายในแต่ละเรื่อง กว่าจะร่างขึ้นมารายมาตราก็มีการอภิปรายกันยาวนาน”
นายไพบูลย์กล่าวว่า ในวันที่ 9 ม.ค. คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะมีการส่งหัวข้อการปฏิรูปไปยังคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 ชุด ให้เสนอข้อปฏิรูปที่เป็นหัวใจจริงๆมายังกรรมาธิการยกร่างฯภายในวันที่ 13 ม.ค. เพื่อกรรมาธิการยกร่างฯ จะได้นำไปพิจารณาในสัปดาห์ต่อไป หากสิ่งที่เสนอมามีความชัดเจนและเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ต้องวางไว้ในรัฐธรรมนูญเราก็อาจจะเห็นด้วย
ส่วนเรื่องทบทวนอย่าลืมว่าที่เรายกร่างอยู่นั้นเป็นรายมาตราแบบคร่าวๆ เพื่อให้เดินหน้าไปได้ เมื่อร่างเสร็จแล้วเรามีการทบทวนเป็นระยะ ทบทวนแล้วถ้ายังยืนยันต่อก็ได้ประกาศใช้ทันทีแต่ต้องส่งไปให้แม่น้ำ 5 สายพิจารณาอีกครั้ง ถ้าเห็นว่ามันไม่ถูกก็เขียนแก้มา เช่น รวมหรือไม่รวม กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ถ้าหน่วยงานต่างๆเห็นว่าจะต้องแยกก็ให้เสนอแก้มา เราก็จะพิจารณาอีกครั้งแล้วมีความเห็นอย่างไรก็จะเป็นการร่างครั้งสุดท้าย
“เรายังมีเวลา 60 วันนับจากเขาส่งความเห็นต่างๆ กลับมาในการพิจารณาแก้ไขทบทวนมาตราต่างๆ อยากให้สังคมเข้าใจในขั้นตอนที่เราทำว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติไว้ หากมีองค์กรไหนไม่พอใจแล้วมายื่นหนังสือให้เปลี่ยนตามที่ต้องการก็ไม่จำเป็นต้องมีกรรมาธิการยกร่างฯ แต่ยืนยันว่าเราให้ความสำคัญต่อทุกความเห็นที่เสนอมาไม่ได้ก้มหน้าก้มตาเขียนอย่างเดียว”
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากข้อเสนอที่ส่งกลับมาเป็นความเห็นแย้งกับบางมาตราที่กรรมาธิการร่างไปแล้วจะต้องมีการทบทวนใหม่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า สิ่งที่เราให้เสนอมาเป็นประเด็นปฏิรูปเป็นหลักที่จะต้องดำเนินการต่อจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว หากใครไม่เห็นด้วยเช่น ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน ก็ต้องรอให้กรรมาธิการยกร่างฯ เสนอตัวร่างกลับไปเพื่อทำการเสนอแก้ไขพร้อมรายชื่อสมาชิก สปช.20 คน
นายไพบูลย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานของแม่น้ำ 5 สายมีการประสานงานให้สอดรับกันตลอด เช่น ประเด็นกฎหมาย ป.ป.ช. ทาง สนช.ก็มีการหารือกับกรรมาธิการยกร่างฯ โดยทางกรรมาธิการยกร่างฯได้ส่งความเห็นไปว่าควรแก้ไขเฉพาะบางมาตรา โดยเว้นบางมาตราไว้เพื่อรอให้รัฐธรรมนูญใหม่มีการประกาศใช้ก่อน ซึ่งก็มีความเห็นตรงกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเดิน หรือ กฎหมาย กสทช.ที่กรรมาธิการยกร่างฯได้ส่งไปให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อพิจารณา ขณะเดียวกันก็มีการส่งไปให้ สนช.พิจารณาควบคู่กันไปด้วยหากในอนาคตต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ และยังมีวิปแม่น้ำ 5 สายมาประสานงานกันอีก