xs
xsm
sm
md
lg

กสม.โวย กมธ.ยกร่างฯ เขียนยุบรวมผู้ตรวจฯ ยันหน้าที่ต่างกัน พร้อมโร่แจงข้อดี-เสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“กรรมการสิทธิมนุษยชน” ออกแถลงการณ์ท้วง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยุบรวมผู้ตรวจการแผ่นดิน สื่อความหมายรัฐให้ความสำคัญคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่างจากเดิม ยันหน้าที่ต่างจากผู้ตรวจฯ แถมวินิจฉัยไม่เหมือนกัน พร้อมแจกแจงข้อดี-เสียให้ฟัง

วันนี้ (30 ม.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ท้วงติงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรณีจะควบรวมคณะกรรมการสิทธิฯ เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเห็นว่าแนวคิดที่จะพิจารณาเรื่องการควบรวมคณะกรรมการสิทธิฯ กับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกันนั้นอาจสื่อความหมายว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชนแตกต่างไปจากเดิม เพราะอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีลักษณะที่ชัดเจน แตกต่างจากองค์กรอื่น โดยคณะกรรมการสิทธิฯ มีหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ หรือตามกฎหมายไทย หรือดำเนินงานให้เป็นไปตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม และเป็นไปตามหลักการปารีส (Paris Principle) รวมถึงเสนอแนะนโยบาย ข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นใดด้านสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ขอบเขตงานของคณะกรรมการสิทธิฯ มุ่งไปที่การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนเป็นที่ตั้ง และมีหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกกรณีไม่ว่าผู้กระทำละเมิดจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานใด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนก็ตาม และไม่จำกัดว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานดังกล่าวนั้นจะชอบด้วยกฎหมาย แต่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ย่อมอยู่ในขอบเขตการทำหน้าที่ของกรรมกาารสิทธิฯ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำ ซึ่งไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และไม่มีองค์กรอื่นตรวจสอบ นอกจากคณะกรรมการสิทธิฯ เท่านั้น โดยเป็นไปตามกลไกของสหประชาชาติ

ส่วนกรณีที่ระบุถึงความซ้ำซ้อนระหว่างคณะกรรมการสิทธิฯและผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นเรื่องขั้นตอน วิธีการในการตรวจสอบข้อร้องเรียน ถึงแม้ว่าจะดูเสมือนหนึ่งว่ามีความคล้ายคลึงกันในทางสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน แต่การทำหน้าที่ดังกล่าว มิได้ซ้ำซ้อนกันในเรื่องของอำนาจหน้าที่ตามภารกิจแต่อย่างใด อีกทั้งการทำหน้าที่ขององค์กรทั้งสองในการตรวจสอบนั้นจะก่อให้เกิดผลดีที่ทุกคำร้องเรียนจะได้รับการตรวจสอบในบริบทและมิติที่แตกต่างกัน ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าควรควบรวมสององค์กรดังกล่าวเข้าด้วยกันหรือไม่ ไม่ควรนำวิธีการทำงานของแต่ละองค์กรมาเป็นเหตุผลในการสรุปว่ามีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เพราะแม้ว่าทั้งสององค์กรจะมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน แต่เป้าหมายในการตรวจสอบหรือการวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อีกทั้งย่อมเป็นผลดีต่อสังคมและประชาชนที่จะพึงได้รับประโยชน์จากการทำหน้าที่ที่แตกต่างกันดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นหน่วยงานอิสระที่มีโครงสร้างเป็นราชการ มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของ และฐานะองค์กรไม่ขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) หรือฝ่ายอื่นใดทั้งสิ้น และได้มุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ส่วนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานอิสระที่มีพนักงานของรัฐในการสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนั้นการบริหารจัดการองค์กรบุคลากร โดยรวมสำนักงานทั้งสองเข้าด้วยกัน อาจมีกรณีที่เป็นปัญหาในการบริหารจัดการซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรคนละรูปแบบ

“คณะกรรมการสิทธิฯ ยินดีที่จะส่งผู้แทนไปร่วมเสนอข้อมูลและความเห็นในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียในการควบรวมองค์กรดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิฯ เห็นด้วยว่าควรจะได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็วอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม เป็นที่คาดหวังและเชื่อมั่นของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น