จ่อปิดตำนานกรรมการสิทธิฯ เร็วๆ นี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยุบทิ้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วไปควบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ใช้ชื่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน” ใช้คณะกรรมการ 11 คน “บวรศักดิ์” อ้างจะได้ไม่ต้องร้องเรียนสองที่
วันนี้ (30 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้ทำการยกสถานะของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน โดยเป็นการผนึกกำลังของ 2 หน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชน ในการเรียกร้องสิทธิได้ที่เดียว ไม่ต้องไปร้องถึง 2 ที่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ลดความซ้ำซ้อน และมีประสิทธิภาพทำงานได้เร็วมากขึ้น โดยผู้ตรวจการฯ มีจำนวน 11 คน โดยจะแบ่งการทำงานเป็น 11 ด้าน ซึ่งจะบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งผู้ตรวจการฯ จะมีอำนาจและหน้าที่พิทักษ์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน
นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผู้ตรวจการฯ มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 2, 5, 4(2) โดยที่สำคัญคือ (3) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ (4) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด กระทบต่อสิทธิมนุษยชน หรือกฎ คำสั่ง หรือการกระทำของบุคคลตาม (2) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (5) ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายเมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนร่วม หรือเมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน