xs
xsm
sm
md
lg

“เลิศรัตน์” ชี้นายกฯ คนนอกแค่ข้อเสนอหนึ่ง พร้อมนำความเห็นต่างมาพิจารณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ พร้อมรับความเห็นต่าง พร้อมนำมาประกอบการพิจารณายกร่าง รธน. ระบุปมนายกฯ คนนอกแค่ข้อเสนอหนึ่ง เผยเบื้องต้น กมธ.ยกร่างฯ แค่เสนอไม่ให้บัญญัตินายกฯ มาจาก ส.ส.เท่านั้น

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาในรายละเอียดเบื้องต้นของการร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ว่า ต้องขอขอบคุณทุกความคิดเห็นที่ได้ออกมาพูด และเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์ที่ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะนำไปประกอบการพิจารณา ก่อนที่จะเริ่มลงในรายมาตรา ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.เป็นต้นไป อีกทั้งทาง กมธ.ยกร่างฯ ก็เปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีความเห็นทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ถือเป็นเรื่องธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย โดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ได้บอกให้กรรมาธิการทุกคนอดทน และถ้าจะไปตอบโต้ทุกกลุ่มทุกประเด็นคงจะไม่ได้

ส่วนที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนวิธีการ กำหนดกติกาให้ชัดเจนเกี่ยวกับการเปิดช่องให้ “คนนอก” สามารถเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในยามวิกฤต เพราะหากเขียนในบททั่วไปเกรงว่าจะเกิดปัญหาตามมานั้น โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ในประเด็นนี้เมื่อถึงเวลาพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ทาง กมธ.ยกร่างฯก็จะพิจารณาว่าควรจะเขียนบทบัญญัติเอาไว้อย่างไร เพราะในขณะนี้การพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่เข้าเงื่อนไข หรือกลไกดังกล่าว เป็นเพียงข้อเสนออย่างหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเวลาการพิจารณาในบทบัญญัติดังกล่าวก็ต้องมาดูให้เกิดความชัดเจน

ส่วนที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีคนนอกต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.มากกว่าปกติ เช่น 3 ใน 4 ของ ส.ส.ทั้งหมดนั้น ตรงนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยใน กมธ.ยกร่างฯ เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่ตนได้เสนอให้ไว้เป็นแนวทางว่า “อาจจะ” เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ความเห็นของ กมธ.ยกร่างฯ

“ในประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น กมธ.ยกร่างฯ มีความเห็นในเบื้องต้นว่า ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. แต่ทั้งนี้ ในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ ขอให้รอดูตอนเข้าสู่การพิจารณารายมาตราที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.เป็นต้นไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น