xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"ขอกมธ.ยกร่างฯเขียนให้ชัด ห่วงนายกฯคนนอกทำป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ผลการสำรวจความเห็นของนิด้าโพล ระบุ ประชาชนสนับสนุนให้รัฐธรรมนูญเปิดทาง "นายกฯคนกลาง" แก้วิกฤติประเทศว่า ประชาชนเข้าใจได้ว่า ในภาวะที่เกิดวิกฤติขึ้นมาอาจจำเป็นต้องมีข้อยกเว้น แต่จะนำไปสู่การเขียนในรัฐธรรมนูญว่า ให้เอาคนนอกเข้ามาได้เลย ในภาวะปกติด้วยนั้น ตนคิดว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย ซึ่งตอนที่เสนอความเห็นได้ยืนยันแล้วว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ยั่งยืน ซึ่งจะยั่งยืนได้ ต้องมีประชามติ ต้องแก้ไขปัญหาเดิมๆและรัฐธรรมนูญต้องไม่ถอยหลัง ดังนั้นหากคิดว่าจำเป็น ในภาวะวิกฤติก็ควรระบุมาให้ชัด แต่การจะระบุว่า หากเกิดภาวะวิกฤติจริงๆ ต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของสภา ในการให้การสนับสนุนคนนอกนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะลำพังเพียงแค่กึ่งหนึ่ง ยังเป็นเรื่องยาก
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่ายังมีหลายเรื่องในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีแนวความเชื่อที่มองไม่ตรงจุด เช่น การที่มองว่าพรรคการเมืองเข้มแข็งจะเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ซึ่งขอยืนยันว่า การที่พรรคการเมืองเข้มแข็งไม่ใช่ปัญหา หากทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองอย่างแท้จริงอย่างมีระบบ ไม่ใช่เป็นของกลุ่มบุคคล รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่เปิดโอกาสให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคก็ได้ หากลงสมัครในนามพรรคแล้ว ถูกขับออกจากพรรค ก็ไม่ต้องพ้นสมาชิกภาพการเป็นส.ส. ซึ่งเท่ากับว่า ไม่ต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่หาเสียงไว้ในนามพรรค ดังนั้น พรรคจะรอให้ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งตัวโครงร่าง ที่สรุปให้ชัดเจนก่อน แล้วจะเสนอความเห็นกลับไปอีกครั้ง
"อะไรคือหลักประกันว่า นักการเมืองที่ไปหาเสียงกับประชาชน ติดป้ายสังกัดพรรค แต่พอเข้าไปแแล้ว ทำอีกอย่าง ก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร และพรรคก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ที่สำคัญก็คือ ถ้าตัวเลขในสภาก้ำกึ่ง เชื่อว่าทุกอย่างจะถูกชี้ขาดด้วยนายทุน จึงอยากให้ระมัดระวัง เพราะไปติดกับความเชื่อ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความเห็นจริงนักว่า ที่ผ่านมาเป็นเพราะพรรคการเมืองเข้มแข็ง ซึ่งหากพรรคเข้มแข็งจริง พรรคการเมืองจะสามารถตรวจสอบกันเองได้ แต่ปัญหาที่ผ่านมา ที่เราพูดว่าพรรคเข้มแข็งนั้น เป็นพรรคการเมืองหรือไม่ หรือเป็นเพียงเครื่องมือของกลุ่มบุคคล หรือบุคคลเท่านั้น " นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังแสดงความกังวลกรณีที่ กกต.หรือกองทุนพัฒนาการเมือง ไม่อนุมัติเงินให้พรรคการเมือง และห้ามรับบริจาคยกเว้นรับจากกรรมการบริหารพรรคว่า เป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด และเท่ากับจะทำให้กรรมการบริหาร มีหน้าที่ดูแลการเงินของพรรค ในขณะที่พรรคการเมืองที่เป็นระบบ มีสาขาพรรค มีระบบการทำงานที่เป็นรูปแบบองค์กรจริงๆ มีค่าใช้จ่ายประจำ ดังนั้น หากอยากจะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง พรรคการเมืองต้องเข้มแข็ง และทำงานให้เป็นระบบ

** ค้านนับคะแนนแบบเยอรมนี

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการคำนวน ส.ส.ในระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติจะนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า ตนเคยไปออกรายการร่วมกับ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กับนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่ง กมธ.ยกร่างระบุว่า เป็นผู้ให้ข้อมูลเรื่องการเลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วนผสม พบว่า การคิดสัดส่วนของนายสมบัติ กับนายปริญญา ก็ยังเข้าใจต่างกัน คิดผลออกมาไม่เหมือนกัน จึงน่าหนักใจว่าหากนำไปปฏิบัติจริง ฝ่ายปฏิบัติก็ยากที่จะนำไปปฏิบัติ จึงอยากให้ความคิดตกผลึก หรือเข้าใจตรงกันเสียก่อน แต่ส่วนตัวเห็นว่าระบบสัดส่วนผสมนี้ ไม่เหมาะกับประเทศไทย
"ถ้าจำนวนของส.ส.เขตเกินจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่จะเลือกระบบสัดส่วน จะคิดคำนวนอย่างไร ยกตัวอย่างในภาคใต้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขตเต็มทั้งภาค100 เปอร์เซ็น จะคิด ส.ส.สัดส่วนอย่างไร นายปริญญา บอกว่าไม่สามารถได้ส.ส.สัดส่วนเพิ่ม เพราะได้ ส.ส.เขตเต็มแล้ว หากเป็นเช่นนี้ ก็ขัดกับหลักคิดที่ว่า ทุกคะแนนจะไม่ตกน้ำ หรือทุกคะแนนจะมีค่า แต่ทำไมกลับไม่ได้ ส.ส.สัดส่วนเลย เป็นการตัดสิทธิ ทิ้งคะแนนของประชาชนที่เลือกโหวตให้ ส.ส.สัดส่วนในภาคนี้เลยหรือไม่ อย่างไร ตนเห็นว่าควรจะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเดิม แต่ให้เพิ่มกระบวนการตรวจสอบ เข้มงวดคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งและจับทุจริตให้ได้จริง ไม่ลูบหน้าปะจมูกออกแค่ข่าว กกต.ต้องทำหน้าที่ให้จริง ไม่เห็นแก่หน้าใคร" นายนิพิฏฐ์ กล่าว

**จัดเนื้อหาลงรายมาตรา 12 ม.ค.

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับเนื้อหาในรายละเอียดเบื้องต้นของการ ร่าง รัฐธรรมนูญในขณะนี้ว่า ต้องขอขอบคุณทุกความคิดเห็นที่ได้ออกมาพูด และเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์ที่ทางกมธ.ยกร่างฯ จะนำไปประกอบการพิจารณา ก่อนที่จะเริ่มลงในรายมาตรา ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. เป็นต้นไป อีกทั้งทางกมธ.ยกร่างฯ ก็เปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีความเห็นทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ถือเป็นเรื่องธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้บอกให้กรรมาธิการทุกคนอดทน และถ้าจะไปตอบโต้ทุกกลุ่ม ทุกประเด็น คงจะไม่ได้
ส่วนกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนวิธีการ กำหนดกติกาให้ชัดเจนเกี่ยวกับการเปิดช่องให้ “คนนอก”สามารถเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในยามวิกฤติ เพราะหากเขียนในบททั่วไป เกรงว่าจะเกิดปัญหาตามมานั้น โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ในประเด็นนี้ เมื่อถึงเวลาพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ทางกมธ.ยกร่างฯ ก็จะพิจารณาว่า ควรจะเขียนบทบัญญัติเอาไว้อย่างไร เพราะในขณะนี้การพิจารณาของกมธ.ยกร่างฯ ยังไม่เข้าเงื่อนไข หรือกลไกดังกล่าว เป็นเพียงข้อเสนออย่างหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเวลาการพิจารณาในบทบัญญัติดังกล่าว ก็ต้องมาดูให้เกิดความชัดเจน
ส่วนที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีคนนอก ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.มากกว่าปกติ เช่น 3 ใน 4 ของส.ส.ทั้งหมดนั้น ตรงนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยในกมธ.ยกร่างฯ เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ที่ตนได้เสนอให้ไว้เป็นแนวทางว่า“อาจจะ” เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ความเห็นของ กมธ.ยกร่างฯ
"ในประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น กมธ.ยกร่างฯ มีความเห็นในเบื้องต้นว่า ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส. แต่ทั้งนี้ในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ ขอให้รอดูตอนเข้าสู่การพิจารณารายมาตรา ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. เป็นต้นไป" โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าว

**กกต.ขอกำหนดวันเลือกตั้งเอง

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณี กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติเบื้องต้นให้ กกต.มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการกำหนดวันเลือกตั้ง ว่า ยังถือเป็นมติในเบื้องต้นเท่านั้น กว่าจะเป็นกฎหมายที่ชัดเจน ก็คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ดังนั้นต้องรอดูความชัดเจนในระยะสุดท้ายก่อน จึงจะให้ความเห็นได้ว่า มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง แต่สำหรับในกรณีที่ให้ กกต.มีอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งได้นั้น ตนเห็นด้วย ซึ่งในกรณีนี้สามารถดูตัวอย่างได้จากการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้นมาคือ กกต.ไม่สามารถกำหนด หรือเลื่อนวันเลือกตั้งได้ด้วยตัวเอง หากกกต.มีอำนาจในกรณีดังกล่าว การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็คงไม่ต้องเป็นโมฆะ กรณีนี้จึงน่าจะเป็นผลดีต่อการบริหารจัดการการเลือกตั้งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น