xs
xsm
sm
md
lg

ไอเดียเลือกตรงนายกฯ ของร้อนที่รอวันสลัดทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ไอเดียกระฉูดฉุดไม่อยู่จริงๆ สำหรับบรรดาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ตอนนี้รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมแนวคิดสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่ ตามประสาคนร้อนวิชา หลังรับตำแหน่งก็แข่งกันโชว์ฟอร์มไม่หยุดหย่อน

ยิ่งแตกแขนงเป็นกรรมาธิการคณะต่างๆ นับสิบคณะ เปิดฟลอร์ให้ทุกคนได้จุดพลุอวดภูมิกันเต็มที่ นี่ยังไม่รวมเวทีปฏิรูประดมความคิดเห็นมากกว่า 4,000 เวที ที่ทาง ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) จัดขึ้นอีก หรือจะเป็นเวทีปฏิรูปที่ สปช. เป็นเจ้าภาพเองอีกมากกวง่า 1,000 เวที

สุดท้ายข้อเสนอต่างๆ คงกองตรงหน้า 36 อรหันต์ยกร่างรัฐธรรมนูญแบบพะเนินเทินทึก

ที่ช่วงนี้แนวคิดจาก สปช. คณะต่างๆ ทะลักออกมาราวกับเขื่อนแตก ก็ด้วยข้อจำกัดเรื่องเงื่อนเวลา มี “เดดไลน์” ที่ต้องส่งไม้ต่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำไปประมวลผล ก่อนขีดเขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศ ให้เสร็จตามโรดแมปตามที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางไว้

ประเด็นที่สปอตไลท์การเมืองสาดส่องเป็นพิเศษ คือ การเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรง

ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนพูดถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะหลังที่ขุมข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กินรวบการเลือกตั้งมาตลอดตั้งแต่ปี 2544 โดยที่พรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถต่อกรได้ในทุกกระบวนท่านสนามเลือกตั้ง ถึงขนาดมีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญ แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เองกับมือ ก็ยังแพ้หลุดลุ่ยแบบไม่เห็นฝุ่น

เลยมีการเสนอสารพัดสูตรขึ้นมาภายใต้คำหรูๆ ที่ว่า ปฏิรูปการเมือง

เพียงแต่การเสนอเรื่องเลือกนายกฯโดยตรงในตอนนี้ เป็นช่วงที่ คสช. กุมอำนาจในประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ จึงมีคำถามต่อไปว่า จะเป็นแผนการสืบทอดอำนาจของใครหรือไม่

แต่เรื่องนี้ไปง้างปากถามใคร ก็คงไม่มีใครยอมรับ

พลันที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองของ สปช. ที่มี “สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์” เป็นประธาน โยนหินถามทางการเลือกตั้งนายกฯโดยตรง พร้อมกับสูตรการได้มาของ ส.ส.- ส.ว.ออกมา ยุทธจักรการเมืองไทยที่เงียบฉี่มานาน ก็มีเสียงอื้ออึงตามมาทันที หลังจากที่ “สมบัติ ณ กปปส.” เคยจุดพลุประเด็นนิรโทษกรรมออกมาก่อนหน้านี้ไม่นาน

“สมบัติ” ให้เหตุผลหลังที่ประชุมกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองลงมติรับรองข้อเสนอแนะเลือกนายกรัฐมนตรี และ ครม. โดยตรงว่า ระบบนี้จะสะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน และให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบประวัติของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งได้ ส่วนเรื่องการตรวจสอบจะมีการออกแบบอย่างรัดกุมแน่นอน พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่ระบบประธานาธิบดีอย่างที่เข้าใจกันด้วย

ด้าน “ประสาร มฤคพิทักษ์” เสียงข้างน้อยในกรรมาธิการที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกนายกฯ และ ครม. โดยตรง ก็ได้ให้เหตุผลไว้อย่างน่าคิดว่า เป็นการเพิ่มอำนาจนายกฯมากเกินไปเหมือน “เสือติดปีก” ทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก ที่สำคัญไม่แก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอีกด้วย

เช่นเดียวกับฟากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาเลกเชอร์การปกครองระบบรัฐสภาทันที โดย “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรค ที่ชี้ว่า การเลือกนายกฯโดยตรงทำให้คนมาเป็นนายกฯมีอำนาจมากขึ้นกว่าที่มาจากรัฐสภา และจะทำให้กระบวนการตรวจสอบ หรือการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านเป็นหมันทันที เพราะจะเปิดให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้เลย

“นิพิฏฐ์” ยกตัวอย่างโดยสมมติว่า หาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงเลือกตั้งโดยไม่สังกัดพรรคการเมือง และชนะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มี ส.ส. ในสังกัดเลย หากยอมให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่เกิน 3 เดือน “บิ๊กตู่” ก็ปิ๋ว หรือสังกัดพรรค แต่มี ส.ส. เป็นเสียงข้างน้อย ก็ปิ๋วเหมือนกัน

ประเด็นที่หมิ่นเหม่อีกเรื่องก็คือ การเปรียบเทียบกับระบบประธานาธิบดี

ตรงนี้ “นิพิฏฐ์” โพสต์เฟซบุ๊กไว้ว่า “ถ้าเอาระบบนี้มาใช้แม้เราจะไม่เรียกว่าระบบประธานาธิบดี แต่เนื้อหาก็เหมือนระบบประธานาธิบดี ระบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะไม่ใช้ระบบประธานาธิบดีครับ”

ส่วนพรรคเพื่อไทยคงไม่ต้องพูดถึง แค่ปะหน้าว่าอะไรที่เป็น คสช. ก็คงค้านยังเตอยู่แล้ว

ข้ามไปที่ต้นตำรับโซ่ข้อกลาง “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เคยถูกค่อนแคะเรื่องสภาเปรซิเดียมจนอ่วมอรทัยมาแล้ว ยังออกมาสะกิดเตือน คสช. เลยว่า การเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะอาจเกิดการอ้างว่า อำนาจทั้งหมดจะมาจากประชาชนโดยตรง ไม่ใช่มาจากพระราชอำนาจอย่างที่เคยเป็นมา

“ถือเป็นเรื่องล่อแหลม ที่คนไทยทั้งประเทศคงไม่มีใครยอม” นายทหารรุ่นพี่ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อนกล่าวเตือนไว้

ใครจะเห็นด้วยหรือคัดค้านก็ว่ากันไป แต่สุดท้ายต้องไปจบในชั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ดี

แต่แค่โยนหินถามทาง น้ำยังกระเพื่อมขนาดนี้ เกิดถ้าเกิด กมธ.ยกร่างฯ ทะลึ่งยัดไอเดียเลือกนายกฯโดยตรง หรือมีคนใน คสช. ชูมือหนุนขึ้นมาจริงๆ ไม่อยากนึกว่า จะวุ่นวายขนาดไหน

ก็ต้องถามใจ “เดอะปึ๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ว่าจะอุ้มของร้อนแบบนี้ไว้นานแค่ไหน หรือจะรีบสลัดทิ้งก่อนที่ไฟจะไหม้บ้าน

เมื่อฟังซุ่มเสียงของ “บวรศักดิ์” ที่ว่า “ความเห็นต่างๆ ที่เสนออกมาในขณะนี้ยังไม่ใช่ข้อยุติ ขอให้ประชาชนอย่าตกอกตกใจ เพราะเป็นกระบวนการของการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ท้ายที่สุดจะรู้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรนั้น จะอยู่ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 58 ซึ่งจะเป็นฉบับที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุม สปช. เพื่อพิจารณาลงมติเห็นชอบในวันที่ 6 ส.ค. 58”

แบบนี้เชื่อว่าไม่นานคงต้องเก็บใส่ลิ้นชักปิดตายอีกครั้ง

กำลังโหลดความคิดเห็น