โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผย “บวรศักดิ์” อ้างปฏิรูปลดเหลื่อมล้ำเรื่องระยะยาว แต่ปรองดองต้องแก้เฉพาะหน้า ด้านอนุฯ เสนอตั้ง กก.เสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจ 4 ข้อ คล้ายสถาบันพระปกเกล้าฯ บรรจุในหมวดเฉพาะกาล ให้มีอายุ 5-10 ปี โละชุด “สุรยุทธ์” ทิ้ง ชี้ต้องแยกให้ชัดขัดแย้งตรงไหน ถ้านิรโทษกรรมต้องชัดเจน ระบุ “โภคิน” มาคุยศุกร์นี้
วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้มีการรับทราบงานผลของคณะอนุ กมธ.คณะที่ 10 ว่าด้วยภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การสร้างความปรองดอง ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกมธ.ยกร่างฯ ได้ปรารภก่อนการพิจารณาว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดให้มีภาค 4 การสร้างความปรองดองนั้น ยิ่งจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคุณค่า โดยจะมีการแบ่งหมวดดังกล่าวเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องระยะยาวและคงต้องใช้เวลากว่า 5-10 ปี และส่วนที่ 2 หมวดว่าด้วยความปรองดอง ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะหน้า เหมือนกับคนป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ต้องรักษาโรคด้วยยาทามิฟู แต่ในระหว่างการรักษาก็ต้องมีอาการปวดหัวตัวร้อนก็กินไทลินอลเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น
นายคำนูณกล่าวว่า คณะอนุ กมธ.ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยให้มีอำนาจดังต่อไปนี้ 1. เพื่อศึกษาและแสวงหาแนวทางลดและยุติความขัดแย้งทางการเมืองทุกระดับให้ประชาชนในชาติ เกิดความรู้รักสามัคคี บนพื้นฐานความคิดที่แตกต่าง 2. ให้จัดทำแผนการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติที่กำหนดเงื่อนระยะเวลา เช่น ระยะสั้น กลาง ยาว โดยกำหนดเครื่องมือ กลไกการดำเนินการและติดตามการประเมินผล 3. ติดตามสถานการณ์แจ้งเตือนเจรจาแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง คลี่คลายสถานการณ์การเผชิญหน้าที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง รวมทั้งเยียวยาอดีต และป้องกันการเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต และ 4. จัดการศึกษาอบรมและเผยแพร่ความรู้และทักษะในการจัดการปัญหาแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และสร้างความเข้มแข็งให้บุคคลกรในภาพการเมืองและพลเมือง
นายคำนูณกล่าวต่อว่า คณะกรรมการคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาตินั้น เป็นระบบโครงสร้างและงบประมาณที่เป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้รัฐสภา มีอิสระทางงบประมาณ โดยให้มีรูปแบบคล้ายกับสถาบันพระปกเกล้า โดยในวาระเริ่มต้นให้แก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น อาจกำหนดให้มีบทเฉพาะกาลให้คณะกรรมการชุดนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 5-10 ปี โดยมีเงื่อนไขให้ยกเลิกคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติที่ตั้งขึ้นโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ออกในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และด้วยขอบเขตอำนาจบางประการของคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาตินั้น อาจซ้ำซ้อนกับผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงให้ประสานกันและร่วมมือกันดำเนินงานแล้วแต่กรณี โดยมีปัจจัยที่ควรคำนึงถึง คือ ความปรองดองที่ต้องมีความชัดเจน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต้องแยกแยะให้ได้ว่าเป็นความขัดแย้งระดับบุคคลหรือขัดแย้งกันที่ระบบ รวมถึงจำแนกคู่ขัดแย้งให้ชัดเจน
“และหากกระบวนครอบคลุมถึงการนิรโทษกรรม ควรกำหนดขอบเขตและเป้าหมายให้ชัดเจน และกำหนดขั้นตอนระยะเวลาให้เหมาะสม และนำผลไปสู่การปฏิบัติจริง และต้องมีความชัดเจน เพราะอาจส่งผลต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างหมวดการปรองดองและหมวดอื่นๆ โดยต้องกำหนดหลักการและขอบเขตในการสร้างความปรองดอง โดยจะต้องทบทวนนโยบายและกฏหมายที่บังคับใช้อยู่ว่ามีความคลอบคลุมและสามารถใช้เป็นเครื่องมือสานต่อความปรองดองได้หรือไม่ หากจะต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” โฆษก กมธ.กล่าว
เมื่อถามว่า ในที่ประชุมได้มีการลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ยังไม่ได้ลงลึกไปในรายละเอียด แต่ได้พูดในภาพรวมว่าหากจะมีการนิรโทษกรรมจริงๆจะต้องมีความชัดเจนถึงเรื่องเงื่อนเวลา เนื้อหา และเป้าหมาย ไม่ใช่จู่ๆ จะมานิรโทษกรรมกัน โดยคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติที่จะถูกตั้งขึ้นจะต้องเป็นผู้ออกแบบกลไกขึ้นมารองรับให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม จากการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ จะกำหนดให้ภายหลังจากคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เข้ารับฟังความเห็นจากที่ประชุมสปช.ในระหว่าวันที่ 15-17 ธันวาคมนี้แล้ว ในวันที่ 19 ธันวาคมซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการส่งความเห็นของสมาชิก ทางนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธาน สปช.จะทำพิธีส่งมอบความเห็นของคณะกรรมาธิการทั้ง 18 คณะของ สปช.ให้กับทางคณะ กมธ.ยกร่างธรรมนูญต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม นายคำนูณกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ เวลา 09.00 น. นายโภคิน พลกุล ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยจะเข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นเป็นการส่วนตัวต่อคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในหัวข้อ “จะยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สังคมไทยมีอนาคตที่ดีเพื่อส่งมอบให้ลูกหลานได้อย่างไร” ที่ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3