นิด้าโพล เปิดผลสำรวจประชาชนมอง “คสช.-สนช.-สปช.-กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ” ทำงานประสานสอดคล้องกันดี เพราะทุกฝ่ายอยากเห็นการพัฒนาประเทศไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว แถมแต่ละฝ่ายยังถูกแต่งตั้ง และอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล
วันนี้ (25 ม.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “แม่น้ำ 5 สาย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-23 ม.ค. จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานของแม่น้ำทั้ง 5 สาย อันประกอบไปด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐบาล สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อความสามารถในการทำงานประสานสอดคล้องกันของแม่น้ำทั้ง 5 สาย อันประกอบไปด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐบาล สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.64 ระบุว่า แม่น้ำทั้ง 5 สาย สามารถทำงานประสานสอดคล้องกันได้ดี รองลงมา ร้อยละ 30.80 ระบุว่า แม่น้ำทั้ง 5 สาย ค่อนข้างสามารถทำงานประสานสอดคล้องกัน ร้อยละ 12.16 ระบุว่า แม่น้ำทั้ง 5 สาย ไม่ค่อยสามารถทำงานประสานสอดคล้องกัน ร้อยละ 11.68 ระบุว่า แม่น้ำทั้ง 5 สาย ไม่สามารถทำงานประสานสอดคล้องกันได้เลย และร้อยละ 2.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ที่ระบุว่าแม่น้ำทั้ง 5 สาย ค่อนข้างสามารถทำงานประสานสอดคล้องกันได้ดี ให้เหตุผลเพราะว่าทุกฝ่ายต่างต้องการเห็นการพัฒนาของประเทศไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว แต่ละฝ่ายถูกแต่งตั้งและอยู่ภายใต้การบริหารการทำงานของรัฐบาลซึ่งเป็นที่รู้จักมักคุ้นในแวดวงการเมืองกันอยู่แล้ว จึงน่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
ส่วนผู้ที่ระบุว่าแม่น้ำทั้ง 5 สาย ไม่ค่อยสามารถทำงานประสานสอดคล้องกันได้เลย ให้เหตุผลเพราะว่าแต่ละฝ่ายมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ประกอบกับมีคนเป็นจำนวนมาก ต่างฝ่ายต่างย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และอาจมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกรณีที่รัฐบาลไม่สนใจมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรื่องการไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และจากกรณีที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ใส่ใจในข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองของ สปช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.40 ระบุว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตยที่ต้องมีความคิดเห็นต่าง รองลงมา ร้อยละ 18.96 ระบุว่าเป็นสิทธิของรัฐบาลและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องทำตาม สปช.
ร้อยละ 15.36 ระบุว่า ข้อเสนอของ สปช.ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและความคิดเห็นของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 12.56 ระบุว่ารัฐบาลมีธงอยู่แล้วในเรื่องของสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ร้อยละ 5.12 ระบุว่า สปช. ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่สภากระดาษ ที่มีหน้าที่แสดงความคิดเห็นเท่านั้นแต่ไม่มีอำนาจอะไร ร้อยละ 4.64 ระบุว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีธงอยู่แล้วในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง
ร้อยละ 3.44 ระบุว่า รัฐบาลและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่เคารพและไม่ให้เกียรติ สปช. ร้อยละ 2.48 ระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่า สปช.อาจแก้เผ็ดด้วยการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต ร้อยละ 2.16 ระบุว่า อื่นๆ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ทุกฝ่ายควรร่วมมือและพูดคุยตกลงกัน โดยเฉพาะรัฐบาล ควรรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย และร้อยละ 15.36 ไม่ระบุไม่แน่ใจ