ผ่าประเด็นร้อน
สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ไม่เอาด้วยกับข้อเสนอให้เดินหน้าเปิดสัมปทานรอบที่ 21 นั่นเอง
แต่สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ก็มาหัก สปช.ที่ทำคลอดมากับมืออย่างไม่ใยดี ด้วยการไม่แยแสกับมติของ สปช.ที่ไม่เอาด้วยกับการเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ตามข้อสรุปของ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน โดยสั่งให้กระทรวงพลังงานเดินหน้าต่อ และบอกว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกระทวงพลังงานตัดสินใจ เพราะต้องดำเนินการจัดหาแหล่งพลังงาน เพื่อจะได้มีใช้ในวันข้างหน้า แต่ก็ทำเป็นบอกว่าก็จะนำมติของ สปช.มาหารือ
ท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ตอบรับมติ สปช.ดังกล่าว อีกทั้งให้ท้ายกระทรวงพลังงานเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป มันก็คือการไม่ให้ความสำคัญกับ สปช.ที่ตั้งมากับมือและเป็นหนึ่งในแม่น้ำห้าสาย ของคสช.นั่นเอง
เมื่อธาตุแท้ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.โผล่ออกมาแบบนี้ ดังนั้นที่คนคาดหวังจะได้เห็นการปฏิรูปในเรื่องสำคัญๆ ในยุค คสช. เช่น ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือเรื่องกระจายอำนาจ เช่น การให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง ก็คงเลิกคิดไปได้แล้ว เพราะต่อให้ สปช.มีข้อเสนอไป แต่ไม่เป็นที่ถูกใจ คสช.และรัฐบาล เพราะหากรับไปสานต่อแล้วทำให้แนวร่วม คสช.เสียผลประโยชน์ หรือสร้างแนวต้านให้ คสช. ก็คงยากที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.-รัฐบาล จะรับลูกไปปฏิบัติ
ว่าไปแล้ว การที่คนเห็นธาตุแท้ พล.อ.ประยุทธ์ และคสช.เร็วแบบนี้ มันก็ทำให้ผู้คนที่เข้ามาช่วยทำงานในองค์กรต่างๆ ที่ คสช.ตั้งขึ้น เช่น สมาชิกสภาปฏิรูปฯ-กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ-สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือพวกกรรมการชุดต่างๆ อีกจำนวนไม่น้อย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งขึ้นมาเพื่อมาทำเรื่องที่จะสอดรับกับโรดแมปของ คสช. อย่างคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน หรือคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน และไปดึงคนภายนอกที่ทำงานเรื่องต่อต้านการทุจริตในภาคส่วนต่างๆ มาร่วมด้วยหลายคน เช่น ประมนต์ สุธีวงศ์ นางจุรี วิจิตรวาทการ ต่อตระกูล ยมนาค สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
บรรดากลุ่มคนเหล่านี้จะได้ตั้งหลัก ทำใจล่วงหน้าไว้ว่าอาจทำงานเสียแรงเปล่า เพราะข้อเสนอต่างๆ อาจถูกเก็บเข้าลิ้นชัก หรือถูกปัดทิ้งแบบไม่ใยดี ถ้าไม่เป็นไปอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.ต้องการ
แต่หากบุคคลที่ไปทำงานใน สปช.-สนช.-กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมการชุดต่างๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแค่ว่าขอให้มีชื่อ มีตำแหน่งไว้เป็นเครดิตตัวเองทางสังคมและการเมืองในวันนี้ และในอนาคต ขอแค่มีเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง กับได้เบี้ยประชุมเท่านั้น ไม่ได้มีจุดยืนอะไร ไม่เคยมีความตั้งใจจริงในการเข้าไปทำงานเพื่อปฏิรูปและแก้ปัญหาชาติ ถ้าทำข้อเสนออะไรไปแล้ว รัฐบาลและ คสช.ทำเฉยไม่เอาด้วยก็ไม่รู้สึกอะไร มันก็ถือเป็นความซวยของประเทศชาติที่ได้คนแบบนี้ไปทำงานในยุค คสช.
เรื่องที่บอกว่า อาจทำงานกันไปแบบเปลืองสมอง เสียพลังงาน และเสียความตั้งใจ อย่าคิดว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก หลังกรณีรัฐบาลไม่ให้การตอบรับกับมติ สปช.เรื่องสัมปทานรอบที่ 21 มันอาจเกิดขึ้นได้อีก
ควรจับตาเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าเป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนก็อยากรู้ว่า สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ และคสช.จะมีท่าทีอย่างไร หากสุดท้าย กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างออกมาแล้วไม่เป็นที่พอใจของ พล.อ.ประยุทธ์ และคสช. เพราะพอ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างเสร็จมาแล้ว ในช่วงกลางเดือนเมษายนก็ต้องเสนอร่างดังกล่าวไปให้ คสช.-ครม. พร้อมๆ กับส่งไปยังสภาปฏิรูปฯ โดย คสช.กับ ครม.มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ในการเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มายัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้
แม้โดยหลักแล้วต้องยอมรับว่า ยากมากที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะยอมพลิกมติตัวเองด้วยการไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.เขียนออกมาแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามที่มี สมาชิก สปช.-ครม. และคสช. ได้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมา แต่กระนั้นก็ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ก็ยังมีโอกาสอยู่ หากมาตราที่มีการเสนอแก้ไข พบว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสียงแตกอย่างมากในช่วงยกร่างออกมา อีกทั้งยกร่างออกมาแล้ว มาตรานั้นๆ กระแสสังคมไม่เอาด้วย แรงต้านมาก แล้วดันเป็นมาตราที่ คสช.-ครม. ที่ก็คือพวกเดียวกัน ดันเสนอมาให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขด้วย แบบนี้ โอกาสที่จะพลิกกลับมาเป็นอย่างที่ ครม.-คสช.ต้องการก็ยังเป็นไปได้อยู่ หากมีการเดินเกมกันหนักๆ จาก คสช.ไปถึง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
ต้องไม่ลืมว่า ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเอง ก็มีคนที่ ครม.กับ คสช. ส่งไปนั่งเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยรวม 10 คน จาก 36 คน ไม่นับรวมกับโควตาจาก สนช. ที่ก็คือ คนที่ พล.อ.ประยุทธ์ คัดเลือกมาเป็น สนช. อีก 5 คน แม้บางคนที่ ครม.และคสช. ส่งชื่อไปเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ดูแล้วจะเป็นอิสระสูง ไม่ขอขึ้นตรงกับคสช. แต่ของแบบนี้ ถึงเวลาขึ้นมาจริงๆ หาก พล.อ.ประยุทธ์ทุบโต๊ะ โอกาสที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะพลิกท่าทีกลับไปกลับมาก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน แม้อาจเกิดขึ้นได้ยากพอสมควร แต่ของแบบนี้มันก็ไม่แน่
เช่นเดียวกับเรื่องปรองดอง ที่ สปช.และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญดูจะให้ความสำคัญอย่างมาก ถึงกับวางแนวไว้แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีหมวดว่าด้วยเรื่องปฏิรูปและปรองดองอยู่ด้วย
ก็เชื่อได้ว่า หาก สปช. เช่น กรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ชุด ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ หรือ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปมีข้อเสนออะไรที่ไม่ตรงใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ เช่น กรรมการศึกษาเรื่องปรองดอง ไปรับฟังความเห็นจากคู่ขัดแย้งทางการเมืองจนครบทุกกลุ่มแล้ว เลยมีข้อเสนอให้มีการนิรโทษกรรม ผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง มายัง คสช.-ครม. มองดูแล้วก็มีโอกาสได้เห็นการปัดเผือกร้อนนี้จาก คสช.ได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากกรรมการชุดดังกล่าว ไปเสนอเอาในช่วงปลายๆ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็เชื่อได้เลยว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่รับไว้แน่นอน แล้วก็อาจโยนให้ไปเป็นเรื่องของรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ดำเนินการแทน เหตุเพราะรู้ดีว่า เรื่องนิรโทษกรรม แม้ต่อให้ไม่นิรโทษกรรมแกนนำการชุมนุมการเมือง แต่ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมือง ขืนไปรับมาได้วุ่นวายตอน คสช.กำลังใกล้ลาโรง
ดังนั้น พวกที่ทำงานให้ คสช.ทั้งหลาย ไม่ว่าจะทำผ่านแม่น้ำ 5 สาย หรือกรรมการชุดต่างๆ ก็ขอให้ทำใจแต่เนิ่นๆ มีหวังเหนื่อยฟรีแน่นอน ถ้าทำออกมาแล้ว ท่านผู้นำ เคือง ไม่รับลูก