ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สรุปผลงาน สนช. ปี 57 เผยพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แล้ว 71 ฉบับ ผ่านเป็นกฎหมายแล้ว 49 ส่วน กม.ลูก ป.ป.ช.รอ กมธ.วิฯ พิจารณา ระบุชงถอด 38 ส.ส.เข้าวาระแล้ว คาดปีนี้รัฐเสนอ กม.ตรงนโยบายมากขึ้น ชูทำสิ่งค้างคาได้สำเร็จ ยันวิปฯ ประสานงานรัฐ สปช.ตลอด ไม่มีแบ่งพวก ใช้แผนแม่น้ำ 5 สาย โวระบบการเข้าประชุมจะถูกใช้ถาวร ลั่นเอกซเรย์หมดใครโดดต้องบอกเหตุได้
วันนี้ (2 ม.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวสรุปผลงานของ สนช.ที่ผ่านมาในรอบปี2557 ว่า ผลงานด้านการตรากฎหมายของ สนช. ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 1 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิ สามัญก่อนรับหลักการ โดย กมธ.ได้ขอขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 30 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 26 ม.ค.2558
นายพรเพชร กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ที่ สนช.ได้พิจารณาแล้วมี จำนวน 71ฉบับ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอ จำนวน 21 ฉบับ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ จำนวน 49 ฉบับ ซึ่งแยกเป็น 7 เรื่อง คือ 1.สนช. เห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว จำนวน 49 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 16 ฉบับ และรอประกาศในราชกิจจาฯ จำนวน 33 ฉบับ 2.พิจารณาเสร็จแล้วในชั้น กมธ. และรอพิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 จำนวน 4 ฉบับ 3.กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว รอบรรจุระเบียบวาระ หรือชะลอการบรรจุจำนวน 1 ฉบับ 4.อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กมธ. จำนวน 13 ฉบับ 5.บรรจุระเบียบวาระเพื่อพิจารณาวาระที่ 1 จำนวน 2 ฉบับ 6.รอบรรจุระเบียบวาระเพื่อพิจารณาวาระที่ 1 จำนวน 1 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ... เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.อื่น ซึ่งควรพิจารณาไปในคราวเดียว 7.รอวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่ จำนวน 1 ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.กิจการฮัจญ์ พ.ศ. ...
นายพรเพชร กล่าวอีกว่า ส่วนผลงานด้านการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แยกเป็นการตั้งกระทู้ถาม จำนวน 1 เรื่อง แต่เสนอมา จำนวน 3 เรื่อง และขอถอน จำนวน 2 เรื่อง ส่วนการตั้ง กมธ.จำนวน 53 เรื่อง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จำนวน 48 เรื่อง กมธ.สามัญ จำนวน 3 เรื่อง กมธ.วิสามัญตามญัตติที่สมาชิกเสนอ จำนวน 2 เรื่อง คือ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการผังเมืองและการใช้พื้นที่ และ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษามาตรการการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
นายพรเพชร กล่าวต่อว่า ด้านผลงานอื่นตามที่กฎหมายกำหนด แบ่งเป็นการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้แก่ การเสนอชื่อสมาชิก สนช.เพื่อเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สนช. จำนวน 5 คน ได้แก่ นายดิสทัต โหตระกิตย์ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ นายปรีชา วัชราภัย นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ และ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ นอกจากนี้ ยังมีการให้ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 34 วรรคสอง ในการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 6 พ.ย.57 ที่ประชุมได้มีมติตั้ง กมธ.สามัญรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 24 คน มีหน้าที่ในการรวบรวมความเห็นจาก สนช. เพื่อเสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ใช้ประกอบการพิจารณา โดย กมธ.มีระยะเวลาทำงาน 120 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 5 มี.ค.58 และได้ส่งมอบรายงานการรวบรวมความเห็น ครั้งที่1 ให้แก่ กมธ.ยกร่างฯ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 57
นายพรเพชร กล่าวต่อว่า กรณีการทำหน้าที่ในการสรรหา สนช.ได้พิจารณาเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติของกฎหมาย จำนวน 6 เรื่อง ส่วนการถอดถอนบุคคลออกจากตําแหน่ง จำนวน 4 เรื่อง คือ 1.การถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา 2.การถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภาและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร 3.การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและ อดีต รมว.กลาโหม 4.การถอดถอนสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 38 ราย จากกรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งประเด็นนี้ตนเพิ่งสั่งบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้ว
เมื่อถามถึงภาพรวมการออกกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจาก สนช.รวมทั้งประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ นายพรเพชร กล่าวว่า กฎหมายรวม 49 ฉบับที่ผ่านไปแล้วส่วนใหญ่ค้างการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฏรชุดก่อน โดยรัฐบาล และ คสช.เห็นกฎหมายเหล่านี้มีประโยชน์ที่จะดำเนินการต่อ จึงเสนอให้ สนช.พิจารณา ซึ่งเราก็ต้องปัดฝุ่น และปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องต่อนโยบายของคสช. เมื่อเสนอมาแล้ว สนช.ได้แปรญัตติแก้ไขร่างเดิม ซึ่งจากการประเมินปฏิกิริยาของสังคม กฎหมายที่ได้ผ่านความเห็นชอบแล้วนั้นสามารถสร้างประโยชน์ต่อประชาชนทั้งทางตรง และทางอ้อม ทางตรง คือ ประชาชนได้ประโยชน์ โดยได้รับการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพต่างๆ บางส่วนก็ได้รับประโยชน์เฉพาะบางกลุ่ม เช่น กฎหมายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายเกี่ยวกับการสร้างความเสมอภาคทางเพศ กฎหมายเกี่ยวกับการดูแลกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ ตนคิดว่าในปี 2558 รัฐบาลจะเสนอกฎหมายที่ตรงต่อนโยบายของรัฐบาลมากขึ้น ภาพรวมที่ปรากฏถือว่า สนช.ได้ทำสิ่งที่ค้างมา เป็นปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน หรือที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สำเร็จมากพอสมควร
เมื่อถามว่า ในปีหน้า สนช.จะเสนอกฎหมายของ สนช.เองบ้างหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า กฎหมายที่ สนช.จะผลิตขึ้นมาเองนั้ มีสมาชิกเสนอเข้ามาบ้าง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับพิธีฮัจญ์ หรือกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็ก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิทธิในการเสนอกฎหมายต่อ สนช.เป็นเรื่องกว้าง สามารถเสนอต่อรัฐบาลได้โดยตรง และรัฐบาลจะพิจารณาและนำเสนอต่อ สนช. ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพกว่าที่ สนช.จะเริ่มผลิตเองตั้งแต่ต้น สนช.เองก็มีเวลาจำกัด ดังนั้น การมีกฎหมายที่ดีต้องรับฟังความเห็นรอบด้าน หากให้ สนช.มาเริ่มนับหนึ่งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนคงไม่ได้ เรามีเวลาจำกัด วิธีที่ดีที่สุด คือ เรามีงานวิจัยด้านกฎหมายอยู่แล้ว ก็เสนอไปที่รัฐบาล เมื่อรัฐบาลเสนอมาเป็นเรื่องเร่งด่วน ทำให้การพิจารณาของ สนช.เป็นไปเจตนารมณ์
เมื่อถามว่ากฎหมายที่จะเกี่ยวกับการปฏิรูปจะเริ่มทยอยเข้ามาในปีหน้า ขณะที่กฎหมายของรัฐบาลก็มีมาก ได้หารือกับ สปช.เพื่อลัดคิวการพิจารณากฎหมายปฏิรูปก่อนหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า มีการพูดกันตั้งแต่ สปช. เริ่มทำงานว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป สปช.เสนอได้ต่อเมื่อเป็นมติของ สปช. หากกฎหมายการปฏิรูปเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จะมีขั้นตอนที่รัฐบาลต้องพิจารณาด้วย ซึ่งตนและรัฐบาลได้ประสานงานกันเพื่อจัดลำดับความสำคัญของกฎหมาย พิจารณาหลักการของกฎหมายว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร มีคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คอยพิจารณาเรื่องเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังมีการประสานงาน พูดคุยแบบไม่เป็นทางการด้วย เพราะการพูดคุยระหว่าง สนช. รัฐบาล และ สปช.นั้น ไม่มีการแบ่งคนละพรรค คนละพวก ไม่ต้องจับตามอง แต่มีการประสานงานในสภาพที่เรียกว่าแม่น้ำ 5 สาย เพื่อให้งานราบรื่น ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เราเห็นต่างกันตลอดแต่ยุติได้ด้วยการพูดจา ประสานงานกัน และนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน
นายพรเพชร ยังกล่าวถึงกรณีที่ สนช.สร้างบรรทัดฐานเรื่องนโยบายการเข้าประชุม การขาด การลาของสมาชิก ว่า สิ่งที่ สนช.ปฏิบัติทั้งการเข้าประชุม การออกเสียงมติในที่ประชุม เป็นหลักการสำคัญของการรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แม้ไม่ใช่ประเพณีปฏิบัติแต่ระบบนี้จะถูกนำไปใช้แบบถาวร เพราะเมื่อต้องมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องต่างๆ สมาชิกควรจะต้องอยู่และรับทราบ รับฟังความเห็นของเพื่อนสมาชิกที่อภิปราย หรือคำชี้แจงของผู้ชี้แจงทั้งจากรัฐบาลและสมาชิกด้วยกันเอง จึงจะลงคะแนนเสียงของตนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ระบบรัฐสภาต้องการอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงแต่เข้ามาประชุม ลงคะแนน องค์ประชุมเป็นเรื่องสำคัญมาก ส่งผลต่อความมิชอบของกฎหมายที่ตราขึ้น ดังนั้น การนับองค์ประชุมนอกจากทำให้กฎหมายมีความชอบธรรมแล้ว ยังสร้างระบบที่ทำให้การตัดสินใจความเห็นของสมาชิกในรัฐสภาเป็นไปด้วยการรับฟังเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ รวมถึงคำชี้แจงของรัฐบาลซึ่งจะสะท้อนแนวความคิดต่างๆ
เมื่อถามว่า สมาชิกเข้าประชุมในเกณฑ์ที่น่าพอใจหรือไม่ มีบางส่วนต้องตักเตือนหรือไม่ นายพรเพชร ชี้แจงว่า สมาชิกจำนวนที่ลาการประชุมมีไม่มาก เพราะติดภารกิจสำคัญ หากสมาชิกลามากจะมีผลต่อองค์ประชุม ซึ่งตนตรวจสอบการขาดของสมาชิกอย่างเข้มข้น ใครที่ลาตนให้อธิบายอย่างละเอียดว่าลาไปปฏิบัติภารกิจอะไรบ้าง ที่ผ่านมา ทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการอธิบาย แสดงหลักฐาน ทุกคนถูกเอกซเรย์ ข้อมูลสมาชิกเปิดเผย และถูกตรวจสอบโดยสื่อ และสังคมด้วย