หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์การเมืองปี 2558 แม้ คสช. และรัฐบาล ยุติปัญหาของการชุมนุมและความขัดแย้ง แต่การปฏิรูปไม่คืบหน้าเป็นรูปธรรมมากนัก พร้อมแนะ 2 ปัจจัยที่ต้องแก้ไข คือปัญหาเศรษฐกิจ และความขัดแย้งโดยเฉพาะการถอดถอนบุคคลทางการเมือง
วันนี้ (4 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2558 ว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ทุกอย่างก็ดำเนินไปตามตารางเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ เมื่อเข้าสู่ปี 2558 เชื่อว่าจะมีความพยายามผลักดันให้ทุกอย่างเป็นไปตามตารางเวลาและกำหนดการเดิม อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ท้าทายการทำงานของ คสช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่อาจจะมีเสียงเรียกร้อง ซึ่งตนก็เป็นหนึ่งในนั้นว่า จะต้องมีการจัดทำประชามติให้ประชาชนมีทางเลือกที่ชัดเจนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และสร้างความชัดเจนในเรื่องกรอบเวลาที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งตนคิดว่าข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่จัดทำขึ้นใหม่มีมากก็จะยิ่งมีแรงกดดัน การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ผ่าน สปช. ก็จะกลายเป็นประเด็นขัดแย้งหรือโต้แย้งทางการเมืองต่อเนื่องไปอีก ก็ไม่เป็นผลดีและไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ คสช. ที่ประกาศไว้ว่าเข้ามาจะทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่รอการการตัดสินของผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการตรงนี้หรือไม่
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีกว่าที่ผ่านมา คสช. และรัฐบาลได้ดำเนินการยุติปัญหาของการชุมนุมและความขัดแย้ง แต่ในเรื่องของการปฏิรูปยังไม่ได้มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมมากนัก เพราะที่ผ่านมาทุกองค์กรก็ต้องเร่งนำความเห็นเสนอไปยังกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแต่การปฎิรูปที่สังคมคาดหวัง เป็นการปฎิรูปที่ต้องครอบคลุมหลายเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญโดยตรง เช่น เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา พลังงาน ประเด็นการปฏิรูปจะได้รับความสนใจและถูกติดตามตรวจสอบ รวมทั้งการที่ฝ่ายต่างๆ อยากจะส่วนร่วมมากขึ้นตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้เกิดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะถ้ากระบวนการปฎิรูปเดินไป แต่ว่ายังมีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นจะทำให้เป็นปัญหาขึ้นมาอีก รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎอัยการศึก คำสั่งของ คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพก็จะเป็นประเด็นที่ถูกจับตามอง ถูกเรียกร้องให้มีการยกเลิก หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
“มี 2 ปัจจัยที่ผมคิดว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินการของ คสช. และรัฐบาล คือ การบริหารเศรษฐกิจต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจขณะนี้มีปัญหามากโดยเฉพาะกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งเป็นผลมาจากพืชผล ปัญหาเรื่องของแพง และนโยบายพลังงานของรัฐบาล ซึ่งถ้าหากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทำได้ดีจะทำให้รัฐบาล คสช.ทำงานง่ายขึ้น หากภาวะเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ความอึดอัดความตรึงเครียดในสังคมมีมาก และส่งผลกระทบต่อการทำงานของ คสช. และรัฐบาลโดยรวม เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ คสช. และรัฐบาลต้องแก้ไข” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ 2 ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องมีข้อยุติและตัดสินใจ เช่น กรณีการถอดถอนบุคคลทางการเมือง ต้องบอกว่าไม่ว่าการตัดสินจะออกมาอย่างไรก็มีคนจำนวนมากไม่พอใจ ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ คสช. และรัฐบาลต้องตระหนักในการทำงาน ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่กระบวนการโดยการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นต้นปี 2559