xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพลระบุ "แม่น้ำ5สาย" ทำงานสอดคล้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง“แม่น้ำ 5 สาย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-23 ม.ค. ที่ผ่านมา จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานของแม่น้ำทั้ง 5 สาย อันประกอบไปด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐบาล สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อความสามารถในการทำงานประสานสอดคล้องกันของแม่น้ำทั้ง 5 สาย อันประกอบไปด้วย คสช.-สนช.- รัฐบาล - สปช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.64 ระบุว่า แม่น้ำทั้ง 5 สาย สามารถทำงานประสานสอดคล้องกันได้ดี รองลงมา ร้อยละ 30.80 ระบุว่า แม่น้ำทั้ง 5 สาย ค่อนข้างสามารถทำงานประสานสอดคล้องกัน ร้อยละ 12.16 ระบุว่า ไม่ค่อยสามารถทำงานประสานสอดคล้องกัน ร้อยละ 11.68 ระบุว่า ไม่สามารถทำงานประสานสอดคล้องกันได้เลย และ ร้อยละ 2.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ที่ระบุว่า แม่น้ำทั้ง 5 สาย ค่อนข้างสามารถทำงานประสานสอดคล้องกันได้ดี ให้เหตุผลเพราะว่า ทุกฝ่ายต่างต้องการเห็นการพัฒนาของประเทศไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว แต่ละฝ่ายถูกแต่งตั้ง และอยู่ภายใต้การบริหารการทำงานของรัฐบาลซึ่งเป็นที่รู้จักมักคุ้นในแวดวงการเมืองกันอยู่แล้ว จึงน่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
ส่วนผู้ที่ระบุว่าแม่น้ำทั้ง 5 สาย ไม่ค่อยสามารถทำงานประสานสอดคล้องกันได้เลย ให้เหตุผลเพราะว่า แต่ละฝ่ายมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ประกอบกับมีคนเป็นจำนวนมาก ต่างฝ่ายต่างย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และอาจมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกรณี ที่รัฐบาลไม่สนใจมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรื่องการไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และจากกรณีที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ใส่ใจในข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองของ สปช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.40 ระบุว่า เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตยที่ต้องมีความคิดเห็นต่าง รองลงมา ร้อยละ 18.96 ระบุว่า เป็นสิทธิของรัฐบาลและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องทำตาม สปช. ร้อยละ 15.36 ระบุว่า ข้อเสนอของ สปช. ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และความคิดเห็นของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 12.56 ระบุว่า รัฐบาลมีธงอยู่แล้วในเรื่องของสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ร้อยละ 5.12 ระบุว่า สปช. ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่สภากระดาษ ที่มีหน้าที่แสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจอะไร ร้อยละ 4.64 ระบุว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีธงอยู่แล้วในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง
ร้อยละ 3.44 ระบุว่า รัฐบาลและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่เคารพ และไม่ให้เกียรติ สปช. ร้อยละ 2.48 ระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่า สปช. อาจแก้เผ็ดด้วยการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต ร้อยละ 2.16 ระบุว่า อื่นๆ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ทุกฝ่ายควรร่วมมือและพูดคุยตกลงกัน โดยเฉพาะรัฐบาล ควรรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย และร้อยละ 15.36 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น