xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ไม่ขัดรวม กสม. ติงตัดอำนาจสอบจริยธรรม ขอองค์อำนาจมี 5 คน คาด UN เข้าใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศรีราชา วงศารยางกูร และพล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน(แฟ้มภาพ)
ผู้ตรวจฯ ตั้งโต๊ะแถลงไม่ติดใจรวม กสม. แต่ค้านโยนอำนาจสอบจริยธรรม ให้ สมัชชาคุณธรรมจริยธรรม องค์กรเดียว ขอวางการทำงานให้ชัด ลดองค์อำนาจเหลือ 5 คน กันมากความ กังวลความเป็นสากล แนะช่วงยกร่างฯให้ผู้แทน 2 องค์กรร่วม อย่านั่งเทียน ปลื้มยังใช้ผู้ตรวจฯนำ ขออย่าร่างโครงสร้างอำนาจยาว ย้ำ ต้องรายงาน UN ต่อคาดเข้าใจ ชี้ กก.ควรใช้ชื่อเดิม ขออย่าให้ละเมิดสิทธิติดเทียร์ 4 กันถูกแบน

วันนี้ (3 ก.พ.) ผู้ตรวจการแผ่นดินนำโดย นายศรีราชา วงศารยางกูร และ พล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ร่วมกันแถลงถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติให้ควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กร “คณะผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน” โดยนายศรีราชากล่าวว่า ตนเคารพมติของ กมธ.ยกร่าง เพราะดูจากร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา อำนาจของผู้ตรวจและ กสม.ยังอยู่ครบถ้วน ยกเว้นในเรื่องของการตรวจสอบจริยธรรมที่ กมธ.ยกร่างอาจให้เป็นหน้าที่ของสมัชชาคุณธรรมจริยธรรมเป็นผู้ดำเนินการแทน แต่อยากขอให้ กมธ.ยกร่างให้ผู้ตรวจมีหน้าที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมต่อไป เพราะถ้าทำให้ภาคราชการมีคุณธรรมก็จะทำให้การร้องทุกข์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการลดน้อยลงและเห็นว่าเรื่องของการส่งเสริมคุณธรรมไม่ควรจองให้องค์กรใดจองกฐินเป็นเจ้าภาพเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ปาฐกถาว่าเห็นว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องของการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น

นายศรีราชากล่าวอีกว่า หากมีการควบรวมสององค์กร อยากให้ กมธ.ยกร่างสร้างความชัดเจนในการทำงาน เพื่อลดข้อครหาในการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างองค์กรหรือสองมาตรฐาน ส่วนจำนวนขององค์อำนาจที่จะให้มี 11 คนนั้น เห็นว่ามากเกินไปหรือไม่ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาในลักษณะที่มากคนก็มากความ จึงคิดว่ามีเพียง 5 คนน่าจะเหมาะสม ขณะเดียวกัน กระบวนการสรรหาอยากให้คำนึงถึงการทำให้กรรมเมื่อเข้ามาแล้วทำหน้าที่หลอมรวมกันได้ อีกทั้งยังมีความกังวลเรื่องความเป็นสากลขององค์กร เนื่องจากผู้ตรวจมีหน้าที่ให้สิทธิประชาชน ส่วน กสม.ก็คอยปกป้องคุ้มครองสิทธิประชาชน รวมทั้งในเรื่องสถานะของบุคลากร ที่ปัจจุบัน กสม.จะเป็นข้าราชการเต็มตัว แต่ผู้ตรวจการจะเป็นพนักงาน ซึ่งสิทธิประโยชน์จะมีความแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อรวมกันแล้วคงต้องเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง

“หากมีการรวมกัน ในส่วนกรรมการของทั้งสององค์กรคงไม่มีปัญหา เพราะกสม.ชุดนี้กำลังจะหมดวาระในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ ส่วนผมก็จะครบวาระในช่วงที่รัฐธรรมนูญอาจใกล้ใช้บังคับ แต่ที่เป็นห่วงคือเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงอยากให้ กมธ.ยกร่างได้รับฟังเสียงของประชาชนและเสียงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในชั้นการยกร่างกฎหมายประกอบควรที่จะให้ผู้แทนของสององค์กรได้เข้าร่วม ไม่ใช่ทำกันเหมือนนั่งเทียน เพราะหากเป็นเช่นนั้นที่หวังว่าโครงสร้างจะรัดกุมอาจละหลวมได้” นายศรีราชากล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ตนยังรู้สบายใจและมีความสุขที่ กมธ.ยกร่างยังกำหนดชื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นชื่อนำอยู่ แต่ต้องดูกันต่อไปว่าเกมส์นี้การควบรวมจะเป็นไปได้อย่างไรเพราะยังมีเสียงคัดค้านอยู่ จิ้งจกทักก็ต้องฟัง

ด้าน พล.อ.วิทวัสกล่าวว่า ถ้าหากว่ามีการควบรวมเราก็ไม่ติดใจ แต่อย่างไรต้องมีการปรับปรุงแก้ไขลดช่องว่างในข้อกฎหมาย เมื่อควบรวมแล้วก็ต้องไปดูว่าในการทำหน้าที่ในแต่ละเรื่องมีที่มาที่ไปอย่างไร และฝากให้ กมธ.ยกร่างเขียนโครงสร้างอำนาจหน้าที่ในรัฐธรรมนูญไม่ให้เกิดความยืดเยื้อหรือยาวจนเกินไป เพราะเมื่อสภาพแวดล้อมบ้านเมืองเกิดเปลี่ยนแปลงไปเราจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ อีกทั้งเมื่อควบรวมสององค์กรแล้วการทำรายงานต่อสหประชาชาติเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ส่วนเรื่ององค์อำนาจนั้นเห็นว่ามีจำนวน 5 คนก็เพียงพอ แล้วจะไปแบ่งหน้าที่อย่างไรก็ต้องพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับชื่อองค์กรกับชื่อผู้ดำรงตำแหน่งต้องแยกกันเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน โดยตัวองค์กรจะใช้ชื่อผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชนก็ใช้ไป แต่ตัวกรรมการควรเรียกว่าผู้ตรวจการแผ่นดินก็น่าจะเพียงพอ เพราะชื่อนี้ถือว่าเริ่มติดตลาดซึ่งประชาชนจำได้แล้ว

เมื่อถามว่า กสม.ต้องรายงานการทำงานต่อสหประชาชาติทุกปีหากมีการควบรวมกับผู้ตรวจการจะได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติหรือไม่ นายศรีราชากล่าวว่า ในข้อเท็จจริงตนไม่สามารถตอบคำถามแทนได้ แต่ถ้าหากสหประชาชาติมีความเข้าใจว่าแม้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อองค์กรแต่อำนาจในการทำหน้าที่ยังเหมือนเดิมก็ไม่น่ามีปัญหา อย่างไรก็ตามสหประชาชาตินั้นทำหน้าที่เพียงคนที่คอยควบคุมและกระตุ้น แต่สิ่งสำคัญเราต้องทำให้ชัดเจน สิ่งที่เราทำเป็นผลดีต่อประเทศไทยไม่ใช่สหประชาชาติ เพราะเราไม่ได้ยืมจมูกคนอื่นหายใจ โดย พล.อ.วิทวัสกล่าวเสริมว่า มาตรฐานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในประเทศไทยนั้น แม้สหประชาชาติจะเป็นผู้ประเมิน แต่นี่เป็นหน้าที่สำคัญของคนไทยที่จะต้องไม่ทำให้อันดับเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของประเทศไทยตกลงไประดับเทียร์ 4 เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะถูกแขวนไปถึง 4 ปี และจะมีผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น