xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” เปรียบ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แฝดสยามอิน-จัน ทำไม่เสร็จตายด้วยกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวทีสัมมนาของ สปช. กำหนดยุทธศาสตร์ปฏิรูป 8 ข้อ ยึดหลัก “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ก่อนเสนอวิป สปช. พรุ่งนี้ “บวรศักดิ์” เผย กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนแม่น้ำสายที่ 5 เปรียบแฝดสยามอิน - จัน โอดใครทำไม่เสร็จก็ตายร่วมกัน

วันนี้ (20 ม.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย ถนนพญาไท สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดเวทีสัมมนา “จากวิสัยทัศน์สู่แผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย” โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. และ น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 ร่วมเวที โดย นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญถูกเรียกว่าเป็นแม่น้ำสายที่ 5 แตกออกจาก สปช. เป็นแผนอิน - จัน แยกกันไม่ได้ ถ้าใครทำไม่เสร็จก็ตายร่วมกัน การร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้หมวดที่กำลังรอที่จะทำคือหมวดปฏิรูป เช่น ระบบการศึกษา จะต้องมีการจ่ายค่ารายหัวให้เพียงพอ ไม่ใช่ให้กระทรวงศึกษาธิการ ไปจัดการและนำมาหักค่าหัวเยอะแยะเต็มไปหมด นักเรียนจะต้องถือคูปองไปเลือกโรงเรียนได้จริงๆ แต่ก็ต้องคุ้มครองเด็กในชนบทให้มีโอกาสได้ใช้จริงๆ

ทั้งนี้ ถ้าจะให้ตนแสดงความคิดเห็นในฐานะ สปช. ตนคิดว่า 4 คำที่เราต้องคำนึงถึง คือ มั่นคง มั่นคง ยั่นยืน สันติสุข และนำไปแตกเป็นเรื่องๆ ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และกำหนดเวลาทำให้เสร็จภายในกี่เดือน ซึ่งจะมีจิกซอว์ชิ้นตรงกลางเพื่อจัดการให้เสร็จสิ้น วันนี้เราต้องทำตารางงาน ตารางเวลาที่ชัดเจน เพราะถ้าเราทำไม่เสร็จ เราอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ประชุมกันไปเรื่อยๆ เราไม่ใช่ ส.ส. หรือ ส.ว. ที่จะมีเวลา 3 - 4 ปี เพราะหลังจากนี้เราก็ต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอีกเกือบ 1 เดือนด้วย จากนี้ถึงวันที่ 6 ส.ค. เรามีเวลาอีกแค่ 6 เดือน และหลังวันที่ 6 ก.ย. ถ้าเขามีมติให้ทำประชามติ ทุกคนจะต้องวิ่งลงไปทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นเราจะเดินไปเรื่อยๆ แบบนี้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเขาจะเรียกว่าเสียของ กรรมาธิการยกร่างฯต้องขออภัยด้วยที่ไม่สามารถรอได้อย่างที่ท่านเสนอ

ด้าน นายเทียนฉาย กล่าวว่า ภาระหน้าที่ที่เรามาทำกันสองวันนี้ ตนได้คำตอบว่า อยากจะชี้ชวนให้สมาชิก สปช. ได้ทราบว่าตนคิดอย่างไร และถ้าจะคิดตรงกันได้ก็จะประหยัดเวลาไปอีกเยอะ ถึงเวลาที่เราจะต้องลดการพูดลงครึ่งหนึ่ง เปลี่ยนเป็นทำมากขึ้น คำถามก็คือ ทำอะไร และใครทำ หรือ ฮาวทู ซึ่งตนอยากให้เสร็จก่อน 6 เดือน ทั้งนี้ ผลประชุมของวันนี้ให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสภาฯ ในวันพรุ่งนี้ และเดินหน้าประชุมทันที ซึ่งจะทำให้สามารถนำเข้าที่ประชุม สปช. ทันวันจันทร์หน้า สิ่งที่สมาชิก สปช. เสนอกันขณะนี้ เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ไม่ต้องปฏิวัติก็สามารถทำได้

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศช่วงบ่าย วงสัมมนาได้แบ่งกลุ่ม เพื่อระดมสมอง กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปที่จะนำไปสู่เป้าหมายใน 8 ด้าน เพื่อให้การทำงานของคณะกรรมาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติทั้ง 18 คณะ ปรับเข้าสู่ทิศทางเดียวกันภาพประเทศไทย 2575 ที่ต้องการเห็น คือ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ได้แก่ ด้านที่ 1 ระบบการเมือง การป้องกันการทุจริต ระบบธรรมาภิบาล ป้องกันการทุจริต ปฏิรูประบบพรรคการเมือง ทรัพยากรมนุษย์ และการเข้าถึงขอ้มูลและธรรมาภิบาล โดยปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้สามารถเอาผู้ทุจริตมาลงโทษอย่างเคร่งครัด จริงจัง รวมถึงการลงโทษผู้ให้สินบน พร้อมปฏิรูปกระบวนการจัดหาโดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และหน่วยราชการของรัฐ โดยออกเป็นพระราชบัญญัติแทนใช้ระเบียบ เพื่อให้มีผลผูกพันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมวางกลไกในการจัดการทุจริต จัดให้มีระบบ 3 สภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา สภาประชาชน ปฏิรูประบบพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนไม่ใช่ของกลุ่มทุน กระบวนการคัดกลองคนดีเข้าสู่การเมือง ควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

ด้านที่ 2 การปกครองท้องถิ่นและการบริหารราชการแผ่นดิน โดยปฏิรูประบบตำรวจ และปฏิรูปการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการระดับสูงไม่ให้เกิดการแทรกแซงจากภาครัฐ ขณะเดียวกัน ปฏิรูประบบบริหารงานบุคคล เรื่องการทำงานที่เป็นมาตรฐาน เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย รวมทั้งปรับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการติดตามประเมินผลภาคราชการ (คตป.) ปฏิรูปแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติราชการในองค์กรทุกระดับ พร้อมกำหนดให้มีสมัชชาประชาชนในการบริหารราชการ และประเมินผลของหน่วยราชการทุกรดับ นอกจากนี้ ควรยกระดับมาตฐานการให้บริการสาธารณ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพสูชีวิตที่ดี

ด้านที่ 3 ระบบกฎหมาย โดยปฏิรูปกฎหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้างของรัฐ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ศาล อัยการ หน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม และองค์กรอิสระ ปฏิรูปองค์กรตำรวจ ระบบการบริหารงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม นอกจากนี้ ต้องปฏิรูปขั้นตอนการออกกฎหมายให้รวดเร็วสอดคล้องกับความจำเป็นในการบริหารประเทศ โดยมีการกำหนดเวลาการจัดทำกฎหมายให้กระชับและลดขั้นตอน ควบคู่กับการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพโดยมีกฎหมายกลาง เพื่อให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานภายใต้กฎหมายเดียวกัน

ด้านที่ 4 ระบบเศรษฐกิจ การเงินคลัง การคลัง การเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ พลังงาน โดยเน้นความเป็นธรรม กระจายทั่วถึง มุ่งเศรษฐกิจสีเขียว พร้อมปฏิรูปด้านพลังงาน ธุรกิจ sme เศรษฐกิจฐานราก ด้านแรงงาน โครงสร้างภาษี รัฐวิสาหกิจองค์การมหาชน และภาคเกษตร ควบคู่กับการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ซึ่งรวมถึงระบบโลจิสติกส์และการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านที่ 5 การศึกษา การพัฒนาคุณภาพคน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ปัญหาของประเทศ โดยมุ่งปฏิรูปโครงการบริหารการศึกษา ปฎิรูประบบการเรียนรู้ และปฎิรูประบบวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขณะที่การประเมินวิทยะฐานะครูควรมุ่งเน้นเชิงคุณภาพ พร้อมจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของประเทศ เพื่อให้มีการใช้บิ๊กดาต้าในการพัฒนาประเทศ

ด้านที่ 6 ระบบสาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม โดยแก้ปัญหาสุขภาพ และส่งเสริมการดูแลสุขภาพในระดับพื้นที่ได้อย่างตรงจุด มุ่งปฏิรูประบบข่าวสารเพื่อให้ความรู้ประชาชนด้านสุขภาพ พร้อมสร้างเมืองน่าอยู่ โดยให้แต่ละจังหวัด มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพชุมชน

ด้านที่ 7 โครงสร้างสังคม ชุมชน การดูแลสวัสดิการของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง พัฒนาผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีอัตลักษณ์ จัดให้มีศูนย์ไอทีชุมชน นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้มีการจัดการที่ดินโดยชุมชน และเน้นชุมชนปลอดยาเสพติด

และด้านที่ 8 โครงสร้างการสื่อสารและศิลปวัฒนธรรมปฎิรูปด้านโครงสร้างและสาระของการสื่อสารและศิลปวัฒธรรมโดยมุ่งสร้างสังคมดี เพื่อให้ประชาชนมีความสุข พร้อมสร้างสังคมปรองดองให้เกิดขึ้น ขณะเดียกันต้อง ปฏิรูปสื่อให้เป็นโรงเรียนของสังคม สร้างจิตสำนึกจิตวิญญาณความเป็นสื่อที่พึงประสงค์ให้ประชาชน พร้อมส่งเสริมให้สื่อกำกับดูแลกันเองอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องไม่ลืมที่จะส่งเสริมให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อ สร้างกลไกให้ภาคประชาชนแข็งแรง

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทยจะนำข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการวิสัยทัศน์ประเทศไทย (VISION WORKSHOP) ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 19 - 20 ม.ค. เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) ในวันพรุ่งนี้ (21 ม.ค.)



กำลังโหลดความคิดเห็น