xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.สื่อมวลชนเสนอตั้งองค์กรระดับชาติดูแลกันเอง - ปฏิรูปสังคมสองภาษาในปี 2575

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชุมพิจารณารายงาน กมธ. วิสามัญ 18 คณะ กมธ.สื่อสารมวลชนเสนอตั้งองค์กรวิชาชีพระดับประเทศดูแลกันเอง ให้รัฐส่งเสริมประชาชนรู้เท่าทันสื่อ สมาชิกบางคนขอเพิ่มประเด็นสื่อเทียม กำกับโซเชียลมีเดีย “มานิจ” เตรียมเสนอกฎหมายควบคุมโฆษณาของรัฐ “เกริกไกร” ตั้งเป้าปฏิรูปสังคมสองภาษาใน 20 ปี เสนอลดความเหลื่อมล้ำ 7 ประเด็น

วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องสรุปความเห็นหรือข้อเสนอแนะในการยกร่ารัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 18 คณะ ซึ่งมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธานการประชุม นายจุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รายงานความเห็นและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการ ต่อที่ประชุม สปช. ว่า สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนทั้งภายรัฐ และเอกชนต้องได้รับหลักประกันของอิสระในการประกอบอาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำและแทรกแซงจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน

ทั้งนี้ เพื่อให้การนำเสนอข้อมูล ข่าวสารเป็นไปอย่างเที่ยงตรง ในส่วนการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องได้รับการพัฒนา ดูแล ทั้งสวัสดิภาพและสวัสดิการของการประกอบวิชาชีพ เสนอให้ตั้งองค์กรวิชาชีพระดับประเทศ โดยมีตัวแทนของสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมต่อการทำงานเพื่อกำกับดูแลกันเองอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กรอบจริยธรรมของวิชาชีพ ทางด้านคลื่นความถี่ ที่มีองค์กรที่กำกับดูแลแล้วต้องให้หน่วยงานดังกล่าวมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาในอุตสาหกรรมสื่อฯ ในโทรคมนาคมสารสนเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนด้วย รัฐต้องเข้าไปมีส่วนส่งเสริมให้ประชาชนฐานะผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก และเยาวชนในทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

นอกจากนี้ มีข้อพิจารณาด้วยว่าในอนาคตกลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มใช้สื่อสมัยใหม่จำนวนมาก ดังนั้น รัฐต้องดูแลและส่งเสริมการใช้สื่อใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของข่าวสาร ดังนั้น ควรตั้งสภาประชาชนเพื่อกำกับดูแลสื่อและให้ข้อมูลเพื่อเพิ่มทักษะการรู้เท่าทันสื่อฯ ส่วนปัญหาที่ผ่านมากรณีการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง และทำให้สังคมแตกแยกมีข้อเสนอกำหนดหรือกฎหมายที่ว่าด้วยการเอกผิดทางอาญาอย่างชัดเจนกับการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเกลียดชังกันในสังคม

ขณะเดียวกัน มีผู้สมาชิกอภิปรายขอให้เพิ่มเติมในประเด็นการกำกับดูแลสื่อเทียมหรือสื่อที่นำเสนอเพียงข้อมูลด้านเดียว หรือมีลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ และขอให้มีมาตรการที่ใช้กำกับสื่อในกลุ่มโซเชียลมีเดีย หรือสื่อบนอินเทอร์เน็ต ที่พบว่ามีการกระจายข้อมูลไปสู่สาธารณะโดยขาดการกลั่นกรองหรือข้อเท็จจริงและก่อให้เกิดปัญหา และการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ทางด้าน นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 ให้ข้อเสนอแนะว่าในประเด็นที่ กมธ. นำเสนอสามารถนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญได้ และมีบางประเด็นที่อยู่ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือส่วนบทบัญญัติของประมวลจริยธรรม แต่ยอมรับว่าสื่อมวลชนถูกวิจารณ์ในการทำหน้าที่และเรียกร้องให้มีการปฏิรูป โดยเฉพาะการทำงานของสื่อมวลชนที่ทำงานเป็นเหมือนสื่อของรัฐ ขาดความรับผิดชอบ ในประเด็นของกลุ่มรัฐเข้าครอบงำสื่อมวลชน ด้วยการซื้อพื้นที่โฆษณานั้น ล่าสุดทางคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเตรียมเสนอกฎหมายกฎหมายควบคุมการโฆษณาของรัฐ ที่มีหลักเกณฑ์โฆษณา เชื่อว่าจะช่วยลดการแทรกแซงด้วยการใช้งบประมาณรัฐซื้อพื้นที่โฆษณาได้

นายพารณ อิสระเสนา ณ อยุธยา ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สรุปประเด็นความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการจัดการศึกษา การเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีเสรีภาพในทางวิชาการ การเรียนการสอนโดยไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องเขารับการศึกษา ได้รับการปลูกฝังทัศนคติ และจิตสำนึกในความซื่อสัตย์ สุจริต ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีส่วนร่วมในการปกป้อง ร่วมรับผิดชอบสาธารณประโยชน์ของส่วนรวม และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ส่วนรัฐต้องกำหนดนโยบายการศึกษาภายใต้หลักการ เช่น การศึกษาคือการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นโยบายการศึกษาต้องมีความต่อเนื่อง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และปราศจากการแทรกแซงใดๆจากกลุ่มผลประโยชน์ ให้สถานศึกษาสภาพเป็นนิติบุคคลที่มีความเป็นอิสระและรับผิดชอบต่อคุณภาพของผลการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม โดยจัดให้มีกลไกและคณะบุคคลเพื่อดูแลการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ปราศจากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะ เพื่อทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาและกำกับติดตามให้บรรลุผลตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการปฏิรูปอาชีวศึกษาและการผลิต พัฒนาครู ผู้บริหารทุกระดับให้มีคุณภาพ ปรับปรุงกฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และให้มีการตรากฎหมายใหม่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและการรับรองผลเชิงคุณภาพของผู้เรียนอันเกิดจากการจัดการศึกษา

ทั้งนี้ สมาชิกได้อภิปรายกันหลากหลาย โดยเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูปการศึกษา อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ ต้องเปลี่ยนบทบาทเชิงนโยบายมาเป็นผู้กำกับ ต้องยอมรับว่าการศึกษาที่เป็นอยู่เป็นการจัดการที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ ยังมีเด็กด้อยโอกาสในชนบทอีกหลายแห่งที่ยังไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาดีเหมือนในตัวเมือง จึงต้องลดช่องว่านี้ออกไป ให้นับผลงานครูจากผลงานของเด็ก ระบบการให้รางวัลหรือค่าจ้างต้องมีการเปลี่ยนแปลง

นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตรอุตสาหกรรม พาณิชย์การท่องเที่ยวและบริการ เสนอว่า รัฐต้องยึดปรัชญาเศรษฐกิจสังคมเสรีนิยม เพื่อสิทธิความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม และจะต้องยึดถือและดำเนินการตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้การดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐและประชาชนอยู่บนพื้นฐานความพอประมาณ สมเหตุสมผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และพึ่งพาตนเองได้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ควรสนับสนุนให้ใช้หลักนิติธรรม คุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลและขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบในการประกอบกิจการทั้งภาครัฐและเอกชนควบคุมให้มีการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง โดยการใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ

ทางด้านเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติในการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน ในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศภาครัฐต้องผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเพื่อเปิดเสรีในเวทีต่างๆ ทั่วโลกเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ สนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวโดยมีกลไกในการคุ้มกันตนเองที่เป็นระบบมีประสิทธิภาพและต้องส่งเสริมผลักดันให้ธุรกิจเอกชนในระดับต่างๆ สามารถเชื่อมโยงเข้าหาโอกาสและมีบทบาทในเวทีเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ส่วนประเด็นการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม มี 7 ประเด็น คือ 1. รัฐจะต้องจัดหา จัดรูป หรือมีการบริหารจัดการที่ดินของรัฐและเอกชนที่ไม่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกษตรกรและชุมชนมีที่ทำกินภายใต้เงื่อนไขกำหนด 2. จะต้องจัดหาและจัดระบบสวัสดิการ การศึกษา สุขภาวะ การดำรงชีพอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในให้ประชาชนอย่างเป็นธรรม โดยประชาชนต้องพึ่งพาตนเองเป็นพื้นฐาน 3. ต้องกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์แห่งชาติภายในปี 2575 4. ต้องปฏิรูปให้สังคมไทยเป็นสังคมสองภาษา ภายในปี 2575 5. รัฐต้องปรับปรุงและปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม 6. รัฐต้องสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็ง ยั่งยืนของเอสเอ็มอี สหกรณ์สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เป็นต้น ตามความเหมาะสม และ 7. รัฐจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้สามารถป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ



กำลังโหลดความคิดเห็น