xs
xsm
sm
md
lg

“สุจิต” เผยผลสรุป อนุฯ คณะ 3 คุณสมบัตินายกฯต้องไม่มีคดีทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุจิต บุญบงการ (แฟ้มภาพ)
ประธาน อนุ กมธ. คณะที่ 3 เผยผลสรุปให้มีระบบ 2 สภา ส.ส. มีทั้งแบบเขต และปาร์ตีลิสต์ นับคะแนนส.ส. บัญชีรายชื่อแบบเยอรมัน นายกฯมาจากการโหวตของ ส.ส. ไม่เคยต้องคดีทุจริต

นายสุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 3 ในฐานะประธานคณะอนุกมธ. พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญคณะที่ 3 ว่าด้วยระบบผู้แทนที่ดี ผู้นำการเมืองที่ดี แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุม กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการพิจารณารายละเอียดของกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญของคณะอนุ กมธ. คณะที่ 3 ซึ่งใช้เวลานานกว่า 7 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุม กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นชอบในหลักการตามที่อนุ กมธ. คณะที่ 3 เสนอ คือ ใช้มีระบบ 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) โดยในส่วนของ ส.ส. มาจาก 2 ระบบ คือ มาจากการเลือกตั้งแบบเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

ทั้งนี้ ส.ส. แบบเขตจะใช้เกณฑ์ ส.ส. 1 คน ต่อประชากร 2 แสนคน ส่วนการนับคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ให้ยึดคะแนนนิยมของประชาชน โดยทุกคะแนนเสียงของประชาชนจะได้รับการพิจารณา หรือแบบการนับคะแนนของประเทศเยอรมนี

นายสุจิต กล่าวว่า ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรีให้มาจากการโหวตในสภาผู้แทนราษฎร โดยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ต้องยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35(4) ที่ระบุว่า “มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบ มิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้ง ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด” เป็นแนวทาง

อย่างไรก็ตามการเห็นชอบดังกล่าวยังไม่ถือเป็นข้อสรุปใดๆ เพราะต้องรอฟังข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อน

“รายละเอียดที่ อนุ กมธ. คณะ 3 ได้ศึกษานั้น เราได้เน้นไปที่โจทย์ใหญ่คือการสร้างระบบถ่วงดุลของฝ่ายต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ เพราะในบทเรียนช่วงที่ผ่านมาพบแล้วว่าหากมีพรรคการเมือง หรือมีผู้นำที่เข้มแข็งทางการเมือง เขาจะใช้อำนาจนั้นสร้างระบบอุปถัมภ์ มีการใช้นโยบายประชานิยมที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่น ดังนั้นทางคณะทำงานต้องมุ่งเน้นการป้องกันปัญหาดังกล่าว”

“นายสุจิต กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของ นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ระบุไม่ให้เขียนนิรโทษกรรมให้ผู้ล้มล้างการปกครองในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ทาง กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับฟังความเห็นดังกล่าวเช่นเดียวกับการรับฟังข้อเสนอของพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆ แต่ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปปฏิบัติหรือปรับใช้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง โดยยึดประเด็นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น