“เทียนฉาย” นัด สปช.ประชุมถกข้อเสนอยกร่าง รธน. 18 คณะ 15-17 ธ.ค. กมธ.ปฏิรูปการเมือง ชงเลือกนายกฯ- ครม.โดยตรง มี ส.ส. 350 คน ส.ว. 157 คน ด้าน กมธ.ปฏิรูป กม. เสนอไม่ให้ ขรก. เจ้าหน้าที่รัฐไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ขณะเดียวกัน ชูปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรของชาติ มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตัดสิทธิแก๊งบ้านเลขที่ 111 และ 109 ห้ามเล่นการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นัดประชุม สปช. วันที่ 15-17 ธ.ค. เพื่อพิจารณารายงานข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญประจำสภา จำนวน 18 คณะ โดยรายงานดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.กมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง เสนอให้ประชาชนเลือกตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรง โดยให้พรรคการเมืองระบุชื่อนายกรัฐมนตรี และ ครม.ทั้งคณะ หากปรากฏว่า การเลือก ครม. รอบแรกไม่มีผู้สมัครคณะใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งให้นำคณะที่ได้คะแนนอันดับหนึ่ง และสองมาเลือกตั้งใหม่ภายในเวลาที่กำหนด ในระหว่างการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลรักษาการ โดยให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาการแทนรัฐมนตรี
ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดให้มี ส.ส. 350 คน โดยใช้ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ส่วนที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และเลือกจากกลุ่มองค์กรวิชาชีพ และกลุ่มอาชีพอื่นๆ อีก 77 คน รวมทั้งหมด 154 คน นอกจากนี้ เสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง ไม่ต้องผ่านอัยการ และให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ และควรตั้งศาลว่าด้วยคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
ส่วนการยุบพรรคการเมือง กมธ.การเมืองฯ เห็นว่าควรยุบได้เฉพาะกรณีที่มีการกระทำความผิดร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ ทั้งนี้ เมื่อมีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมถึงที่สุด และเรื่องการสร้างความปรองดองนั้น พรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองห้ามกระทำการใดๆ ที่ทำลายความเป็นเอกภาพของชาติ หรือสร้างความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
2.กมธ.บริหารราชการแผ่นดิน เสนอให้ควรจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ เพื่อรับผิดชอบพัฒนาระบบและกลไกที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ ควรกำหนดแนวทางในการจำกัดอำนาจและปรับลดบทบาทภาครัฐลง รวมทั้งลดการแทรกแซงของภาครัฐในกลไกตลาด และการบริหารราชการแผ่นดินต้องมีการจัดแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ชาติ และประชาชนแท้จริง ไม่ใช่ยึดตามนโยบายพรรคการเมืองในการหาเสียงจนขาดความต่อเนื่อง และรอบคอบ
3.กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เสนอให้รัฐจัดให้มีมาตรการที่เด็ดขาดในการป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ห้ามมิให้ข้าราชการที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ข้าราชการอื่น และเจ้าหน้าที่ของรัฐไปดำรงตำแหน่งในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เว้นแต่หน่วยงานที่ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจนั้น ให้เข้าไปดำรงตำแหน่งได้เท่าที่จำเป็น และให้มีศาลแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลอุทธรณ์ โดยให้เป็นระบบศาล 2 ชั้น
4.กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เสนอให้รัฐต้องส่งเสริมความเป็นอิสระทางการคลังของท้องถิ่น โดยจัดให้มีระบบคู่ขนาน คือ การจัดสรรงบประมาณตามพื้นที่ ควบคู่การจัดสรรงบประมาณตามภารกิจ ภายใต้หลักการที่มุ่งสร้างความยืดหยุ่นคล่องตัวให้ท้องถิ่น ซึ่งรายได้ของรัฐที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นใดให้ขึ้นบัญชีเป็นรายได้ท้องถิ่นนั้น ทั้งนี้ รายได้ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นให้จัดสรรแก่ท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 60%
5.กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เสนอให้มีคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์การศึกษาและวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระ ที่ปราศจากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์
6.กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง เสนอให้บุคคลพึงแสดงสถานะรายได้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ และให้ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี โดยผู้เสียภาษีมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย เสียภาษีไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดอย่างเป็นธรรม ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องและแน่นอน ให้สามารถอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีได้ รวมทั้งได้รับความคุ้มครองในสิทธิส่วนบุคคลด้วย และรัฐต้องจัดให้มีระบบบำเหน็จบำนาญของประชาชน โดยต้องคำนึงถึงความเพียงพอในการยังชีพหลังเกษียณและไม่เป็นภาระทางการคลัง เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
7.กมธ.ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ เสนอให้รัฐต้องกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์แห่งชาติ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยอาจกำหนดเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ให้ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% ให้มีรายได้เฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อปี และปรับปรุงกฎหมายการค้าเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้า
8.กมธ.ปฏิรูปพลังงาน เสนอให้ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่นๆ เป็นทรัพยากรของชาติ มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชน ทั้งในระดับประเทศ และท้องถิ่น นอกจากนี้ ต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยราคาพลังงานที่ผู้บริโภคจ่ายต้องไม่อยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการกิจการพลังงานได้กำไรเกินควร แต่ไม่ถึงกับทำให้ผู้ประกอบการต้องขาดทุน และราคาพลังงานต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริง
9.กมธ.ปฏิรูประบบสาธาณสุข เสนอให้รัฐสนับสนุนและจัดสรรทรัพยากร สำหรับบริการสาธารณสุขให้เพียงพอ และยั่งยืน สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจและสังคม โดยคำนึงถึงมาตรฐานความทั่วถึง ความเป็นธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
10.กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอให้รัฐจัดให้มีระบบและแผนบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้สามารถเอื้อประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน ควบคู่การบังคับใช้กฎหมายจริงจัง เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงการใช้ประโยชน์ และทรัพยากรอย่างเท่าเทียม และต้องมีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเพื่ออำนวยความยุติธรรม และเป็นกลไกในการทำหน้าที่ขจัดปัญหาความขัดแย้งด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
11.กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เสนอให้รัฐธรรมนูญต้องประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชนในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงสิทธิการรับรู้และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐอย่างทั่วถึง และความเสมอภาค ทั้งนี้ สื่อมวลชนย่อมได้รับหลักประกันความเป็นอิสระที่จะไม่ถูกครอบงำและแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุน นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของสื่อ และต้องกำกับดูแลการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ในสังคม
12.กมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส เสนอให้รัฐธรรมนูญต้องรับรองการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ และสภาพแวดล้อมอันเป็นสาธารณะ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การขนส่ง ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนการบริการอื่น รวมทั้งการช่วยเหลืออย่างสมเหตุสมผล ปราศจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
13.กมธ.ปฏิรูปแรงงาน เสนอให้รัฐต้องมีระบบประกันสังคมที่คุ้มครองแรงงานที่ขาดรายได้ และส่งเสริมการออมในหมู่ผู้ใช้แรงงานไทย และต้องมีระบบความปลอดภัยในการทำงาน ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม โดยต้องให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองแรงงานสตรีที่มีภาระครอบครัว และกลุ่มแรงงานเปราะบางอื่นๆ
14.กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตมิชอบ เสนอให้ประชาชนมีหน้าที่สอดส่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ ทั้งนี้ เสนอให้รัฐต้องจัดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองเด็ดขาด และมีกลไกตรวจสอบความประพฤติ และการปฏิบัติของผู้นำและผู้ดำรงทางการเมือง
15.กมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา เสนอให้ต้องมีแผนแม่บทระดับชาติ เพื่อพัฒนาและสนับสนุนการสร้างงานศิลปะ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และต้องจัดตั้งองค์กรสมัชชาศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยดึงทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
16.กมธ.ปฏิรูปการกีฬา เสนอให้รัฐต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาการกีฬาเพื่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต จิตใจ รวมทั้งสร้างความสามัคคี และความภาคภูมิใจของคนในชาติ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความเป็นเลิศ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
17.กมธ.ปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา เสนอให้รัฐต้องส่งเสริมให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อปฏิรูปสังคมไทยให้เกิดฐานความรู้ที่ถูกต้อง โดยรัฐต้องจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของแผนการพัฒนาประเทศ
18.กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค เสนอให้กำหนดให้มีองค์การคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากรัฐ เพื่อให้สิทธิผู้บริโภคได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง และให้จัดตั้งศาลคดีผู้บริโภคในศาลยุติธรรม ซึ่งมีผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค โดยผู้พิพากษาต้องมีบทบาทเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียเปรียบในการดำเนินคดี