อนุ กมธ. ตรวจสอบอำนาจรัฐ เสนอ ตั้ง “ศาลวินัยงบประมาณการเงินการคลัง” สอบรัฐหากมีการทุจริตงบ ดัน “สมัชชาคุณธรรม - คุ้มครองสิทธิมนุษยชน” หวังภาค ปชช. มีส่วนร่วม “คำนูณ” เผย วาระผู้ดำรงตำแหน่ง กก. องค์กรอิสระ ต้องรอหารือในที่ประชุม สปช. 15 - 17 ธ.ค. นี้
วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯได้พิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 8 ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานอนุกรรมาธิการ โดยการนำเสนอของคณะอนุกรรมาธิการได้กำหนดกรอบในการจัดทำรัฐธรรมนูญไว้ 4 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1. บุคคลที่จะถูกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญนี้จะครอบคลุมบุคคลทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน ทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ผู้พิพากษา พนักงานอัยการ ผู้ดำรงตำแหน่งในระดับสูง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ เป็นต้น ส่วนที่ 2 ประเด็นหารือในการตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยมุ่งเน้นในเรื่องการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปตามวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ
นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนที่ 3 กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ได้มีการเสนอให้มีศาลวินัยงบประมาณการเงินการคลังขึ้นมาใหม่ โดยมีกลไกในการคุ้มครองผู้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ รวมถึงกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเมื่อพบการกระทำผิด ให้สามารถยื่นฟ้องต่อศาลวินัยงบประมาณการเงินการคลังได้ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้นๆ และในส่วนที่ 4. กลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่นอกเหนือจากองค์กรตรวจสอบภาครัฐ หรือองค์องค์กรอิสระ และ ส.ส. ส.ว. โดยมีการเสนอให้มีกลไกตรวจสอบโดยภาคประชาชน หรือองค์กรภาคประชาสังคม หรือสภาตรวจสอบภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจตรวจสอบภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดให้มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 50 คน แต่ไม่เกิน 100 คน โดยองค์ประกอบ 1 ใน 3 ต้องมาจากตัวแทนองค์กรภาคประชาชนหรือองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดนั้นๆ และจำนวน 2 ใน 3 ให้มาจากประชาชน และมีคุณสมบัติตามข้อกำหนด เช่น ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือผู้บริหารในองค์กรส่วนท้องถิ่น และให้มีวาระไม่เกิน 1 ปี เป็นต้น
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ยังมีการเสนอให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติในส่วนกลาง เพื่อติดตามตรวจสอบในเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผูบริหารระดับสูง ประกอบด้วยสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม จำนวน 45 คน มีวาระไม่เกิน 2 ปี นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีสภาคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ ที่มาจากประชาชนหรือองค์กรภาคประชาชนจำนวน 50 คน เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองผู้บริโภค และมีมติเพื่อให้ฝ่ายธุรการต้องนำไปดำเนินคดีฟ้องศาลที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตามในที่ประชุมได้มีการหารือกันในเรื่องของวาระผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระ แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากเห็นว่าองค์กรอิสระบางองค์กร ต้องคงวาระในการทำงานเพียงวาระเดียว เพื่อความเป็นอิสระในการทำงาน โดยไม่ต้องคำนึงถึงการทำงานในวาระต่อไป ดังนั้นจึงต้องไปหารือพื้นฐานในการทำงานของแต่ละองค์กรก่อน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องนำไปประกอบความคิดเห็นในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 15 - 17 ธันวาคมนี้