วิป สปช.จัดเวลาอภิปราย 15-17 ธ.ค.นี้ เผยมี 246 ประเด็น ผู้นำทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองที่ดีมากที่สุด แบ่งไฮไลต์ปฏิรูปกฎหมาย-ปกครองท้องถิ่น-บริหารราชการแผ่นดิน-การเมืองไว้วันสุดท้าย ให้ประธานแต่ละคณะแจง 30 นาที สมาชิกอภิปรายไม่เกิน 2 ด้าน คนละไม่เกิน 10 นาที กำชับห้ามใช้เวทีอภิปรายตอบโต้หรือหาเสียง
วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรุปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงผลการประชุมวิป สปช.ว่า เป็นการประชุมเตรียมความพร้อมในการประชุม สปช.ในวันที่ 15-17 ธ.ค.นี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในการรายงานผลของคณะกรรมาธิการสามัญประจำ สปช.ทั้ง 18 คณะ ซึ่งมีประเด็นสำคัญรวมทั้งสิ้น 246 ประเด็น โดยประเด็นใหญ่ๆ คือ ผู้นำทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองที่ดี 133 ประเด็น นิติธรรม ศาล การตรวจสอบอำนาจรัฐ 33 ประเด็น และการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง 35 ประเด็น นอกจากนั้นเป็นประเด็นปลีกย่อย
ทั้งนี้ การประชุมในวันที่ 15 ธ.ค.ที่ประชุมได้กำหนดให้อภิปราย 7 คณะ คือ 1. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค 2. คณะกรรมาธิการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา 3. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการกีฬา 4. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการปฏิรูปค่านิยมศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา 5. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน 6. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 7. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ส่วนการประชุมในวันที่ 16 ธ.ค.มีทั้งหมด 7 คณะ คือ 1. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 2. คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง 3. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ 4. คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5. คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข 6. คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส และ 7. คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน
ส่วนการประชุมในวันที่ 17 ธ.ค.ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ เพราะเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก มี 4 คณะ คือ 1. คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 2. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น 3. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน และ 4. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง
โฆษกวิป สปช.กล่าวอีกว่า ที่ประชุมกำหนดให้ประธานแต่ละคณะใช้เวลาอภิปราย พร้อมตอบคำถามสมาชิก คนละ 30 นาที ส่วนสมาชิกได้เปิดให้แสดงความจำนงอภิปรายได้คนละไม่เกิน 2 ด้าน โดยใช้เวลาคนละไม่เกิน 9-10 นาที โดยเปิดให้สมาชิกลงชื่อแสดงความจำนงตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 15 ธ.ค. เวลา 09.30 น. โดยให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงข้อซักถามในแต่ละคณะ และคาดว่าการอภิปรายในวันที่ 17 ธ.ค.จะเสร็จสิ้นในเวลาไม่เกิน 20.00 น. เว้นแต่สมาชิกมีสมาชิกอภิปรายจำนวนมากก็อาจใช้เวลาไปถึง 23.00 น. จากนั้นจะเป็นการลงมติเห็นชอบหรือไม่ในการนำข้อเสนอแนะทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ หรือไม่
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายในครั้งนี้จะต้องเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดต้องไม่เป็นเวทีตอบโต้หรือหาเสียง เพราะถือว่าเรื่องเหล่านี้จะต้องไม่เกิดขึ้นใน สปช.