xs
xsm
sm
md
lg

สปช.รับหลักการร่างข้อบังคับการประชุม - เพิ่มคณะกรรมาธิการ เป็น 18 คณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธาน สปช. เผยหลังรับสนองพระบรมราชโองการฯ ต้องทำงานอย่างเต็มที่ ต้องใช้เวลา ความสามัคคี รวมถึงการปรองดอง ด้านการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม รับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน 204 ต่อ 1 พร้อมกับตั้งกรรมาธิการเต็มคณะ อีกด้านเพิ่มคณะกรรมาธิการ เป็น 18 คณะ เปลี่ยนชื่อ 5 คณะ

วันนี้ (3 พ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่ประธานการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายหลังจากมีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ ทันทีที่เปิดประชุม มีการรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานและรองประธาน สปช.

จากนั้น นายเทียนฉาย แจ้งต่อที่ประชุมว่า หลังจากนี้ สปช. ต้องทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้การทำงานเดินหน้ามากที่สุดตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ หลายเรื่องที่จะต้องมุ่งไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งวิธีการทำงานของ สปช. ต้องไม่ทำในทำนองผู้ออกกฎหมาย ซึ่งการทำงานของ สปช. ต้องใช้เวลา ความสามัคคี รวมถึงการปรองดองของ สปช. จะต้องเป็นต้นแบบให้ของคนในชาติ ส่วนการประชุม สปช. จะประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน ทุกวันจันทร์และวันอังคาร

ต่อมาที่ประชุมเริ่มพิจารณาระเบียบวาระเรื่อง ร่างข้อบังคับการประชุม สปช. ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายเทียนฉายแจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอยกเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุมที่ 13 ไม่ให้มีการถ่ายทอดสดเรื่องการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม ทางวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช. พ.ศ. ... ได้เสนอหลักการและเหตุผลของร่างข้อบังคับดังกล่าว ก่อนให้สมาชิกได้อภิปรายความเห็นวาระแรกประมาณ 15 นาที ที่ประชุมจึงลงมติรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน 204 ต่อ 1 พร้อมกับตั้งกรรมาธิการ เต็มคณะ

รายงานข่าวแจ้งว่า การพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมในวาระ 2 ประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือข้อ 80 เรื่อง การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 17 คณะ ที่สมาชิกบางส่วน อาทิ นายดุสิต เครืองาม นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ไม่เห็นด้วยให้ใช้ชื่อกรรมาธิการวิสามัญฯ เพราะประชาชนไม่เข้าใจความหมายคำว่าวิสามัญ ควรใช้ชื่ออื่นแทน เช่น กรรมาธิการปฏิรูป ซึ่งในที่สุดคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับฯ ยอมให้เปลี่ยนชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นคณะกรรมาธิการปฏิรูป ตามที่สมาชิกเสนอมา

อย่างไรก็ตาม สมาชิกหลายคนยังติดใจเรื่องจำนวนกรรมาธิการฯ 17 คณะ โดยขอให้มีการเพิ่มจำนวนกรรมาธิการ มากกว่า 17 คณะ เนื่องจากเห็นว่า คณะกรรมาธิการบางชุดมีภาระการทำงานมากเกินไป เช่น คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการการเงินและการคลัง และคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมการเกษตร ออกมาเป็นการเฉพาะ โดยสมาชิกต่างพากันเสนอความเห็นกันอย่างหลากหลายกินเวลายาวนาน 8 ชั่วโมง ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

จนกระทั่งเวลา 18.30 น. คณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมได้หารือกัน โดยยอมให้เพิ่มคณะกรรมาธิการฯ อีก 1 คณะ คือ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค รวมมีคณะกรรมาธิการ 18 คณะ และเปลี่ยนชื่อคณะกรรมาธิการฯ 5 คณะ เพื่อให้มีความครอบคลุมภารกิจของ สปช. มากยิ่งขึ้น ได้แก่ 1. คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็น คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและสิทธิพื้นฐานของประชาชน 2. คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง เปลี่ยนเป็นคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเงิน การคลัง 3. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เปลี่ยนเป็นคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และบริการ 4. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ 5. คณะกรรมาธิการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เป็นคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญา วิจัย และนวัตกรรม

ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำและการคุ้มครองผู้บริโภคให้ไปอยู่ในส่วนของภารกิจของคณะกรรมาธิการทุกคณะ โดยให้มีจำนวนคณะกรรมาธิการแต่ละคณะตั้งแต่ 18 - 27 คน จนกระทั่งเวลา 18.50 น. ที่ประชุม สปช. จึงให้ความเห็นชอบตามที่กรรมาธิการแก้ไขมา



กำลังโหลดความคิดเห็น