xs
xsm
sm
md
lg

“วันชัย” กางปฏิทิน เชื่อ 2 เดือนเห็นรูปร่างปฏิรูปประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันชัย สอนศิริ (แฟ้มภาพ)
สปช. เปิดปฏิทินปฏิรูปประเทศ คาดหวัง 2 เดือนเห็นรูปร่าง ถ้าทำไม่ได้ถือว่าเสียของ พอใจภาพรวม กมธ.ยกร่าง นัดประชุม 3-4 พ.ย.พิจารณาข้อบังคับการประชุม ผุดข้อบังคับ 8 หมวด 143 ข้อ วางกรอบการทำงาน ตั้ง กมธ. 17 คณะ ศึกษาวิเคราะห์ปฏิรูป

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในฐานะโฆษกวิป สปช.ชั่วคราว กล่าวว่า หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธาน สปช.แล้ว ต่อจากนี้แผนงานของ สปช. จะต้องรีบร่างข้อบังคับการประชุมให้เสร็จ ซึ่งวันที่ 3 พ.ย.นี้ จะนำเข้าที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณา ต่อมา จะทำการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 17 คณะให้เรียบร้อยน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเป็นการเริ่มนับ 1 ในการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง และเป็นทางการ แต่เรื่องใดที่แต่ละด้านสามารถที่จะทำได้ก่อน ก็ต้องทำเลยไม่ต้องรอกระบวนการข้างต้น

“เชื่อว่าไม่เกิน 2 เดือนหลังจากที่ตั้ง กมธ.แล้วจะเห็นรูปร่างในการปฏิรูปประเทศย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่เห็นผลงาน ทำไม่สำเร็จ ถือว่าเสียของเป็นอย่างมาก”

นายวันชัย กล่าวว่า การเลือกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของ สปช. 20 คน จากที่มีการพูดคุยกันในวิป สปช. เห็นว่า ครบถ้วนในทุกด้าน มีการครอบคลุมในทุกมิติ ได้คนที่มีความรู้ ความสามารถในด้านต่างๆ รวมทั้งการเลือกของสมาชิกเกิดขึ้นอย่างมีอิสระ ทุกคนเลือกกันเอง ภาพรวมทั้งหมดวิป สปช.มีความพอใจ การทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ น่าจะมีประสิทธิภาพครบถ้วนในทุกๆ ด้าน ต่อจากนี้ทาง สปช.เองก็จะตั้งกรรมาธิการเพื่อเสนอแนะต่อ กมธ. ยกร่างฯ รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อส่งข้อมูลให้ กมธ.ยกร่างฯ นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกหนังสือนัดประชุม สปช. ครั้งที่ 5 วันที่ 3-4 พ.ย. เวลา 09.30 น. โดยมีวาระการประชุมรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และวาระพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้วคือ ร่างข้อบังคับการประชุม สปช.

ทั้งนี้ ร่างข้อบังคับดังกล่าว กมธ.ที่มี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช. เป็นประธาน กำหนดให้มีทั้งหมด 143 ข้อ 8 หมวด ได้แก่ หมวด 1.การเลือกประธานสภาและรองประธานสภา หมวด 2.อำนาจและหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภาและเลขาธิการ หมวด 3.การประชุม แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 วิธีการประชุม ส่วนที่ 2 การเสนอญัตติ ส่วนที่ 2 การอภิปราย ส่วนที่ 4 การลงมติ หมวด 4.กรรมาธิการ หมวด 5.การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ หมวด 6.การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เเบ่งเป็นส่วนที่ 1 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 2 การพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หมวด 7.การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย หมวด 8.บทสุดท้าย และหมวดเฉพาะกาล

สำหรับความสำคัญ เช่น หมวด 4 กรรมาธิการ (กมธ.) บัญญัติให้ตั้ง กมธ.วิสามัญประจำสภาขึ้น 17 คณะ เช่น กมธ.ปฏิรูปการเมือง กมธ.ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน กมธ.ปฏิรูปด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กมธ.ปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น กมธ.ปฏิรูปด้านพลังงาน กมธ.วิสามัญปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งแต่คณะมีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์จัดทำแนวทางข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปแต่ละด้านให้สัมฤทธิผล

นอกจากนี้ ข้อบังคับข้อที่ 44 กำหนดให้มี กมธ.วิสามัญ 5 คณะ ดังนี้ 1.กมธ.ติดตามและให้ข้อเสนอแนะการกยกร่างรัฐธรรมนูญ 2.กมธ.จัดทำวิสัยทัศน์และรูปแบบอนาคตประเทศไทย 3.กมธ.รับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้พิจารณาจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนประจำภาค หรือจังหวัดตามเหมาะสม 4.กมธ.ประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป และ5.กมธ.จัดทำหมายเหตุและเจตนารมณ์ในการปฏิรูปของสภา

หมวด 5.การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ หมวด 6 หารจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เเบ่งเป็นส่วนที่ 1.คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 2.การพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

ซึ่งข้อ 118 หมวดดังกล่าว กำหนดให้เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว รายงานต่อประธานฯ และให้ประธานบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วนเพื่อให้เสนอแนะ หรือให้ความเห็นให้แล้วเสร็จภายในสิบวันนับแต่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ข้อ 119 บัญญัติให้ กมธ.ยกร่างฯ เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาพิจารณาภายในหกสิบวัน ข้อ 120 วรรคสามบัญญัติให้การออกคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ ให้ใใชิธีเรียกชื่อลงคะแนนเปิดเผย และต้องมีคะแนนเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก



กำลังโหลดความคิดเห็น