เลขาฯ วิป สปช.เผยประชุมวันนี้เร่งถกข้อบังคับประชุมก่อนนำเข้าที่ประชุมใหญ่สัปดาห์หน้า แนะเสนอพิจารณา 3 วาระรวด รอตั้ง กมธ.สามัญฯ ก่อนถึงคุยสัมมนาสมาชิก สปช. ให้สังคมตอบเอง 20 ตัวแทน สปช.นั่ง กมธ.ยกร่างฯ รับพอใจ หลากหลาย ไร้ล็อกสเปก ขออย่ามโนร่างรัฐธรรมนูญรออยู่แล้ว ชี้ “บวรศักดิ์” เหมาะนั่ง ปธ.ร่างรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (30 ต.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และเลขานุการคณะกรรมาธิการประสานงานกิจการ สปช. (วิป สปช.ชั่วคราว) กล่าวถึงการประชุมวิป สปช.ชั่วคราวในวันนี้ (30 ต.ค.) ว่า การประชุมจะหารือถึงเรื่องข้อบังคับการประชุม สปช. เพื่อขอความเห็นชอบในที่ประชุม ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่สปช.ในสัปดาห์หน้า เนื่องจากร่างข้อบังคับการประชุมกำหนดให้ต้องตั้งกรรมาธิการสามัญให้ครอบคลุมทุกด้าน จึงต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพราะทุกอย่างต้องรีบทำให้เสร็จตามกรอบเวลาภายใน 60 วัน ส่วนตัวจะเสนอให้มีการพิจารณาข้อบังคับการประชุม 3 วาระรวดในที่ประชุมใหญ่ สปช. นอกจากนี้ ในที่ประชุมวิป สปช.ชั่วคราวยังไม่มีการหยิบยกเรื่องการสัมมนาของสมาชิก สปช.มาพิจารณา โดยจะรอให้การแต่งตั้งกรรมาธิการสามัญประจำ สปช.เสร็จสิ้นก่อน หลังจากนั้นจึงจะนำมาพิจารณา เพราะการสัมมนาถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะสมาชิกแต่ละคนจะได้เสนอแนะข้อมูลในเรื่องต่างๆ
เมื่อถามว่ามองว่าภาพลักษณ์ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สปช. 20 คนเมื่อวานนี้ (29 ต.ค.) มีความเหมาะสมหรือไม่ นายอลงกรณ์กล่าวว่า สังคมจะเป็นผู้ตอบเอง แต่ส่วนตัวมองว่ากรรมาธิการยกร่างในสัดส่วน สปช.20 คนเป็นที่น่าพอใจ มีความหลากหลายครอบคลุมในด้านสาขาครบทั้ง 11 ด้าน และระดับภาคครบทั้ง 4 ภาค อีกทั้งยังมีผู้หญิงเข้ามากว่า 20 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ต่างจากเมื่อก่อนที่มักจะมีเฉพาะนักกฎหมายและข้าราชการระดับสูง ทั้งนี้ยืนยันว่าการคัดเลือกกรรมาธิการยกร่าง สปช.20 คนไม่มีการล็อกสเปก และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในก้าวแรก ส่วนที่มองว่ามีการร่างรัฐธรรมนูญไว้อยู่ก่อนแล้วนั้น ตนขออย่ามโนหรืออย่าคิดไปเอง เพราะเรื่องยังไม่เกิดขึ้น ให้ยึดว่านี่คือการทำรัฐธรรมนูญของคนไทย ไม่ใช่เพื่อใคร พิมพ์เขียวเป็นของประเทศไม่ใช่ของ คสช.
เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเสนอชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช.คนที่ 1 จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายอลงกรณ์กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ามีความเหมาะสม เพราะนายบวรศักดิ์มีความรู้ความสามารถ ได้รับการยอมรับจากสังคม และเป็นนักวิชาการที่ดีด้วย