xs
xsm
sm
md
lg

สปช.โยนวิปไปหาทางคัดเลือก กมธ.ยกร่างฯ ใหม่ - “อลงกรณ์” ไม่เข็ดขอเปิดพื้นที่การเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุม สปช. โยนวิปวางแนวสรรหา กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนเสนอกลับที่ประชุมพรุ่งนี้ หลังคว่ำมติสูตร 15-5 ดึงคนนอกร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ด้าน “อลงกรณ์” ไม่เข็ด อยากเปิดพื้นที่พรรคการเมืองและกลุ่มม็อบเข้ามาปฏิรูปประเทศ อาสาประสาน ปชป. และพรรคอื่นแบบไม่เป็นทางการ

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่รัฐสภา หลังจากที่ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติให้กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญมาจาก สปช. ทั้ง 20 คนแล้ว นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานเฉพาะคราว ได้หารือถึงหลักเกณฑ์ของ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามสัดส่วนที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้ สปช. คัดเลือกคนเข้าไปทำหน้าที่จำนวน 20 คน โดยสมาชิกได้อภิปรายเสนอความเห็นเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือ ให้ สปช. ทั้ง 11 ด้าน และ สปช. จากจังหวัดที่แบ่งเป็น 4 ภาค คัดเลือกตัวแทนมาจากด้านละ 1 คน และภาคละ 1 คน รวมเป็น 15 คน และเหลืออีก 5 คน ให้รับสมัครจากสมาชิก สปช. ที่สมัครใจแต่ไม่ผ่านการคัดเลือกจากกลุ่มปฏิรูป 11 ด้าน และรายภาคโดยไม่จำกัดจำนวน และให้นำรายชื่อที่สมัครนั้นมาให้ที่ประชุม สปช. ลงมติเลือก โดยใช้หลักเกณฑ์ผู้ที่ได้คะแนนเสียงสนับสนุนสูงสุด 5 อันดับ โดยมีสมาชิก สปช. เสนอญัตติยืนยันการจัดสรรโควต้าดังกล่าว

ทั้งนี้ นายเทียนฉาย ได้เสนอต่อที่ประชุม ว่า ขอให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ วิป สปช. ชั่วคราว นำเรื่องหลักเกณฑ์คัดเลือกตัวแทน สปช. เข้าไปเป็น กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญไปหารือ เพื่อให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนจะนำเสนอให้ที่ประชุมสภา สปช. ลงมติตัดสินใจอีกครั้ง แต่ได้รับการทักท้วงจากที่ประชุมว่าควรให้ยุติเรื่องในการพิจารณาของที่ประชุม สปช. และควรลงคะแนนยืนยันญัตติที่มีผู้เสนอ ทำให้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานวิป สปช. ชั่วคราว คนที่ 1 อภิปรายชี้แจงว่า เมื่อที่ประชุมเห็นว่า สปช. จำนวน 20 คนต้องเข้าไปเป็น กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่สามารถพิจารณาเรื่องจัดโควต้าได้ ดังนั้นควรมีการพิจารณาคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อไป ทำให้สมาชิก สปช. ได้ยกเลิกการเสนอญัตติดังกล่าว และขอให้วิปนำเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ตัวแทน สปช. ที่เข้าไปทำหน้าที่ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปหารือแนวทาง ก่อนนำเสนอผลการพิจารณาต่อที่ประชุม สปช. ในวันที่ 28 ต.ค. เวลา 13.00 น. จากนั้นประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 16.15 น.

นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิป สปช. ชั่วคราว กล่าวภายหลังที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบสัดส่วน 15 ต่อ 5 ให้บุคคลภายนอกมานั่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ต้องยอมรับตามมติที่ประชุม แต่ยังคิดว่าต้องพยายามเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง เข้ามามีบทบาทในการปฏิรูป หรือทำพิมพ์เขียวประเทศ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม โดยหลังจากนี้จะมีเวลา 60 วัน ที่ สปช. นับแต่มีการประชุมครั้งแรก ต้องทำข้อเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เปิดเวทีเชิญทุกภาคส่วนมาร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณา ก่อนส่งให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา

ส่วนจะได้รับความร่วมมือหรือไม่ ส่วนตัวไม่สามารถบังคับใครได้ แต่ยังยืนยันว่าจะนำพรรคการเมืองที่มีความขัดแย้ง และกลุ่มขัดแย้งทางการเมือง เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ โดยเชื่อว่าเวทีนี้จะเป็นของทุกคนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นของคนไทย เนื่องจากอยากเห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน และจะสามารถยุติปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดย สปช. จะประสานไปอย่างเป็นทางการ ส่วนตัวจะประสานพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างไม่เป็นทางการ


กำลังโหลดความคิดเห็น