“คำนูณ” เผยตั้งที่ปรึกษา - ผู้ช่วย สปช. ให้สิทธิเดียวกับ ส.ส. - ส.ว. ยอมรับเป็นช่องทางเปิดทางให้ สปช. ที่ไม่ได้รับคัดเลือกมาช่วยปฏิรูป วอนสังคมมองที่ผลงานเป็นหลัก ด้าน “รสนา” หนุน กมธ. ยกร่างฯ มาจากใน สปช. เอง พร้อมแนะเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงเพื่อความสมดุลในการออกกติกา "สิงห์ชัย" แย้งต้องให้โควต้าคนนอกด้วย
วันนี้ (26 ต.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคล จำนวน 5 ตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภาปฏิรูปแต่ละคน ว่า ทางรัฐสภายังไม่ได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้ คาดว่า ในวันที่ 27 ต.ค. จะมีการชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวในที่ประชุม ซึ่งการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจําตัวสมาชิก สปช. จํานวน 1 อัตรา ผู้ชํานาญการประจําตัวสมาชิก สปช. จํานวน 1 อัตรา และผู้ช่วยดําเนินงานของสมาชิก สปช. จํานวน 3 อัตรานั้น เป็นวิธีการที่คล้ายกับระบบฐานเดิมในการให้สิทธิอำนวยความสะดวกแบบเดียวกับ ส.ส., ส.ว. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
เมื่อถามว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้ก๊วน สปช. ที่อกหัก นายคำนูณ กล่าวว่า คงเป็นความพยายามช่องทางหนึ่งตามแนวทางของรัฐบาล และ สนช. ที่ต้องการให้คนที่ต้องการเข้าร่วมการปฏิรูปเข้ามามีบทบาทหน้าที่ร่วมกัน ส่วนจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณหรือไม่เพราะมีการแต่งตั้งถึง 5 ตำแหน่งนั้น ส่วนตัวเห็นว่าอยู่ที่การทำงานของสมาชิก สปช. แต่ละคน อีกด้านหนึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะช่วยให้การทำงานของ สปช. มีความสะดวกมากขึ้น เพราะการทำงานของ สปช. ต้องลงพื้นที่พบปะประชาชนบ้าง ร่วมถึงต้องหาข้อมูลในด้านวิชาการและข้อกฎหมายในบางครั้ง
“สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาใหม่แต่เป็นสิ่งที่เคยมีอยู่แล้ว ครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่ในจำนวน 1 ตำแหน่งให้มีการแต่งตั้งจากบุคคลที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. ขอให้สังคมมองที่ผลงานการทำงานมากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด” นายคำนูณ กล่าว
ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช. ด้านพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่มี สปช. คัดค้านโควตาคนนอก 5 คนในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสัดส่วนของ สปช. ว่า ส่วนตัวต้องการโควตาเป็นคนภายใน สปช. อย่างเดียว เพราะหากให้สัดส่วนคนนอก สปช. เข้ามา ไม่รู้ว่าจะมีวิธีการคัดเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับการทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ก็อยู่กับที่ประชุม สปช. ว่าจะให้มีสัดส่วนอย่างไร การประชุมวันที่ 27 ต.ค. ก็จะได้แนวทางที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังคิดว่า น่าจะมีสัดส่วนของผู้หญิงในการไปนั่งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อความสมดุลในการออกกติกาให้มีความครอบคลุม แต่ก็ต้องดูแนวทางของที่ประชุม เพราะแต่ละสายก็มีคนสนใจเข้าเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมากอยู่แล้ว
นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี กล่าวถึงสัดส่วนของ สปช. ที่จะไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ส่วนตัวคิดว่าถ้าหากว่ามีคนนอกไปนั่งด้วยก็ดี จะได้เห็นความหลายหลายทางความคิดมากขึ้น เพราะ สปช. 250 คนที่มีอยู่ส่วนใหญ่จะอยู่ฝ่ายเดียวกันไม่มีกลุ่มตรงข้ามเลย การที่เอาฝ่ายตรงข้ามมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วยจะทำให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองต่างๆ นักวิชาการหรือกลุ่มแนวร่วมต่างๆ ไม่ใช่เอาแต่พวกเดียวกันมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่จะมีการเอาคนที่สมัคร สปช. กว่า 7,000 คนไปทำงานกับ สปช. คิดว่าคงไม่จำเป็น น่าจะให้พวกเขาเหล่านี้ไปร่วมงานในกรรมาธิการจะดีกว่า